“โอเนกาทีฟ” เลือดลบ หัวใจไม่ติดลบ

เรื่องราวน่าประทับใจจากผู้หญิงหมู่เลือด O-Negative

คุณโบ – เบญญาภา ตันติวงษ์วัย 35 ปี เล่าถึงเหตุผล เมื่อฉันถามถึงเหตุผลที่คนยุคใหม่อย่างเธอไม่เคยรู้กรุ๊ปเลือดของตัวเองว่าเธอมีหมู่เลือดอาร์เอชลบ (O-Negative) จนวันหนึ่งหตุการณ์ร้ายในชีวิตก็ได้เปลี่ยนมุมมองชีวิตของเธอตลอดไป

ตอนที่ 1 ความจริงที่ไม่เคยอยากรู้     

          “เมื่อก่อนโบกลัวเข็มฉีดยามากจนฝังใจ เลยไม่ยอมเจาะเลือด และไม่เคยรู้กรุ๊ปเลือดของตัวเอง แต่ตอนนั้นคิดว่าไม่จำเป็น ไม่รู้สักเรื่องก็คงไม่เป็นไร”

เรื่องร้ายที่ไม่คาดคิด  

คุณโบเล่าเหตุการณ์วันที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในชีวิต เมื่อ 5 ปีก่อนให้เราฟังว่า

“ตอนนั้นอายุ 29 ปีค่ะ จำได้ดีว่าเป็น วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554 โบกำลังเดินทางจากที่ทำงานที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กลับบ้านที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดเดียวกัน โดยมีพี่นะ – ปภังกร อนุสิทธิ์ แฟนของโบเป็นคนขับรถ ตอนนั้นเกือบหนึ่งทุ่มเห็นจะได้ ถนนค่อนข้างมืด แต่เพราะเป็นเส้นทางที่เราคุ้นเคยเลยไม่กังวลอะไรนัก ก็รักษาความเร็วระดับกลางมาเรื่อยๆ

“แต่เมื่อวิ่งมาถึงสุดทางโค้งไม่ไกลจากปากทางเข้าบ้าน เราเพิ่งเห็นว่ามีรถบรรทุกที่กำลังเลี้ยวเข้าบริษัทข้างทางขวางถนนอยู่ พี่นะเบรคไม่ทันจึงพยายามหักพวงมาลัยหนีขึ้นเกาะกลางแต่ไม่สำเร็จ รถฝั่งที่โบนั่งชนเข้าเต็มแรง โบสลบทันที มารู้สึกตัวอีกทีตอนพี่นะและพลเมืองดีพยายามช่วยออกจากรถที่ไฟไหม้

“ตอนนั้นชาไปทั้งตัว ขยับไม่ได้เลยแต่ยังคิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไรมากจนโรงพยาบาลอำเภอส่งมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ จึงเพิ่งทราบว่า เอ็นแขนซ้ายขาดและขาขวาหักหนึ่งจุด อีกจุดร้าวมาก อาการค่อนข้างวิกฤต ต้องเข้าผ่าตัดด่วนค่ะ”

แต่รอแล้วรอเล่า ก็ยังไม่มีใครมาพาเธอไปผ่าตัด แผลที่เริ่มระบมทำให้เธอปวดมากและเริ่มกังวล

“แทนที่จะพาเข้าห้องผ่าตัด คุณหมอกลับบอกว่า ผ่าตัดไม่ได้ เพราะเพิ่งตรวจพบว่าเลือดของโบเป็นกรุ๊ปโอลบเป็นกรุ๊ปหายากและไม่มีสำรองในคลังเลือดของโรงพยาบาล ต้องทำเรื่องขอไปทางสภากาชาดไทย ถ้าไม่มีก็ต้องรอจนหาได้ครบ 3 ถุง และต้องขอความร่วมมือทางญาติช่วยหาด้วย

“ตอนนั้นโบไม่รู้มาก่อนว่า เลือดกรุ๊ปโอลบ เป็นอย่างไร แต่พยาบาลบอกว่าหายากมาก ใน 1,000 คนจะมีแค่ไม่กี่คน ตอนนี้แผลที่ชาก็เริ่มปวดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่โบไม่มีทางเลือกอื่น ทำได้แค่รอค่ะ

O-Negative

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

การรอคอยที่แสนทรมาน

ระหว่างที่ต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดทางกาย เธอก็ได้ทำความรู้จักกับกรุ๊ปเลือดตัวเองว่า เป็นหมู่อาร์เอชลบหรืออาร์เอชเนกาทีฟ (Rh-negative) พบมากในคนตะวันตกและคนเอเชียแถบหนาว แต่หายากในเขตร้อนบ้านเรา และเพราะมีแอนติเจนที่แตกต่างกัน จึงต้องรับการบริจาคเลือดจากหมู่เลือดเดียวกันเท่านั้น เพื่อป้องกันร่างกายสร้างสารต่อต้านที่อาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้

“วันแรกก็รอยังอย่างมีความหวังนะคะ จนเมื่อเข้าวันที่สามในสมองโบเหลือแต่ความกลัวเท่านั้น”

          ฉันลองนึกภาพแล้วสงสารจับใจผู้หญิงคนหนึ่งที่แขนข้างหนึ่งเอ็นขาด ขาอีกข้างก็หัก แต่มีเพียงผ้าก๊อตพันแผลที่บวมด้วยเลือดคั่ง ขยับตัวแต่ละครั้งก็ปวดจนน้ำตาไหล ได้แต่นอนรอความหวังอยู่ในห้องไอซียูแม้คนที่เธอรักทุกคนจะพยายามหาเลือดมาให้ด้วยทุกวิธีที่คิดได้แต่ทุกนาทีที่ผ่านไป เธอต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดที่ไม่มีใครช่วยบรรเทาให้ได้

“ตอนนั้นโบกลัวมากกว่า ถ้าปล่อยไว้นานไปหมออาจต้องตัดขาทิ้งพอคุณหมอถามโบว่า สมัครใจจะผ่าตัดโดยยอมรับความเสี่ยงไหมตอนนั้นบอกตรงๆ อยากลองเสี่ยงค่ะไม่อยากรอต่อไปแล้ว

“แต่พี่สาวโบไม่ยอมให้เสี่ยง เขาขอว่าให้รออีกหน่อยเขาจะพยายามให้ถึงที่สุด”

O-Negative

คนแปลกหน้าที่มาเพื่อ “ให้”

เมื่อรับปากพี่สาว คุณแอ๊ด – ปาลิดา ตันติวงษ์เอาไว้ คุณโบจึงได้แต่อดทนรอ พยายามให้กำลังใจตัวเองอย่างยากเย็น แต่ปาฏิหาริย์ก็มีจริง เมื่อวันรุ่งขึ้นพี่สาวของเธอก็ทำได้ตามสัญญา หาเลือดมาได้ครบตามจำนวน ทำให้การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี

“ตอนนั้นโบแค่ดีใจที่ไม่ต้องตัดขา เพราะใจเรากลัวจึงจินตนาการแต่เรื่องร้ายๆ แต่ไม่รู้เลยว่ากว่าจะได้เลือด 3 ถุงนี้มา พี่แอ๊ดกับพี่นะตระเวนขับรถไปตามโรงงานต่างๆ เพื่อขอบริจาคเลือดเพื่อนๆ เองก็ช่วยประกาศผ่านทางอินเตอร์เน็ต จนตอนนี้ชื่อ ‘เบญญาภา ตันติวงษ์’ เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์จากนั้นก็มีคนเป็นร้อยๆ เดินทางมาที่โรงพยาบาลเพื่อบริจาคเลือดให้เรา ไม่ว่าบริจาคแล้วใช้ได้หรือไม่ พวกเขาก็มา

“ครั้งแรกที่ได้ยินโบรู้สึกขอบคุณคนใกล้ตัวที่ทำเพื่อเราขนาดนี้ แต่เราไม่คิดเลยว่ามีคนมากมายที่ยอมทำเพื่อคนที่ไม่รู้จักขนาดนี้ โบรู้สึกเป็นคนโชคดีที่ไม่เคยรู้ตัวเข้าใจแล้วว่า “การให้” มีพลังมากจริงๆ ”

วันนี้เธอจึงตั้งปณิธาน ต้องบริจาคเลือดให้ผู้อื่นบ้าง เพื่อตอบแทนโอกาสดีๆ ที่ได้มา

“เมื่อก่อนี้โบเคยเป็นลมตอนไปเป็นเพื่อนพี่แอ๊ดบริจาคเลือดและไม่เข้าใจเหตุผลของคนบริจาคที่เลือดแต่เมื่อต้องเป็นคนรอ ก็เพิ่งเข้าใจว่าเลือดแต่ละถุงสำคัญเท่าหนึ่งชีวิตและการทำสิ่งนี้มีค่ามากๆ

“จากวันนั้นเลยตั้งใจเพิ่มน้ำหนัก ออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีพอจะบริจาคเลือดได้ส่วนความกลัวเข็มก็ไม่ได้หายไปไหน แต่เพราะรู้ว่าเลือดของเราหายาก ไม่อยากให้ใครต้องมารอคอยอย่างทรมานแบบเราอีก ความตั้งใจจึงมีมากกว่า ในที่สุดเราก็ทำสำเร็จ”

คุณโบยิ้มอย่างภูมิใจกับความทรงจำของการเป็น “ผู้ให้” และมุ่งมั่นจะทำบทบาทนี้ไปเรื่อยๆ

…โดยไม่คาดคิดว่า ในวันหนึ่งเมื่อเธอทราบว่าตั้งครรภ์ ข่าวดีๆ นี้กลับนำความทรงจำแสนทรมานของการรอคอยกลับมาอีกครั้ง

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ตอนที่ 2 ของขวัญที่ยอมแลกด้วยทุกอย่าง

          ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนขาหักและเอ็นแขนขาด ว่าหนักแล้ว

ขาหักและเอ็นแขนขาดแต่ไม่สามารถเข้าผ่าตัดได้เพราะไม่มีเลือดที่เข้ากับกรุ๊ปเลือดของเธอ ต้องนอนรอในห้องไอซียูถึง 4 วันจนแผลบวมเป่ง กว่าจะได้รับการผ่าตัดยิ่งหนักกว่า

แต่คุณโบเบญญาภา ตันติวงษ์กลับบอกว่า นั่นยังไม่ใช่เรื่องที่หนักสุดในชีวิต

ชีวิต –ความหวัง – ความทรมาน

“หลังผ่าตัด โบต้องกายภาพต่ออีก3 เดือนกว่าจะกลับมาเดินได้เป็นปกติ แต่ไม่สามารถกระโดด หรือวิ่งเร็วๆ ได้ตลอดชีวิต ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความสุขได้นะคะ และไม่ลืมทำตามคำสัญญากับตัวเอง คือรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อบริจาคเลือดให้ผู้อื่นบ้าง เพราะอย่างที่ทราบกันดี เลือดกรุ๊ปโออาร์เอชลบ (O Rh-)อย่างเลือดของเรา ใน 1,000 คน พบแค่ไม่กี่คนเท่านั้น

“ตอนนั้นโบคิดเอาเองว่า คนเราคงเจอเรื่องร้ายๆ ไม่บ่อยนัก และอุบัติเหตุครั้งนั้นน่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดในชีวิตแล้ว จากนี้เราคงมีแต่ความสุข แต่งงานมีครอบครัวและมีลูกอย่างที่เราหวังค่ะ”

เพราะความตั้งใจอยากมีลูก เธอจึงหาความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบ ทราบว่าลูกคนแรกสามารถตั้งครรภ์ได้ปกติแม้ลูกในท้องจะมีหมู่เลือดอาร์เอชบวกเหมือนพ่อ แต่เมื่อคลอดแล้ว แม่ต้องฉีดสารอิมมูโนโกลบูลิน (Rh immune globulin) เพื่อป้องกันร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี้ (anti-body) ต่อต้านเซลล์เม็ดเลือดแดงอาร์เอชบวกของลูกที่หลุดเข้าสู่ร่างกายแม่ระหว่างรกหลุดลอกตอนคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกที่มีอาร์เอชบวกคนถัดมามีอาการตัวเหลือง – ตาเหลืองรุนแรงจนสมองผิดปกติ หรืออาจเสียชีวิตได้ อีกทั้ง หากการคลอดผิดปกติ ควรมีเลือดอาร์เอชลบสำรองไว้เผื่อให้เลือดระหว่างการผ่าตัดด้วย แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คุณโบกังวล

“เรื่องสารที่จะฉีดร่างกายเราพึ่งพาโรงพยาบาลที่เราทำคลอดได้ ส่วนเรื่องเลือดสำรอง ก่อนคลอดโบก็สามารถบริจาคเลือดไว้ให้ตัวเองได้ ช่วงที่ทราบว่าตั้งครรภ์เลยมีแต่ความดีใจ ไม่กังวลค่ะ

O-Negative

“แต่ท้องได้ 2 เดือน โบเริ่มมีอาการเลือดไหล คุณหมอที่ฝากครรภ์ฉีดยาประคับประคองให้ครรภ์แข็งแรง เลือดหยุดไหล แต่พอเดือนที่ 4–5 ก็ไหลอีก คราวนี้คุณหมอแจ้งว่า รกของเราเกาะต่ำมาก อยู่เหนือปากมดลูกแค่ไม่กี่เซนติเมตร เสี่ยงต่อการแท้งได้ทุกเมื่อ ฟังแล้วเครียดจนแทบล้มทั้งยืนเลยค่ะ

“ตอนนั้นโบเห็นคุณหมอท่านใจเย็น รักษาตามอาการ แต่เราห่วงลูกจนใจเย็นไม่ไหวจึงชวนสามีแอบไปฝากครรภ์ที่อื่น เรียกว่าหมอคนไหนดัง คนไหนเก่ง เราสองคนก็ไปหามาหมด ซึ่งได้รับเพียงคำปฏิเสธ เพราะภาวะที่เป็นนั้นเสี่ยงจริงๆ ท้ายที่สุดจึงต้องกลับมาหาคุณหมอท่านเดิม ซึ่งท่านกรุณากับเรามาก”

หลังจากนั้นคุณโบก็ต้องใช้ความอดทนอย่างหนักเพื่อประคองลูกน้อยให้อยู่ในครรภ์ของเธอต่อไป ทั้งการกินยาบำรุงมื้อละ 6-7 เม็ดฉีดยาเป็นประจำจนอาการกลัวเข็มอย่างหนักแทบจะหายไปสิ้น ยิ่งเมื่อเข้าเดือนที่ 7 – 8 ต้องเพิ่มยาฉีดบำรุงปอดเพื่อเตรียมลูกน้อยให้สามารถหายใจเองได้ หากเธอเกิดตกเลือดและต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด ไม่นับอาการเลือดไหลที่เกิดขึ้นประจำ แม้จะออกเดินไม่ไกลมาก จนในเดือนท้ายๆ ก่อนคลอด เธอต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงตลอดเวลาแม้ในยามกิน เพื่อให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด

“แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ คุณหมอบอกว่าหากเกิดอาการตกเลือด จำเป็นต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตทั้งแม่และลูก ดังนั้นโบจะมีลูกไม่ได้อีก และหากไม่มีเลือดสำรองพอ ชีวิตโบก็อันตรายเหมือนกัน

เลือดหมู่อาร์เอชลบสำรองถึง 6 ถุง …จะหาได้จากไหน

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

เพราะ “การให้” ไม่เคยสิ้นสุด

“ช่องเดือนที่ 8 – 9 ของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่เตรียมเลือดสำรองค่ะ เพราะสุขภาพเราแย่มากจนให้เลือดตัวเองไม่ได้ โชคดีที่หลังทราบว่ามีหมู่เลือดอาร์เอชลบ โบจึงเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สาขาชลบุรี ซึ่งให้ความกรุณาอย่างดีในการตรวจหมู่เลือดเพื่อหาเลือดที่เข้ากันได้กับร่างกายของเรา แต่ พี่นะ (คุณปภังกร อนุสิทธิ์– สามี) กับพี่แอ๊ด(คุณปาลิดา ตันติวงษ์– พี่สาว) ก็ประกาศขอความช่วยเหลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์อีกทางด้วย เลือดจึงค่อยๆ ทยอยเข้ามาสำรองที่คลังเลือดของโรงพยาบาลทีละ 1 – 2 ถุง”

จนใกล้กำหนดคลอด คุณโบได้รับโทรศัพท์สายที่ทำให้เธอต้องเลือกระหว่างชีวิตกับการเป็น“ผู้ให้”

“วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสภากาชาดไทย จังหวัดชลบุรี โทร.มาขอความช่วยเหลือ ขอแบ่งเลือดสำรองที่เรามี ไปให้ผู้ป่วยท่านหนึ่งซึ่งมีหมู่เลือดโออาร์เอชลบเหมือนกัน และจำเป็นต้องเข้าผ่าตัดด่วน เพราะกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

“วินาทีนั้นไม่ลังเลเลยค่ะ ตอบว่าเอาไปได้เลย เพราะนึกถึงเมื่อครั้งที่เราประสบอุบัติเหตุแล้วนอนรอความหวังอย่างทรมาน โบได้รับโอกาสต่อชีวิตจากคนมากมายที่ไม่รู้จัก โบก็จะให้โอกาสนี้กับเขาเช่นกัน และเชื่อว่าตัวเองจะดูแลลูกในท้องอย่างดีเพื่อจะรอเลือดถุงถัดไปได้ เรื่องแค่นี้โบมั่นใจค่ะ”

จากนั้นไม่นาน คุณโบก็ได้เลือดครบตามจำนวน และเข้ารับการผ่าตัดคลอดซึ่งสำเร็จปลอดภัย ไม่มีอาการตกเลือด และไม่ต้องใช้เลือดสำรองที่เตรียมไว้ น้องชิชา – เด็กหญิงพรรณพัชนันท์ อนุสิทธิ์ก็แข็งแรงสมบูรณ์ดี จนตอนนี้มีอายุเกือบ 2 ขวบแล้ว น่ารักและซุกซนตามวัยจนใครอยู่ใกล้ก็อดหลงรักไม่ได้

“โบยังไม่แน่ใจว่าจะมีลูกคนที่  2 ได้รึเปล่า บางทีก็ห่วงลูกสาวเพราะเคยได้ยินมาว่า การเป็นลูกคนเดียวอาจทำให้โตมาเป็นคนเห็นแก่ตัวก็ได้ แต่ก็ไม่กังวลค่ะ โบจะสอนให้น้องชิชาโตมาเป็นคนรู้จักให้

          “…เพราะทราบแล้วว่า “การเป็นผู้ให้” จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุขอย่างแท้จริง”

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.