รองเท้าส้นสูง สวยซ่อนร้าย

รองเท้าส้นสูง สวยซ่อนร้าย

รองเท้าส้นสูง อันตรายที่แฝงมาด้วยความสวยของผู้หญิง

สำหรับผู้หญิง รองเท้าส้นสูง ดูจะเป็นทั้งเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับประจำกายไปพร้อมๆ กัน จนหลายคนขาดรองเท้าสไตล์นี้ไม่ได้      เพียงแต่หากสวมนานไป บ่อยไป ก็อาจเกิดอาการต่างๆ กับร่างกายได้

อาการที่ว่าเป็นอย่างไร และจะรับมือกับอาการเหล่านั้นอย่างไร นายแพทย์กรกฎ พานิช ผู้เชี่ยวชาญประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล มีจะเป็นผู้ให้คำแนะนำค่ะ

ฉบับนี้มาคุยกันเรื่องรองเท้าส้นสูงที่เสริมบุคลิกแต่สร้างปัญหาให้คุณสาว ๆ ไม่น้อยเลย แย่ที่สุดอาจทำให้กระดูกสันหลังคดได้ มีหลายคำถามที่ถามมาดังนี้ครับ

We Wonder – คุณหมอคะหนูเพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงานได้ 1 สัปดาห์ โดยงานที่หนูทำต้องยืนวันละประมาณ 4 ชั่วโมง และต้องใส่รองเท้าส้นสูง ตอนนี้หนูมีปัญหามากเลยค่ะเพราะปวดเท้ามาก รองเท้าก็กัด ยืนทำงานแทบไม่ไหว ทรมานมาก ขอคำแนะนำด้วยค่ะรองเท้าส้นสูง

Doctor Says– เป็นปกติครับ ใครที่ใส่รองเท้าส้นสูงยังไงก็มีปัญหาไม่มากก็น้อย เพราะโครงสร้างของเราเวลาใส่รองเท้าส้นสูง จะมีการปรับตัวไปในลักษณะฝืนธรรมชาติ ในภาวะที่เรายืนปกติน้ำหนักจะถ่ายเทไปที่ 3 จุดหลักที่ฝ่าเท้าได้แก่ส้นเท้า โคนนิ้วหัวแม่เท้าและโคนนิ้วเท้าที่ 5 แต่เวลาที่เราใส่รองเท้าส้นสูงน้ำหนักจะเทเอียงลงมาที่เท้าด้านหน้าโดยส่วนใหญ่จะมาลงที่กระดูกโคนนิ้วหัวแม่เท้า ทำให้กระดูกโคนนิ้วหัวแม่เท้าและเนื้อเยื่อเท้าบริเวณรอบๆต้องออกแรงเพื่อรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้เนื้อเยื่อบอบช้ำบาดเจ็บและจบลงด้วยความปวด นี่แค่จุดเริ่มต้นนะครับ ยังมีต่อ

ปกติเวลาเรายืนเต็มเท้าแรงสะท้อนจากพื้นจะเท่ากับน้ำหนักตัว แต่ถ้าก้าวเดินแรงสะท้อนกลับมาที่ตัวจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เท่าของน้ำหนักตัวหรือมากกว่านั้น และหากใส่รองเท้าส้นสูง จุดรับแรงที่โคนนิ้วหัวแม่เท้ายิ่งต้องรับแรงเพิ่มขึ้นอีก แล้วปัญหาที่จะตามมานอกจากความปวดคือ เท้าผิดรูป เช่น นิ้วหัวแม่เท้าเอียงเข้าด้านใน หากเป็นมากๆนิ้วเท้าก็จะขี่กัน ปวดเอ็นร้อยหวาย ตาปลาฝ่าเท้าอักเสบ กระดูกส้นเท้าปูดนูน เนื่องจากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บเรื้อรังและเสียสภาพในที่สุด นอกจากนั้นยังอาจเกิดปัญหาอื่นๆ เช่น ข้อเท้าพลิกหรืออาจร้ายแรงถึงขั้นกระดูกหัก

วิธีลดปัญหานี้ก็คือ อย่าใส่รองเท้าส้นสูง ฟังดูง่ายแต่ทำยากเพราะจากสถิติพบว่า ผู้หญิงถึงร้อยละ 40 ยอมใส่รองเท้าส้นสูงเพื่อเสริมบุคลิกแม้จะมีปัญหาต่างๆ ตามมาขอแนะนำว่าหากจำเป็นต้องใส่ระหว่างวัน ก็ควรถอดรองเท้าบ่อยๆ เพื่อบริหารเท้า เช่นตอนพักกลางวัน หรือเข้าห้องน้ำ หากทำก็หาย ไม่ทำก็ปวด (ต่อไป) ครับ

สำหรับสาว ๆ คนไหนที่มีปัญหาปวดน่อง จากการใส่รองเท้าส้นสูง

สามารถติดตามข้อแนะนำจากคุณหมอต่อได้ ในหน้าถัดไปค่ะ

We Wonder – ดิฉันทำงานที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง และยืน 2-3 ชั่วโมงติดต่อกัน ตอนนี้ปวดน่องมากค่ะเป็นตะคริวที่น่องบ่อยมาก และมีเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรดีคะ?

Doctor Says – เป็นอีกปัญหาที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่นะครับ จากปวดเท้าก็จะปวดต่อเนื่องมาที่เอ็นร้อยหวาย น่อง แล้วก็ลามขึ้นเอว หลัง ด้วยนะครับ

กรณีปวดน่อง และมีเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้น เป็นเพราะขณะที่ใส่รองเท้าส้นสูงกล้ามเนื้อน่องจะมีการหดสั้นลงเนื่องจากส้นรองเท้าเป็นตัวหนุน เมื่อกล้ามเนื้อหดสั้นอย่างต่อเนื่องเพราะใส่รองเท้าส้นสูงวันละหลายชั่วโมง จะทำให้เสียเซลล์กล้ามเนื้อไป (กล้ามเนื้อฝ่อลีบ) เพราะกล้ามเนื้อไม่ต้องทำงานตามธรรมชาติ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่องก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้เมื่อต้องยืนหรือเดินนานๆ น่องของเราจะไม่สามารถทนได้ จึงเกิดอาการปวดและเป็นตะคริว เมื่อกล้ามเนื้อลีบลงก็จะเสียความสามารถในการดูดซับแรงกระแทกจากการยืน เดิน ทำให้ภาระหนักไปตกที่เข่าและกระดูกสันหลังต้องรับแรงกระแทกแทนทั้งที่ธรรมชาติไม่ได้ออกแบบให้ต้องมารับงานหนักขนาดนี้รองเท้าส้นสูง

ส่วนปัญหาเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นเพราะในการยืนนานๆ ร่างกายต้องเพิ่มแรงดันในเส้นเลือดดำเพื่อฉีดเลือดกลับไปที่หัวใจ แรงที่เพิ่มขึ้นต้องมากพอที่จะสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก (เหมือนต้องใช้ปั๊มป์น้ำปั๊มป์จากชั้นล่างขึ้นชั้นบน) เลือดถึงจะไหลเวียนกลับไปได้ หากแรงดันในเส้นเลือดไม่มากพอก็จะเกิดปัญหาขาหรือเท้าบวม นั่งนานก็เป็นได้เช่นกันโดยเฉพาะนั่งไขว่ห้างยิ่งแล้วใหญ่ เส้นเลือดบริเวณข้อพับเข่าของเราจะหักพับเหมือนเราหักสายยางทำให้แรงดันสะสมในเส้นเลือดสูงขึ้นและไปดันให้เส้นเลือดนูนและโป่งออกมาเห็นเป็นเส้นเลือดขอด

หากจะแก้ปัญหาทั้งปวด ทั้งเส้นเลือดขอดก็ง่ายๆ ครับ แค่ขยับแข้งขยับขาบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อปั๊มป์เลือด และหมั่นยืดกล้ามเนื้อบ่อยเพื่อแก้ปัญหากล้ามเนื้อหดตัวจากการใส่รองเท้าส้นสูง หมอมีตัวอย่างท่าบริหารง่ายๆในที่ทำงานมาให้ทำด้วยนะครับ ลองทำดูครับชีวิตจะดีขึ้นเยอะ

ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสเป็นเหตุผลที่ฟังดูดี แต่ไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นนะครับ

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.