ยาสมุนไพร, วิธีกินสมุนไพร, สมุนไพร, ผลข้างเคียงของยาสมุนไพร, กินยาสมุนไพรให้ถูกวิธี

เช็คก่อนใช้ ‘ยาสมุนไพร’ ก็มีข้อควรระวัง!

ยาสมุนไพร ประโยชน์เยอะ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง

ยาสมุนไพร แม้ว่าจะเป็นยาธรรมชาติที่มีความปลอดภัยสูง แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ใช้ควรมีความรู้ว่า ก็ควรมี สมุนไพรบางชนิดนั้นมีผลข้างเคียงบางประการเช่นกัน …

การแพทย์แผนปัจจุบันนี้ เรามักใช้ยารักษาที่มาจากการใช้สารเคมี และควบคุมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งยาเหล่านี้มักออกฤทธิมีความจำเพาะสูง และผลของฤทธิยาก็มีความเฉพาะที่ และไม่มีการปรับเข้ากับร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยต้องพบผลข้างเคียง แตกต่างกันไปตามร่างกายของแต่ละคน นอกจากนี้ บ่อยครั้งสารเคมีที่เข้าไป มักทำให้ร่างกายเสียสมดุล ยาบางอย่างจะทำให้ร่างกายจะหยุดทำงาน และต้องได้ยาไปเรื่อยๆ ทำให้ยาแผนปัจจุบันหลายชนิด ต้องมีการควบคุมการใช้งานอย่างใกล้ชิด

ฉะนั้นถ้าใช้ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและสมุนไพรร่วมกัน ก็จะช่วยลดผลข้างเคียงของยาจากสารเคมี หรืออาจลดปริมาณยาเหล่านั้นลงได้บ้าง หรือในบางกรณีที่อวัยวะนั้นๆ ยังทำงานได้มากอยู่ สมุนไพรอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหยุดการใช้ยาจากสารเคมีลงได้เลย เรียกว่าเป็นการอุดช่องว่างของการรักษาแบบใดแบบเดียว ผลลัพธ์คือทำให้ร่างกายดีขึ้น

          แต่แม้ว่าสมุนไพรจะเป็นยาธรรมชาติที่มีความปลอดภัยสูง แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ใช้ควรมีความรู้ว่า ก็ควรมี สมุนไพรบางชนิดนั้นมีผลข้างเคียงบางประการเช่นกัน

หนังสือ ยอดยาดีจากครัว บริษัทรีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย)จำกัด แนะนำผลข้างเคียงจากการใช้ยาสมุนไพร 5 ชนิดไว้ดังนี้

  1. คาโมมายด์

การใช้คาโมมายด์มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ผิวหนัง แม้เป็นกรณีที่พบน้อยมาก ดังนั้นผู้เป็นโรคหืด ควรงดใช้สมุนไพรชนิดนี้ นอกจากนี้ คาโมมายด์อาจไปเสริมฤทธิ์ยาระงับประสาทและยาละลายลิ่มเลือดได้ ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มดังกล่าวจึงไม่ควรดื่มยาคาโมมายด์

วิธีกินขมิ้นชัน, ขมิ้นชัน, ยาสมุนไพร, วิธีใช้ยาสมุนไพร, สมุนไพร
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง กินขมินชันในปริมาณมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์

2. ขมิ้นชัน

ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรกินขมิ้นชันในปริมาณมากๆ เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้ผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ไม่ควรกินเพราะมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา

3. ว่านหางจระเข้

ในผิวของใบว่านหางจระเข้ มีน้ำยางสีเหลือง รสขม ซึ่งเรียกว่า อโลลาเท็กซ์ (Aloe Latex) มีฤทธิ์เป็นยาระบายอย่างแรง กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งในท้องและท้องเสีย และอาจส่งผลให้ร่างกายสูญเสียอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ที่เป็นแร่ธาตุจำเป็น ผู้ที่มีอาการท้องเสียและถ่ายไม่เป็นเวลาจึงไม่ควรได้รับยางของว่านหางจระเข้

4. อบเชย

อบเชย เป็นทั้งเครื่องเทศในอาหาร ขนม และยาสมุนไพรที่ใช้กันมานานแล้ว แต่หากใช้อบเชยในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดลมแน่นท้องและเป็นผลเสียต่อไตได้ นอกจากนี้ ไม่ควรกินน้ำมันหอมระเหยอบเชย เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรใช้อบใช้ในทางยา

5. เถาวัลย์เปรียง

ในเถาวัลย์เปรียง มีสารที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงผสมอยู่จึงไม่ควรกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน อีกทั้งคนที่เป็นโรคหัวใจ หรือสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรกินยาสมุนไพรที่ผสมเถาวัลย์เปรียง เช่นกัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นยาหรือสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ ให้แน่ใจก่อน จะดีที่สุดค่ะ

เรื่องโดย ชมนาด นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 435

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.