ภูทับเบิก

“ภูทับเบิกโมเดล” เปลี่ยนเคมีเป็นอินทรีย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนกินผัก

ภูทับเบิก โมเดล

ภูทับเบิก เปลี่ยนไป ….   จากพืชเคมีสู่เกษตรอินทรีย์

กะหล่ำปลีจัดว่าเป็นผักคู่ควรคนไทย เนื่องจากราคาไม่แพง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยประโยชน์ และสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ถือได้ว่าเป็นผักที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

จากที่กล่าวไปในข้างต้น ทำให้มีการปลูกกะหล่ำปลีกันอย่างแพร่หลาย แต่ใครจะรู้ว่า การปลูกผักดังกล่าวจะส่งผลร้ายแรงให้แก่ชุมชนภูทับเบิกมากขนาดไหน

ภูทับเบิก
กะหล่ำปลีปลอดสารพิษ

สมัยก่อนชาวบ้านที่ภูทับเบิกเคยยังชีพด้วยการปลูกฝิ่น แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาปลูกกะหล่ำปลีแทน แม้การปลูกกะหล่ำปลีจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหาเรื่องการทำลายผืนป่า และการสูญเสียหน้าดิน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ปลูก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือยาปราบศัตรูพืช ส่งผลให้ชาวบ้านเหล่านี้ ได้รับสารเคมีที่อันตราย

สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเพชรบูรณ์ มีรายงานว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2556 – 2558 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2557 และ พ.ศ.2558 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ สาเหตุของมะเร็งตับส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการ ได้รับสารเคมีหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ส่วนสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่มากจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมี หรือได้รับสารกระตุ้น ในระบบทางเดินอาหารมากเกินกำหนด

จากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น นายไกสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงมีนโยบายพัฒนาเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริม การเพาะปลูกพืชผักให้มีคุณภาพปลอดภัย โดยใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ และปรับทัศนคติเกษตรกร ให้ยึดความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งทางจังหวัดคอยให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนทางด้านการตลาด ปัจจุบันมีเกษตรกรรายหลายที่ผ่านการตรวจสอบจนได้รับรอง มาตรฐาน GAP และ Organic จากหน่วยงานภาครัฐ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 37 ราย

นายสุทธิศักดิ์ คำมีผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับเบิก กล่าวถึงผลการตรวจเลือดของชาวบ้านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า ชาวบ้านมีผลการตรวจเลือดที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนใช้สารเคมี นอกจากนี้ยังบอกถึงผลร้ายของการใช้สารเคมีไว้ ดังนี้

1.ถ้ารับสารเคมีในปริมาณไม่มาก จะมีผลกระทบในเรื่องอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน และผลกระทบเรื่องทางเดินระบบอาหาร ระบบขับถ่าย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบสมอง เช่น ชาปลายมือ ปลายเท้า เดินเซ เดินไม่ตรงทาง

  1. ถ้ารับสารเคมีในปริมาณมาก อาการจะคล้ายคลึงกับข้างต้น แต่ลักษณะอาการจะรุนแรงมากกว่า อาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดโรคมะเร็ง

นายสุทธิศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผู้บริโภคถ้าได้กินผักที่มีสารพิษเข้าไป อาการจะเหมือนเกษตรกรที่ได้รับสารพิษเช่นเดียวกัน หากอยากรู้ว่าตนเอง ได้รับสารพิษหรือไม่ สามารถเจาะเลือด และตรวจเลือดได้โดยใช้ชุดตรวจเฉพาะ                                                                                                                              “หากใครที่เป็นกังวลว่าตน เคยได้รับสารเคมีจากพืชผักเข้าไป ก็ขออย่าได้เป็นกังวล หากเราไม่กินไม่รับสารเคมีเพิ่ม สารพิษที่ตกค้างอยู่ในร่างกายจะค่อยๆขับออกไป ตามธรรมชาติ ส่วนการขับสารพิษในร่างกาย จะขึ้นอยู่ในที่เฉพาะตัวบุคคล บางคนได้รับสารพิษตัวเดียวกัน ในระยะเวลาเท่ากัน แต่ความสามารถในการขับสารพิษไม่เท่ากัน” นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

ภูทับเบิก
กระบวนการคัดแยก และบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยมากขึ้น

ปัจจุบันเกษตรกรบางกลุ่ม เริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการปลูกผัก และเริ่มมองเห็นช่องทางหลีกเลี่ยงสารเคมี มีความต้องการจะหลีกหนีวงจรเกษตรแบบเดิมๆ หันมาหาทางเลือกใหม่ ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ยังได้ก่อตั้งโครงการ “กรีนมาร์เก็ต” ขึ้น ซึ่งทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายในระดับจังหวัด คอยหลอมรวมเครือข่ายชุมชน ที่มีความสนใจอยากประกอบอาชีพเกษตร ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และต่อตัวผู้ปลูกเอง เป็นโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการคอยกำกับ ดูแล อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้แก่สมาชิกในเครือข่าย เพื่อให้ผู้บริโภค และผู้ปลูกเกิดความมั่นใจ ในผลิตภัณฑ์ ภายใต้เครื่องหมายในชื่อว่า “กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์”

นางพัชพิมลญ์ วาชธีระโชค (ปุ๋ย) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกรีนมาร์เก็ต เล่าให้ฟังว่า

“ก่อนจะเข้าโครงการกรีนมาร์เก็ต ดิฉันดูแลไร่มะขามหวานคนเดียวประมาณ 300 ไร่ ส่วนใหญ่จะปล่อยทิ้งร้างไว้ แต่พอทางจังหวัดมาแจ้งให้ทราบว่า มีการรวมกลุ่มโครงการกรีนมาร์เกต ดิฉันจึงสนใจ เพราะอยากทำมากกว่าแค่ปลูกผักปลอดภัย (ปลูกผักโดยใช้สารเคมีในปริมาณน้อย) คืออยากปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ จากนั้นจึงมาขอสมัครที่พาณิชย์จังหวัด ณ ตอนนี้ดิฉันปลูกพืชประมาณ 20 กว่าชนิดสลับกันไปในร่องมะขาม ทั้งฟักทอง ฟักแฟง พืชผักที่เป็นอาหารเพื่อให้คนกินไม่ต้องไม่กินยา กินผักเพื่อรักษาโรคได้ ผักแต่ละตัวก็ให้คุณค่าต่างกันไป”

นอกจากนี้ คุณปุ๋ย ยังเล่าถึงสุขภาพตนเองหลังจากที่เปลี่ยนมาปลูกพืช ระบบเกษตรอินทรีย์อีกว่า

“สุขภาพของดิฉันดีขึ้นกว่าเดิมมาก เมื่อก่อนตอนปลูกมะขาม จะใช้สารเคมีฉีดพ่นหนอน พ่นเชื้อรา แต่พอเราเปลี่ยนมาเป็นระบบอินทรีย์ เราสามารถใช้ยาฆ่าแมลงแบบอินทรีย์ฉีดได้ และที่สำคัญเวลาใช้ เราไม่ต้องปิดปากปิดจมูก ฉีดเสร็จก็สามารถอยู่กับมันได้  สมัยก่อนสุขภาพไม่ดี ร่างกายน็อกง่าย เพลีย ดิฉันเคยขับรถแล้วหลับใน พอไปตรวจ คุณหมอบอกว่า ค่าเคมีสะสมในร่างกายเยอะเกินไป ดิฉันเลยกินรางจืด ประกอบกันกินสมุนไพรที่ตัวเองปลูกเป็นประจำ ตอนนี้สุขภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ”

ภูทับเบิก
มะเขือเทศสดๆ หวาน กรอบ อร่อย

ข้อมูลเรื่อง “ภูทับเบิกโมเดล” เปลี่ยนเคมีเป็นอินทรีย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนกินผัก โดย : ดวงพร เจียรสุธรรมพร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.