อายุยืน, นายพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์, หมอสันต์,

อยู่ร้อยปี ไม่ป่วย ทำได้จริงหรือ?

อายุยืน ร้อยปี ไม่ป่วย ในมุมหมอสันต์

อายุยืน ร้อยปี เป็นเป้าหมายการใช้ชีวิตของใครหลายคน แต่จะทำได้จริงหรือไม่ นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด และคอลัมนิสต์ชื่อดัง มีคำตอบเรื่องนี้ไว้ให้แล้วค่ะ

….

RESEARCH APPROVED

 อยู่ร้อยปี ไม่ป่วยโรคเรื้อรัง

ผู้มาเข้าแค้มป์สุขภาพชอบถามผมว่า ถ้ามีชีวิตอยู่ถึงเก้าสิบปีโดยไม่สะเงาะสะแงะได้ไหม เพราะถ้าอยู่ได้นาน แต่ต้องอยู่อย่างไม่แข็งแรงก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

ผมมีคำตอบแล้ว มาจากผลวิจัยของวิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ตไอน์สไตล์ (Albert Einstein College of Medicine) ที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมราชวิทยาลัยอเมริกันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลคนทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ที่มีอายุเก้าสิบห้าปีและหนึ่งร้อยปีขึ้นไป นำมาเปรียบเทียบกับคนรุ่นเดียวกันที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น โดยคัดแยกคนที่มีพันธุกรรมอายุยืนทั้งครอบครัวออกไป

งานวิจัยนี้เจาะลึกในประเด็นของช่วงอายุที่เริ่มป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคไต โดยพบว่า คนที่อายุเก้าสิบห้าปีและหนึ่งร้อยปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้ช้ากว่าคนที่อายุสั้น พวกเขาจึงมีชีวิตอยู่กับการเจ็บป่วยในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นแม้จะมีอายุมาก แต่ก็อยู่โดยไม่สะเงาะสะแงะ ไม่เหมือนกับคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังตั้งแต่อายุน้อย ที่ยังไม่ทันแก่ก็เริ่มสะเงาะสะแงะแล้ว และจะมีอาการเช่นนี้ไปนานหลายสิบปีในช่วงท้ายของชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น โรคมะเร็ง พบว่าคนที่อายุเกินหนึ่งร้อยปีเริ่มเป็น โรคมะเร็ง ที่อายุเฉลี่ย 97 ปี ในผู้ชาย และ 99 ปี ในผู้หญิง ขณะที่ข้อมูลจากกลุ่มเปรียบเทียบ ระบุว่า พบโรคมะเร็งที่อายุ 67 ปี ในผู้ชายและ 74 ปี ในผู้หญิง

ดังนั้น ท่านผู้อ่านไม่ต้องกังวลว่า หากอยู่ไปได้นานแล้วชีวิตจะแย่ เพราะคนที่ได้มีชีวิตยืนนานนั้น เขามีสุขภาพแข็งแรงกว่าคนที่อายุสั้น

ที่นี้ก็เหลือแต่คำถามที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะมีอายุยืนถึงเก้าสิบห้าปีและร้อยปีขึ้นกับเขาบ้าง และต้องมีชีวิตอยู่โดยไม่สะเงาะสะแงะด้วย

น่าเสียดายที่งานวิจัยไม่อาจตอบคำถามนี้ได้ แป่ววว!

นักวิจัยพยายามจะหาเหตุผลเชื่อมโยงการมีอายุยืนเข้ากับพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น การไม่สูบบุหรี่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะงานวิจัยเรื่องดังกล่าวพบว่า ผู้มีอายุยืนทั้งหลาย มีจำนวนไม่น้อย ( อัตราส่วน 50 ต่อ 50 ) ไม่ได้ทำพฤติกรรมที่ดีๆ เหล่านี้เลย

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพยายามเชื่อมโยงการมีอายุยืนเข้ากับ สิ่งแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ก็ทำไม่สำเร็จอีกเช่นกัน เพราะแต่ละคนนั้น ก็อยู่ก็กินกันไปคนละแบบ บ้างอยู่ชนบท บ้างอยู่ในเมือง บ้างอยู่ในถิ่นคนรวย บ้างอยู่ในสลัม บ้างกินแต่พืชผัก บ้างกินแต่หมู เห็ด เป็ด ไก่ วัว แพะ

งานวิจัยเรื่องนี้จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า อะไรเป็นเหตุให้คนอายุยืน นักวิจัยได้แต่เดาว่า เป็นเรื่องของยีนซึ่งไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด  แต่หมอสันต์สรุปแบบบ้านๆ ง่ายๆ ว่า เป็นเรื่องของ “ดวง”

สรุปว่า ข้อมูลที่งานวิจัยนี้ให้ได้คือ ความมั่นใจว่า หากท่านบังเอิญดวงดีได้อยู่ไปถึงอายุเก้าสิบห้าปีหรือร้อยปีขึ้นไป ท่านไม่ต้องห่วงเรื่องการตรียมเงินไว้เยียวยาตัวเอง เพราะคนที่อยู่ได้นานขนานนั้น จะไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังง่ายๆ

แต่ถ้าตอนนี้ อายุท่านยังไม่ขึ้นเจ็ดสิบหรือแปดสิบปีก็ป่วยเป็นโรคเรื้องรังเพียบแล้ว ท่านก็ไม่ต้องกังวลอีกนั่นแหละ เพราะตามผลวิจัยนี้ อย่างไรเสียท่านก็ไม่ใช่คนที่จะอยู่ได้นานถึงขนาดนั้น ฮิ ฮิ จบข่าว

เนื้อหาจากคอลัมน์ เวลเนสคลาส นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 431

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.