เรียนรู้สุขภาพดีที่ “เวลเนส คลาส”

คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ คอลัมนิสต์คนดังกลับมาแนะนำเรื่องราวการดูแลตัวเองดีๆ กันบนหน้าเว็บไซต์อีกครั้งแล้ว คราวนี้แนะนำหลักสูตรในการดูแลตัวเองค่ะ

ส่วนจะแนะนำอย่างไร… เชิญติดตามพร้อมกัน

คนที่อ่านคอลัมน์นี้ไปเดือนที่แล้วตั้งคำถามว่าทำไมชื่อคอลัมน์ว่า Wellness Classหรือห้องเรียนเพื่อการมีสุขภาพแข็งแรง

ตอบว่า อืม..ม เรื่องมันยาว คือว่า.. แบบว่า เอ้อ..อ้า.. โน่น นี่ นั่น กล่าวโดยสรุปก็คือหมอสันต์จะหาเรื่องชักจูงผู้อ่านไปเข้าคอร์สสุขภาพ เอ๊ย..ไม่ใช่ พูดผิด พูดงั้นได้ไงน่าเกลียดตายชัก พูดใหม่

คือว่า เอ้อ อ้า คืออย่างนี้ คือผมกับเพื่อนตกลงกันตั้งศูนย์ฝึกสอนการดูแลสุขภาพตัวเองขึ้นมาชื่อ Wellness We Care Center เพื่อเปิดรับผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆเช่นหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไต ไขมัน อ้วน อัมพาต มาเรียนรู้ที่จะทำให้โรคของตัวเองหาย แบบว่า “พลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง” (Reverse Disease By Yourself)

สำหรับคนที่ยังไม่ป่วยก็มาเรียนรู้การปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้ตัวเอง“มีสุขภาพแข็งแรงด้วยตัวเอง” (Good Health By Yourself) โดยจัดขึ้นที่มวกเหล็ก จังหวัดมีที่เรียน ที่พักค้างคืน และมีร้านขายอาหารแบบพืชเป็นหลัก ไม่ขัดสี ไม่สกัด (plant-based, whole food)ด้วย

ประเด็นก็คือใช่ว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งประเทศไทยจะได้มีโอกาสไปเข้าคอร์สพลิกผันโรคด้วยตัวคุณเองนี้ทุกคนเสียเมื่อไหร่ เพราะรุ่นหนึ่งรับ 20-30 คนเท่านั้นเอง จะต้องมีผู้ที่ป่วยซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากเนื้อหาในคอร์สนี้อีกมากที่ไม่มีโอกาสได้มาเข้าเรียน

ผมจึงมานั่งเขียนอยู่ที่ชีวจิตนี้เพื่อเล่าว่าในคอร์สนี้มีประเด็นสำคัญอะไรที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องเรียนรู้ฝึกฝนบ้าง คนมีปัญหาสุขภาพอย่างนี้มาเขาแก้อย่างไร คนมีปัญหาอย่างโน้นมาเขาปรับเปลี่ยนอย่างไร หรือป่วยด้วยโรคมาตรฐานสี่สหายวัฒนะ ทั้งหัวใจ ไขมัน ความดัน เบาหวาน กำลังกินยาอีรุงตุงนังอยู่ 17 อย่าง จะต้องเรียนวิชาลิงแก้แห เอ๊ย ไม่ใช่ ต้องค่อยๆแก้ไขจนลดและเลิกยาได้หมดได้อย่างไร เป็นต้น

เรียกว่าอ่านชีวจิตนี้แล้วเอาไปปฏิบัติได้เองเลย ไม่ต้องไปเข้าคอร์สหมอสันต์ก็ได้ นั่นคือวัตถุประสงค์ที่เปิดคอลัมน์นี้ขึ้นมา เออ… พูดอย่างนี้ค่อยน่าฟังหน่อย

พูดถึงการต้องมาทำคอร์สนี้ นึกย้อนหลังไปนานมากราวสี่สิบปีมาแล้ว (พ.ศ. 2520 ถ้าจำไม่ผิด) ตอนนั้นผมยังเรียนแพทย์อยู่ จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐหน้า 5(คอลัมน์ที่เขียนโดยหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช) ท่านเล่าเรื่องการไปเข้าคอร์สสุขภาพที่สวิสแลนด์แพทย์ที่นั่นใช้หลักสูตรโบราณที่ทำกันมา 80 ปีโดยมีหลักการว่า นำพลังจากอาหาร อากาศ น้ำ แสงแดด และการพักผ่อนให้แก่ร่างกาย แล้วปล่อยให้ร่างกายรักษาโรคของตัวเอง

ตัวอาจารย์หม่อมเองไม่เชื่อแต่ก็ชอบลอง ท่านเป็นเบาหวาน ต้องกินยาประจำ ก่อนไปเข้าคอร์สตอนออกจากเมืองไทยวัดน้ำตาลในเลือดได้ 151 พอไปถึงหมอที่รีสอร์ทสั่งให้ท่านหยุดยาทั้งหมดแล้วก็จับท่านเข้าสูตร กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา ออกกำลังกายตามควร และพักผ่อนให้พอเพียง กินแต่อาหารมังสวิรัติ ไม่มีเนื้อสัตว์หรืออะไรที่มาจากสัตว์เจือปนเลย และท่านว่าดูเหมือนการใช้ผลไม้สดและผักสดประกอบอาหารจะเป็นยาที่สำคัญที่สุดของสถานพยาบาลแห่งนี้

พอกินนอนไปได้แค่ 2 วันน้ำตาลของท่านลดเหลือ 110 และความดันที่เคยสูงถึง 170 ก็ลดลงมาเหลือแค่ 120 แถมอาจารย์หม่อมยังเล่าภาคพิสดารด้วยว่าท่านเห็นหญิงคนหนึ่งขาไม่มีแรงเดินไม่ได้ต้องมีญาติหามเข้ามา มาอยู่รีสอร์ทได้ 5-6 วันก็ลุกมาเดินชมสวนได้

ท่านว่าถ้าไม่เห็นด้วยตาท่านคงไม่เชื่อ และท่านเล่าเรื่องตาแก่อีกคนหนึ่งอายุ 80 ปีเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบกินไม่ได้นอนหลับเอาแต่ปวดท้องผอมกะหร่องน่าสมเพช เขาให้กินมูสลี่ผสมผลไม้แกก็ไม่กิน พยาบาลต้องเคี่ยวเข็ญปลอบขู่ให้กินจนเกลี้ยงถ้วยทุกมื้อ อยู่ไปได้ 2 สัปดาห์แกมีอาการดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาเป็นคนละคน

ตอนนั้นผมเป็นแฟนการเมืองของอาจารย์หม่อม อ่านแล้วนึกตำหนิอาจารย์หม่อมว่าเอาเรื่องการแพทย์แผนโบราณไร้สาระมาเขียนเสียเวลาแฟนๆคอลัมน์เปล่าๆปลี้ๆ

มาถึงวันนี้ ผ่านไปแล้วเกือบสี่สิบปี ตัวผมเองจบแพทย์แล้วไปเรียนไปฝึกอบรมเพิ่มทางด้านหัวใจร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ กลับมาเมืองไทยมาเป็นหมอรักษาคนไข้ ผ่าตัดหัวใจให้คนไข้ไป 2,000 กว่าคน

ตลอดเวลาที่ผ่านมานอกจากจะรักษาคนไข้แบบหมอไฮเทคคนหนึ่งแล้วก็ยังร่วมทำงานวิจัยและติดตามผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่ขาดระยะ จนตัดสินใจมาทำคอร์สสุขภาพเพื่อรักษาคนไข้โรคเรื้อรังขึ้นด้วยตัวเอง โดยที่เนื้อหาสาระหรือหลักสูตรที่ผมจะทำนั้น เหมือนคอร์สที่อาจารย์หม่อมไปเข้ามาเด๊ะ เออ.. เป็นไปได้ไงเนี่ย นี่แสดงว่า 80 ปีก่อนที่อาจารย์หม่อมเล่าว่าวิชานี้เกิดขึ้น บวกอีกราว 40 ปีนับตั้งแต่วันที่ผมอ่านอาจารย์หม่อมจนถึงวันนี้ รวมเป็น 120 ปี วิชาแพทย์ยังไม่ไปไหนเลยนะเนี่ย

วนไปไฮเทคหนึ่งรอบ แล้วก็กลับมาที่เดิม คืออาหารพืชผักผลไม้สดในธรรมชาติ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.