ปั่นจักรยาน

วิธีปฐมพยาบาลสำหรับ นัก ปั่นจักรยาน

ปั่นจักรยาน กันเถอะ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ ปั่นจักรยาน ยังเป็นที่นิยมดี ไม่มีเอ๊าท์ ไฉนเลยเราจะไม่หาข้อมูลเรื่องนี้มาบอกเล่ากับคุณ แถมคนเล่ายังเป็นสาวสวยที่มีชื่อเสียงอีกด้วย

คุณอรุณณภา พาณิชจรูญ พิธีกรรายการ “อยู่เป็นลืมป่วย” ทางช่องอมรินทร์ทีวี คือนักปั่นสาวตัวจริงเสียงจริงที่ลุยปั่นมาแล้วทุกสภาพถนน ทั้งทางเรียบปั่นสบายๆ และเส้นทางวิบากที่ผู้ชายบางคนต้องยกธงยอมแพ้

วันนี้เธอจะมาแบ่งปันวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อนักปั่นทั้งหลายประสบอุบัติเหตุค่ะ

ย้อนกลับไปต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งราวๆ 8 โมงครึ่ง อากาศเป็นใจ ฟ้าใส ลมเย็นๆ ทุกอย่างดีแบบนี้ก็ต้องออกปั่นสิคะ ป่ะ!! ซ้อม 100 โล (ภาษาจักรยานคือ 100 กิโลเมตร เพื่อฝึกความคุ้นเคยให้ร่างกายชินกับท่านั่งปั่นบนจักรยานเป็นเวลานาน)

ฟิ้ววว… ออกปั่นปุ๊บ ร่างกายและจิตใจสดชื่นดี รอบขาเป็นวงกลมลงตัวดี อัตราการเต้นหัวใจดี ลมส่งด้านหลังอ่อนๆ ความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โลกการปั่นของหวานกำลังสวย จู่ๆ!!! ถนนเรียบๆ ก็ขรุขระเป็นคลื่นอย่างหนัก “ไม่ล้ม!” (บอกตัวเอง เป็นการเรียกสติ) กำลังจะตัดขึ้นทางเรียบ ฟรึบๆ โครม!!! ล้อจักรยานเบียดกับรอยต่อจากถนนขรุขระกลับขึ้นมาถนนเรียบ

ผลคือจักรยานพลิกล้มทางซ้าย ทำให้สะโพกซ้ายฟาดลงบนพื้นถนนอย่างแรง และไถลไปข้างหน้า พยายามรีบลุก แต่มันกลับเจ็บจี๊ดร้าวไปทั้งตัว ทำให้ลุกไม่ขึ้น ตัวสั่น ขาไม่มีแรง และมึนนิดๆ เพราะหัวกระแทกพื้นเล็กน้อย (ดีนะที่เราใส่หมวกกันน๊อคแน่น)

พอได้สติ พยุงตัวนั่งและสำรวจร่างกาย เดชะบุญ แผลถลอกน้อยมาก มีอาการเจ็บหลักๆ คือปวดร้าวที่สะโพกซ้ายอย่างเดียว และเริ่มออกอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด แต่พอลุกขึ้นยืน สามารถเดินได้ ดังนั้นกระดูกสะโพกไม่ร้าวไม่หัก เลยรีบโบกรถกลับบ้านเพื่อไปปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน

หลายคนคงพอทราบการปฐมพยาบาลหลังการล้มกระแทกอย่างแรงคร่าวๆ เช่น การประคบเย็น ต่อด้วยประคบอุ่น ตรงไหนมีแผลก็เอาเบตาดีนป้ายๆ ทาๆ แต่นั่นแค่ความเข้าใจแบบพื้นๆ เรามาลงลึกให้ชัดเจนกันดีกว่าว่าควรทำอย่างไร

ทันทีที่กลับถึงบ้าน หวานก็รีบพุ่งเข้าหาช่องฟรีซ คว้าถุงเจลประคบเย็นที่แช่ไว้หรือบางท่านอาจใช้ถุงน้ำแข็ง ประคบบริเวณที่บวม (นักกีฬาหลายคนจะมีถุงเจลติดช่องฟรีซไว้ที่บ้าน เพื่อประคบลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อหลังออกกำลังกายอย่างหนัก) ใช่ค่ะ มันเย็นมาก ดังนั้นประคบทันทีอย่าลังเล ตามหลักการเราควรประคบ 15-20 นาที 24-48 ชั่วโมง วันละ 2-3ครั้ง

หวานแนะนำให้จำง่ายๆ “สิบห้าพักห้าสามเซต” คือประคบ 15 นาที ปล่อยพัก 5 นาที ทำแบบนี้ 3 ครั้ง ถ้าอยากหายไวๆ ต้องมีวินัยในการทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองวันแรก พอเข้าวันที่สาม อาการเขียวช้ำและปวดตัวเริ่มมาเยือนเหมือนคลื่นอาฟเตอร์ช็อก มาเงียบๆ แต่ร้าวทั้งตัว หวานทายาแก้รอยช้ำเช้า กลางวัน เย็น และเริ่มประคบอุ่น ขอเน้นว่าอุ่นประมาณ 45 องศาเซลเซียสนะคะ ไม่ใช่ประคบด้วยน้ำเดือด ไม่งั้นผิวพองอักเสบไปใหญ่

แต่สังเกตได้ว่าเนื้อเราปูดออกมาเป็นก้อนแข็งๆ งงมากว่าคืออะไร พอได้ปรึกษาพี่หมอที่สนิทกันเขาบอกว่า มันเรียกว่า “Hematoma” ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังมีการกระแทกอย่างแรงจนเลือดออกในเนื้อเยื่อเป็นก้อนเลือดแข็งๆ อยู่ข้างใน สักวันสองวันจะนุ่มลงและประมาณ 2 อาทิตย์ร่างกายจะกำจัดออกไปเอง กรณีรีบก็มาให้พี่หมอเอาเข็มเจาะแล้วดูดออก

ส่วนแผลถลอกตามแขนของหวาน ขั้นแรกคือให้รีบล้างแผลค่ะ ใครยังเอาแอลกอฮอล์ล้างแผลบ้างคะ อ๊ะๆ ถ้ายังทำอยู่ หวานขอให้เลิกตลอดกาลนานเลยนะคะ รีสตาร์ทความเข้าใจใหม่ เพราะมันจะยิ่งแย่ ทำให้แผลหายช้ากว่าเดิมอีก เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ จากที่คิดว่าให้เข้าไปซ่อมแซม กลายเป็นฆ่าเนื้อเยื่อให้ตาย

ดังนั้นใช้น้ำเกลือค่ะดีที่สุด ล้างแผลให้เต็มที่ จะสะดวกต้มเองไว้ใช้ โดยผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 1 ลิตร หรือซื้อตามร้านขายยาทั่วไป จากนั้นใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดเบาๆ รอบแผลเหมือนตีกรอบกำแพงกันเชื้อโรค แล้วถึงใส่เบตาดีนบนแผล ถ้าอยากให้แผลหายเร็วต้องไม่ให้โดนน้ำ ไม่ปิดแผล และมีวินัยในการทำแผลเช้าเย็น พอแผลเริ่มตกสะเก็ดให้ทาเจลลดรอยแผลเป็นบ่อยๆ เท่านี้เป็นอันเรียบร้อย

เรื่องราวในวันนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านบางท่านมองว่า การปั่นจักรยานเป็นกีฬาที่ค่อนข้างอันตราย และมีความเสี่ยงสูง หวานขอให้เปิดใจว่า เมื่อใดที่เราเลือกจะออกไปใช้ชีวิต ทุกครั้งที่ก้าวออกจากบ้าน ย่อมมีความเสี่ยงทั้งนั้นค่ะ เพราะบางครั้งอุบัติเหตุเหมือนแจ็คพอตที่เราไม่อยากได้ เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทันคาดคิด อาจเกิดจากความประมาทของตัวเราเอง หรือความประมาทของผู้อื่น สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ การมีสติ

ขอให้ปั่นจักรยานปลอดภัยทุกท่านค่ะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.