ผู้สูงอายุ

“ขับรถ” กันเถอะ ผู้สูงอายุ ป้องกันสมองเสื่อม

ชวน ผู้สูงอายุ มาขับรถ

“ ผู้สูงอายุ ไม่เห็นต้องเลิกขับรถ” สวนทางกับความเห็นของลูกๆ ที่บ้านดีเหลือเกิน ยืนยันโดย นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ คอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก อดีตผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท 2 ท่านเขียนเรื่องทีไร ก็มีความสนุกเกิดขึ้นเสมอ อย่างเช่นวันนี้ค่ะ

ผู้มาเข้าคอร์สสุขภาพของผมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย และมีไม่น้อยที่อยู่ในสภาพเสื่อมถอยและซึมเศร้าเป็นภาระแก่ลูกๆ จนลูกๆต้องลงขันและช่วยกันลุ้นให้มาเข้าแค้มป์ เผื่อว่าอะไรๆจะดีขึ้นบ้าง

มีอยู่ท่านหนึ่งเป็นชายอายุ 68 ปี ตอนมาเข้าแค้มป์มีท่าทางหดหู่ แต่พอกลับจากแค้มป์แล้วเกิดอาการคึกคักเกินความคาดหมาย ไม่ฟังเสียงลูกๆที่ห้ามพ่อไม่ให้ขับรถ เพราะหมอสันต์บอกว่าให้ขับรถบ่อยๆ พ่อก็เลยคว้ากุญแจสตาร์ทรถออกไปข้างนอกทุกวัน

จนลูกๆ เขียนอีเมลมาประท้วงว่า ทำไมหมอสันต์จึงไปบอกให้คุณพ่อขับรถ ความจำของท่านมีบ้างไม่มีบ้าง ดุลพินิจและการตัดสินใจของท่านไม่ค่อยดี มันอันตรายนะคะ ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะทำยังไงกันละคะ

ขับรถ

อิ อิ เป็นความจริงที่ว่าคนไข้ของหมอสันต์ ทั้งที่มาเข้าคอร์สสุขภาพและคลินิก ล้วนเป็นผู้สูงอายุ และเป็นความจริงที่ว่าหมอสันต์เชียร์ให้ผู้สูงอายุทุกคนที่เคยขับรถ ให้ขับรถต่อไป ที่กลัวโน่นกลัวนี่จนไม่กล้าขับหรือเลิกไปแล้ว หมอสันต์ก็ยุให้กลับมาขับรถใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำตามหลักฐานวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ได้แนะนำซี้ซั้ว กล่าวคือ

ในแง่ของสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่ไม่ยอมเลิกขับรถจะมีสุขภาพแข็งแรงกว่าผู้ที่เลิกขับรถ มีการตีพิมพ์หลักฐานทำนองนี้กันเป็นระยะๆ ล่าสุดคือเดือนมกราคมปีนี้เอง ก็ได้มีการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของคนสูงอายุที่เชื่องโยงกับการขับรถรวม 16 งานวิจัย และตีพิมพ์ผลงานไว้ในวารสารสมาคมชราวิทยาอเมริกา (AGS) ซึ่งสรุปได้ว่าการหยุดขับรถทำให้ผู้สูงอายุซึมเศร้าเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวและสุขภาพกายถดถอยมากกว่า เมื่อเทียบกับสุขภาพของคนที่มีเพศและวัยเดียวกันที่ยังไม่ยอมเลิกขับรถ

คลิกเพื่ออ่าน หน้าถัดไป

การเลิกขับรถเนี่ยก่อวงจรสาละวันเตี้ยลงนะครับ คือผู้สูงอายุพอรู้สึกว่าตาตัวเองชักไม่ค่อยดี เชื่องช้า ความจำเสื่อม ก็มักคิดว่า อย่ากระนั้นเลย เลิกขับรถดีกว่า แต่ผลลัพธ์คือ สมองยิ่งช้าลง และเสื่อมลงมาก แถมได้โรคซึมเศร้าเพิ่มมาอีกด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเลิกขับรถเป็นการแยกตัวออกจากสังคมนอกบ้าน แรกๆ ก็พยายามขอให้ลูกหลานพาไป หนักเข้าก็อาศัยแท็กซี่ จนในที่สุดก็หันมาจับเจ่าอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ หรือหน้าจอไอแพด ดังนั้นก่อนจะเลิกขับรถต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่เลิกขับรถมีโอกาสตายใน 3-5 ปีหลังจากนั้น คนที่มีเพศวัยเดียวกัน และสุขภาพเท่ากันที่ไม่ยอมเลิกขับ

การขับรถมีมนต์ขลังของมันเองเหมือนกันนะ เพราะเป็นการฝึกฝนบริหารจัดการ ปฏิบัติการเป็นขั้นตอน ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกแก่ผู้ขับว่า เออ ข้านี้ก็แน่เหมือนกันนะโว้ย การยอมรับว่าตนเองไม่สามารถขับรถได้แล้ว จึงเป็นการสูญเสียตัวตนหรือกำพืด (identity) ของผู้สูงอายุไปมากพอควร

ขับรถ

“แต่เดี๋ยวก่อนนะคะคุณหมอสันต์ การจะให้คนสูงอายุขับรถเพื่อสุขภาพของตัวเอง แล้วให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นแบกรับความเสี่ยง รวมถึงความเชื่องช้าฝ้าฟางของผู้สูงอายุ มันจะยุติธรรมไหมคะ”

น้าน ว่าเข้าไปน่าน ไปเอาที่ไหนมาพูดว่าคนแก่ อุ๊บ ขอโทษ ผู้สูงอายุ ขับรถแล้วจะไปชนชาวบ้านเขาเละเทะ สถิติที่ดีที่สุดมาจากองค์การความปลอดภัยยวดยานทางหลวงแห่งชาติอเมริกัน (NHTSA) และสถาบันความปลอดภัยทางหลวง (IHS) ปีแล้วปีเล่า ที่ยืนยันเหมือนเดิม คือช่วงอายุของคนขับรถที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทั้งแก่ตนแก่ท่านน้อยที่สุดคือ ช่วงอายุ 64-69 ปีนะครับ ขณะที่ช่วงอายุที่อันตรายที่สุดคือ 15-20 ปี สถิติในยุโรปและเอเชียก็เหมือนกัน คือยิ่งอายุน้อย ยิ่งอันตราย

ปีนี้ในสหรัฐอเมริกามีคนอายุ 15-20 ปี ก่ออุบัติเหตุร้อยละ 8.5 โดยเป็นอุบัติเหตุถึงตายร้อยละ 12 ขณะที่ผู้สูงอายุ 65-69 มีแต่ร้อยละ 3.7 โดยเป็นอุบัติเหตุถึงตายเพียงร้อยละ 3.2

คลิกเพื่ออ่าน หน้าถัดไป

ความจริงเรื่องที่ว่าคนอายุน้อยอันตรายกว่านี้ บริษัทรถเช่ารู้มานานแล้ว วิธีที่จะทำธุรกิจของเขาให้อยู่รอดคือ บังคับให้ลูกค้ายอมรับโดยกรอกข้อมูลในใบสมัครว่ามีอายุเกิน 25 ปีแล้ว ถ้ายังไม่เกิน เขาจะโยกโย้อ้างว่ารถหมดบ้าง รถสเป็คที่คุณอยากได้ไม่มีบ้าง เพราะการปล่อยให้คนอายุน้อยเช่ารถดีๆของเขามีโอกาสเสียมากกว่าได้ ถ้าเขายอมให้เช่า ก็เป็นการยอมแบบขึ้นเบี้ยประกันไปให้สูงล่วงหน้าแล้ว

ดังนั้นปล่อยคุณพ่อเขาไปเถอะ สิ่งที่คุณลูกๆจะช่วยได้คือ ถ้าเห็นว่าท่านจะห้าวหาญเกินไป ก็คอยดึงๆ ไม่ให้ไปขับในที่ๆ เสี่ยงมาก เช่น ขับกลางคืน ขับรถบนถนนที่มียวดยานมาก คับขัน ฉวัดเฉวียน ถ้ามีข้อจำกัดด้านร่างกาย เช่น คอเคล็ดคอแข็ง ก็ควรยุให้ท่านไปออกกำลังกายฝึกกล้ามเนื้อคอเสียก่อน หรือจะเปิดดูการบริหารคอในบล็อกของหมอสันต์แล้วให้ท่านทำตามก็ได้

ผู้สูงอายุ

ที่ผมเป็นห่วง กลับเป็นผู้สูงอายุกลุ่มไม่สามารถขับรถได้แล้วจริงๆ มากกว่า แบบใจสู้ แต่สังขารไปไม่ไหวแล้ว ในกรณีเช่นนั้น ลูกหลานต้องหาทางชดเชยให้ท่านไม่สูญเสียการเข้าสังคมและพบปะผู้คนนอกบ้าน จะด้วยการผลัดเวรกันพาท่านออกไป หรือเช่าแท็กซี่เจ้าประจำ หรือจ้างผู้ดูแลพาขึ้นรถเมล์ก็แล้วแต่

ขออย่างเดียว อย่าปล่อยให้ท่านเหงาเศร้าซึมอยู่กับหน้าจอในบ้านเท่านั้นแหละ เพราะความซึมเศร้าสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม และเมื่อสมองเสื่อม คุณลูกๆ หลานๆ ทั้งหลายจะได้แจ๊คพอตใหญ่โตยิ่งกว่าถูกหวยซะอีก…

เพราะคุณพ่อคุณแม่ที่เคยว่าง่าย เจี๋ยมเจี้ยม มีสิทธิเท่ากับศูนย์นั้น ได้กลายเป็นพญาอะไรก็ไม่รู้ ที่มีฤทธิเดชอาละวาดแหลกราญชนิดคุณลูกจะต้องตำหนิตัวเองว่า..รู้งี้ตอนนั้นเชื่อหมอสันต์ซะก็ดี

ข้อมูลจาก : คอลัมน์ Wellness Class นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 420

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.