ผายลม, ตด, กลิ่นตด

“ตด” บอกสุขภาพ

ว่าด้วยเรื่อง การ ผายลม หรือ ตด” บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ

การ ผายลม หรือตดถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์เคยทำสถิติเอาไว้ว่า ในแต่ละวันคนเราอาจผายลมได้บ่อยถึง 10 – 20 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นปริมาณแก๊สที่ปล่อยออกมาได้มากถึง 0.5 – 1 ลิตรต่อวัน หรือเทียบง่ายๆ เท่ากับปริมาณแก๊สที่บรรจุอยู่ในลูกโป่งหนึ่งใบทีเดียว

นอกจากนี้จากการวิจัยของ นายแพทย์ไมเคิล ดี. เลวิทท์ ศาสตราจารย์ทางด้านอายุรกรรมแห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตาเมดิคัลสกูล มินีอาโปลิส สหรัฐอเมริกา พบว่า

ตดเกิดจากการรวมตัวกันของแก๊สหลายชนิด ซึ่งมีส่วนประกอบหลักๆ เป็นแก๊สที่ไม่มีกลิ่นมากถึงร้อยละ 99 ได้แก่ ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ออกซิเจน และมีเทน แต่แก๊สที่มีกลิ่นนั้นมีเพียงร้อยละ 1 ซึ่งเกิดจากการหมักหมมของอาหารในลำไส้ใหญ่ และทำให้เกิดแก๊สจำพวกกำมะถัน เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นเฉพาะตัว

ส่วนที่มาของแก๊สเหล่านี้เกิดจากอะไร เราจะพาไปหาคำตอบค่ะ

นายแพทย์รัฐพลี ภาคอรรถ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงที่มาของแก๊สต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการ ผายลม ไว้ว่า

ปกติคนเราสามารถขับแก๊สส่วนเกินออกจากร่างกายได้ 2 ทาง ได้แก่ การขับออกทางปากที่เรียกว่า “เรอ” และขับทางทวารหนักคือ “การ ผายลม หรือตด” แต่หากแก๊สนั้นไม่ถูกขับออกจากร่างกาย จะทำให้มีการสะสมไว้ในทางเดินอาหาร เราจะรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ปวดมวนในท้อง และเกิดอาการท้องอืดตามมาได้ ดังนั้นการ ผายลม จึงถือเป็นวิธีแก้ปัญหาของระบบร่างกายคนเราอย่างหนึ่ง

แก๊สในร่างกายเกิดขึ้นจาก 2 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

1. แก๊สจากภายนอกร่างกาย มีมากถึงร้อยละ 90 เป็นอากาศที่รับเข้ามาผ่านทางปากและจมูก หรือพูดง่ายๆ คือ การกลืนลมเข้าท้องนั่นเอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราพูดหรือบริโภคอาหาร เราก็มักกลืนอากาศเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การกินอาหารเร็วเกินไป ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกกวาด สูบบุหรี่ การใช้ฟันปลอมที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแก๊ส อาทิ น้ำอัดลม โซดา เป็นต้น

2. แก๊สที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย มีเพียงร้อยละ 10 เป็นแก๊สที่ผลิตขึ้นจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ทำปฏิกิริยาย่อยสลายกากอาหาร ซึ่งแก๊สที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการย่อยนี้ เมื่อรวมตัวกันแล้วก็จะเคลื่อนที่จากลำไส้ใหญ่

แม้ว่าผนังลำไส้จะดูดซึมแก๊สปริมาณมากเหล่านี้ไว้ได้ แต่บางครั้งร่างกายก็ขับแก๊สออกมาทางไส้ตรง เพราะลำไส้ดูดซึมแก๊สได้ไม่ทัน เนื่องจากลำไส้บีบตัวเป็นจังหวะถี่เกินไป หรืออาจเป็นเพราะการกินอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สมาก เช่น ถั่วหรืออาหารประเภทนม จึงเกิดลมในท้องมาก และต้องขับออกมาเป็นตด ผายลม ออกมา

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.