กินอย่างไร ไตแข็งแรง อายุยืน

            ทราบกันดีว่า ไต เป็นอวัยวะสำคัญที่หากไม่ดูแลให้ดีเราอาจต้องเจ็บป่วยสาหัส

…แต่หากป่วยด้วย โรคไต แล้ว จะจัดอาหารการกินอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญ

วันนี้จึงอยากชวนคุณมาเรียนรู้การจัดอาหาร และตารางการกินอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไต (และโรคเบาหวานที่ได้แถมมาเป็นแพ็คเกจ) สุขภาพดี และยังคงสุขกับการกินได้อยู่ กับนักกำหนดอาหารคนเก่งของเราค่ะ

แม้ได้ชื่อว่า เป็นโรคไตเหมือนกัน แต่ด้วยสภาวะของโรคที่แตกต่าง ทำให้ผู้ป่วยต้องกินอาหารแตกต่างกันออกไปด้วย

คุณหมออาจให้ผู้ป่วยบางราย จำกัดปริมาณโปรตีน เขาจึงกินเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาแทบจะนับคำ แต่คนไข้บางราย คุณหมอกลับย้ำนักย้ำหนาให้กินโปรตีนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว

คิดแล้วน่าหวาดเสียว หากมีเพื่อนป่วยเป็นโรคไตแล้วกินตามกันโดยไม่ปรึกษาคุณหมอหรือนักกำหนดอาหารให้ดี อาจเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนและไตพังโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

เรื่องพิเศษ ปักษ์นี้ จึงอยากชวนผู้ป่วยโรคไตและผู้ดูแล มาเรียนรู้เรื่องการกินอาหารให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และสภาวะโรคของผู้ป่วยแต่ละราย จากคุณเอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร หัวหน้านักวิชาการด้านโภชนาการ จากสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้กินอย่างสบายใจ สบายไต และปลอดภัยไปพร้อมกันค่ะ

ผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคไตและเบาหวาน

โรคเบาหวานนับเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของโรคไตวายเรื้อรัง จึงพบว่า ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย คุณเอกหทัย อธิบายจากประสบการณ์ว่า

“ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ควบคุมอาหาร หรือกินยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง 20 – 40 เปอร์เซ็นต์ และถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ภายใน 20 ปี จะมีผู้ป่วยถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไตจะถูกทำลาย จนมีอาการไตวายระยะสุดท้าย

“เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ หลอดเลือดแดงขนาดเล็กก็จะหนาตัวขึ้น ถ้าหลอดเลือดแดงบริเวณไตหนาตัวขึ้น เลือดก็จะไปเลี้ยงไตได้น้อยลง ไตที่ขาดเลือดก็เหมือนขาดอาหาร เนื้อไตจะถูกทำลายและเสื่อมในที่สุด”

คุณเอกหทัย ฝากเตือนถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานว่า ให้ลดการกินอาหารหวาน เพิ่มผักผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตตามมา แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเสียแล้วเน้นว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ ยืดอายุไตให้นานที่สุด โดยกินอาหารเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งจะช่วยให้เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายช้าที่สุด

กินถนอมไต : เมื่อป่วยเป็นโรคไตเสียแล้ว ควรใส่ใจเรื่องอาหารประจำวันมากขึ้น โดยคุณเอกหทัย แนะนำให้กินแบบ “ 4 ลด” เพื่อปกป้องไต คือ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็มและลดเนื้อ มีรายละเอียดดังนี้

กินแบบลดหวาน คือกินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ควรจำกัดน้ำตาลนอกมื้ออาหารไม่ให้เกินวันละ 6 ช้อนชา และระวังน้ำตาลจากผลไม้รสหวานจัดและน้ำผลไม้

นอกจากนี้ใยอาหารในผักทำหน้าที่เป็นเกราะป้องการดูดซึมกันน้ำตาลจึงช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรกินผักสุกมื้อละ 1 – 2 ทัพพี โดยเลือกผักที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้น้อย ผักเหล่านั้น ได้แก่ ผักกาดขาว เห็ดหูหนู บวบ กวางตุ้ง กะหล่ำหลี ตำลึง หอมหัวใหญ่ พริกหวาน ฟักเขียว กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก

กินแบบลดมัน แนะนำให้กินน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา เน้นให้เลือกอาหารที่ปรุงด้วยวิธี ต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำ และเลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ แหนม กุนเชียง

กินแบบลดเค็ม มีเป้าหมายที่แท้จริงคือกินเพื่อจำกัดปริมาณโซเดียมไม่ให้เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปกติเราจะได้รับโซเดียมจากอาหารประจำวันที่ไม่เติมเครื่องปรุงใด ๆ วันละประมาณ 800 มิลลิกรัมอยู่แล้ว ส่วนอีก 1,200 มิลลิกรัม เป็นโซเดียมในสำหรับเครื่องปรุง คุณเอกหทัยอธิบายว่า

“กินไม่ให้เกินโควตา ต้องกินจืด คือใช้น้ำปลา หรือซีอิ้วขาววันละไม่เกิน 3 ช้อนชา ทำได้โดยการงดพฤติกรรมกินไปปรุงไป ปรุงอาหารก่อนชิม และลดการใช้เครื่องปรุงทุกชนิดลงจากเดิม ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผักผลไม้ดอง หรือเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูหยอง หมูแผ่น หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก แหนม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว

“หากยังไม่สามารถกินอาหารรสจืดตามที่บอกได้ เริ่มต้นอาจใช้วิธีลดเครื่องปรุงลง 25 เปอร์เซ็นต์ก่อน เมื่อเริ่มคุ้นชินกับรสชาติจึงปรับลดลงอีก ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายในการกินโซเดียมหรือลดเครื่องปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ที่แนะนำ สุดท้ายใครก็สามารถกินจืดได้”

กินแบบลดเนื้อ หรือลดโปรตีน เพื่อลดภาระการทำงานของไตจากการกรองของเสียหลังกินโปรตีน ดังนั้นกินโปรตีนมาก ไตยิ่งเสื่อมเร็ว แต่หากกินน้อยไปจนร่างกายไม่พอใช้ ร่างกายก็จะมีกลไกสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้แทน สุดท้ายไตจำต้องกรองของเสียปริมาณมากอยู่ดี คุณเอกทัยอธิบายว่า

“ดังนั้นแนะนำให้กินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา 6 – 8 ช้อนแกงต่อวัน หลีกเลี่ยงนม โยเกิร์ต ชีส รวมถึงถั่วต่าง ๆ และลดการกินข้าวแป้งในบางมื้อ โดยเปลี่ยนมากินวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนอกจากมีโปรตีนต่ำ ทั้งยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอีกด้วย”

Did you know?

รู้อย่างไรว่าไตเสื่อมมาเยือนผู้ป่วยเบาหวาน

นายแพทย์ประเสริฐ ธนกิจจารุ งานโรคไต กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลสรุปว่าโดยทั่วไปเราสามารถทราบว่า เป็นโรคไตหรือไม่ จะต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาโปรตีนไข่ขาวที่รั่วในปัสสาวะ แต่หากไม่เข้ารับการตรวจ กว่าร่างกายจะแสดงอาการผิดปกติก็เข้าสู่ระยะที่ 4 เสียแล้ว โดยจะมีอาการซีด บวม มีความดันโลหิตสูง คันตามตัว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอ่อนเพลีย

นอกจากนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานอื่นๆ ร่วมด้วย คือ อาการชาตามปลายมือปลายเท้า ตามัว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แผลเรื้อรังที่เท้า ซึ่งมีสาเหตุจากหลอดเลือดส่วนปลายตีบ
ผู้ป่วยโรคไตที่กินมังสวิรัติ

นายแพทย์โดนัลด์ เวสสัน (Donald Wesson) จาก the Texas A&M Health Science Center College of Medicine ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคไต ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของเขาใน Journal of the American Society of Nephrology ยืนยันว่า

การกินผักและผลไม้ช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ โดยพบว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่กินอาหารที่มีเนื้อสัตว์ปริมาณสูงทั้ง 3 มื้อ จะพัฒนาเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย มากกว่าผู้ป่วยที่กินอาหารที่มีผักและผลไม้ปริมาณสูง

นายแพทย์โดนัลด์ อธิบายว่า หลังกินเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง ร่างกายจะเปลี่ยนโปรตีนเป็นกรด ไตจะผลิตสารที่ช่วยกำจัดกรด หากกรดมีปริมาณมาก ไตจะทำงานหนักและเสื่อมเร็ว นอกจากนี้อาหารที่มีผักและผลไม้สูงยังช่วยลดความดันโลหิต มีผลชะลอความเสื่อมของไต

ไม่เพียงเท่านี้ คุณเอกหทัย เสริมว่า “กินอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก เช่นอาหารมังสวิรัสติ ไม่เพียงช่วยชะลอความเสื่อมของไต ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจ ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อีกด้วย

กินถนอมไต : คุณเอกหทัยย้ำข้อควรจำสำหรับชาวมังสวิรัติว่า

“อาหารมังสวิรัติทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เคร่งครัดกินผักและผลไม้เพียงอย่างเดียวอาจ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับกรดแอมิโนจำเป็นครบถ้วน อีกทั้งโปรตีนจากพืชเช่น ถั่วเมล็ดแห้งมีฟอสฟอรัสสูง ผู้ป่วยที่มีปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดสูงอยู่แล้วอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

“จึงแนะนำให้กินโปรตีนจากผักให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับกรดแอมิโนจำเป็นครบถ้วน ส่วนโปรตีนจากแหล่งอื่น เช่น ไข่ขาว (กรณีมังสวิรัติชนิดที่กินไข่) โปรตีนเกษตร เต้าหู้ขาว นัตโตะ (ถั่วเน่าญี่ปุ่น) ควรกินอย่างน้อย 2 ใน 3 ของแหล่งโปรตีนทั้งหมด

“ควรเลือกผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง โดยกินผักมื้อละ 1 – 2 ทัพพี และผลไม้มื้อละ 1 – 2 จานรองถ้วยกาแฟ

“สำหรับผักที่แนะนำให้กิน เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี เห็ดหูหนู บวบ กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง หอมหัวใหญ่ พริกหวาน ฟักเขียว กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก มะละกอดิบ น้ำเต้า ส่วนผลไม้ เช่น สับปะรด แอ๊ปเปิ้ล มะม่วง มังคุด เงาะ สาลี สละ”

การพิถีพิถันเลือกกินผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ นับว่ามีความสำคัญ ไม่เพียงกับผู้ป่วยโรคไตที่กินอาหารมังสวิรัติเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับผู้ป่วยโรคไตชนิดอื่นด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ขับปัสสาวะได้น้อย เพราะหากกินผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง จะทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หากไม่ควบคุมอาหาร อาจมีผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ผู้ป่วยที่ต้องการลดน้ำหนัก

ผลการศึกษาหนึ่งพบว่า หากมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน การลดปริมาณอาหารประจำวันลง วันละ 500 กิโลแคลอรีสามารถลดน้ำหนักได้เดือนละ 1 – 2 กิโลกรัม แถมมีผลชะลอไตเสื่อม และลดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลดีในระยะยาว คุณเอกหทัย แนะนำให้ควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมไม่เพียงช่วยขับเกลือโซเดียมผ่านเหงื่อ ลดการทำงานของไตในการขับของเสีย ยังช่วยเพิ่มความไวในการทำงานของอินซูลิน ช่วยควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

กินถนอมไต : ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจำกัดอาหาร ลดความอ้วนโดยพลการ ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารให้ช่วยประเมินดัชนีมวลกาย รวมถึงความเสี่ยงเช่นการขาดสารอาหารจากการลดน้ำหนักร่วมด้วย

หากพบว่า ดัชนีมวลกายสูงเกินมาตรฐานสมควรที่ต้องลดน้ำหนัก นักกำหนดอาหารจะแนะนำอาหารตามสภาวะของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยลดปริมาณพลังงานจากอาหารประจำวันของผู้ป่วยลงวันละ 500 กิโลแคลอรี วิธีลดพลังงานไม่จำเป็นต้องกินอาหารปริมาณน้อยลงเสมอไป เพียงลดน้ำตาล และไขมันในอาหารประจำวัน ก็สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ ตามที่คุณเอกหทัยเสริมว่า

“ควบคุมอาหารทำได้โดย ลดขนมหวาน น้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารทอด แกงกะทิ เนื้อสัตว์ไขมันสูง หันมากินอาหารแบบต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำ แทน สำหรับใครหิวบ่อย บางมื้อสามารถเลือกกินแป้งปราศจากพลังงาน เช่น บุก หรือเส้นแก้ว (วุ้นเส้นสาหร่าย) มาปรุงอาหารก็สามารถช่วยให้อิ่มท้อง และช่วยให้น้ำหนักค่อย ๆ ลดลงได้”

คุณเอกหทัย เน้นว่า ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรลดน้ำหนักอย่างหักโหม แต่ควรลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดย ควรลดน้ำหนักไม่เกินเดือนละ 2 กิโลกรัม คุณเอกหทัยยังเสริมว่า

“อย่าลืม ออกกำลังกายแบบความหนักปานกลางร่วมด้วย เช่น การเดิน แกว่งแขน ปั่นจักรยาน เล่นยางยืด วันละ 30 – 60 นาที แต่ต้องระวังไม่ให้เหนื่อยเกินไป วิธีตรวจสอบง่าย ๆ คือขณะออกกำลังกายสามารถพูดคุยเป็นประโยครู้เรื่อง แต่ถ้าถึงขนาดพูดไม่ออกหายใจไม่ทันแสดงว่าออกกำลังกายหนักเกินไป”

ผู้ป่วยที่ต้องการออกกำลังกาย

The National Kidney Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยว่า ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ควบคุมความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอลร้ายในเลือด และช่วยให้หลับสบาย แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวัง

คุณเอกหทัยเล่าถึงผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อพบว่า ตัวเองป่วยเป็นโรคไต จึงปรับเปลี่ยนอาหาร และหันมาออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะเข้าใจผิดคิดว่า การออกกำลังกายอย่างหนักจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่แท้จริงผลกลับตรงข้าม อาการของโรคไตยิ่งแย่ลง

“ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถออกกำลังกายหนักๆ ได้ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อสลายตัวเพิ่มขึ้น ระดับของเสียที่มีชื่อว่าครีอะตินีน (Creatinine) ในเลือดยิ่งเพิ่มขึ้น ไตยิ่งทำงานหนัก

“ไม่เพียงกล้ามเนื้อจะถูกสลายจนร่างกายอ่อนแอ ที่ร้ายกว่าคือร่างกายผู้ป่วยจะได้รับพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ เพราะส่วนหนึ่งถูกเผาผลาญไปขณะออกกำลังกายอย่างหนัก ผู้ป่วยจะขาดทั้งอาหารซ่อมแซมร่างกาย และมีของเสียในเลือดเพิ่มมากขึ้น เหมือนผู้ป่วยไม่ได้ดูแลสุขภาพและควบคุมอาหารเลย”

กินถนอมไต : สำหรับเรื่องอาหาร คุณเอกหทัยแนะนำให้กินเหมือนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั่วไป แต่อาจปรึกษานักกำหนดอาหารถึงวิธีกินเพื่อเพิ่มพลังงานในอาหาร อาจกินอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated Fatty Acids) หรือเพิ่มปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเช่น แป้งโปรตีนต่ำ คุณเอกหทัยอธิบายเสริมว่า

“ไม่มีข้อห้ามเรื่องอาหารเป็นพิเศษ มีแต่ห้ามออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนัก เพราะเป็นห่วงเรื่องระดับครีอะตินีนในเลือด

“ที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วย 4 รายที่เล่นกีฬาหนัก จนร่างกายอ่อนแอระดับของเสียในเลือดจึงเพิ่มขึ้น เราเพิ่มพลังงานในอาหารก็แล้ว ปรับทุกอย่างก็แล้ว สุดท้ายทั้งคุณหมอและนักกำหนดอาหารก็มีความเห็นตรงกันเลือกให้คนไข้ลดการออกกำลังกายลง ผลที่ได้ดีขึ้นทันตา”   คุณเอกหทัยสรุปวิธีการออกกำลังกายกายของผู้ป่วยโรคไตว่า ผู้ป่วยโรคไตสามารถออกกำลังกายรูปแบบใดก็ได้ แต่ไม่ควรหักโหมหรือออกกำลังกายหนักจนเกินไป ควรควบคุมให้อยู่ในระดับปานกลาง คือมีความหนักในระดับที่สามารถพูดคุยเป็นประโยคได้ในขณะออกกำลังกาย และไม่มีอาการหอบเหนื่อย

“การออกกำลังกายแบบปานกลาง เช่น เดิน เต้นแอโรบิก ประมาณวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือ วันเว้นวัน โดยใน 1 วันจะแบ่งทำครั้งละ 10 นาที พบว่า สามารถช่วยให้การไหลเวียนเลือดที่ไตดีขึ้นเช่นกัน เมื่อเลือดไหลเข้าตัวกรองดี การขับของเสียจากโปรตีนก็ดีขึ้นด้วย ของเสียในเลือดจะลดลงเป็น 2 เท่า ดังนั้นจึงอยากเน้นว่า ในผู้ป่วยโรคไตที่ต้องการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยความหนักปานกลาง และกินอาหารตามแบบอาหารของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตามปกติ คือ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ลดเนื้อ

“ส่วนเรื่องการดื่มน้ำถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการบวมก็สามารถดื่มน้ำเพิ่มขึ้นได้ 1 – 2 ลิตร แต่ถ้าเสียเหงื่อปริมาณมาก อาจดื่มน้ำเพิ่มได้ถึง 3 ลิตร

“ที่สำคัญคือไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มชดเชยเกลือแร่ เพราะมีปริมาณเกลือโซเดียมสูง น้ำผสมน้ำผึ้งก็ไม่แนะนำเช่นกัน เพราะมีกรดยูริกสูงยิ่งเร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ถ้าต้องการเพิ่มความสดชื่นให้ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำหวานแทน”

ผู้ป่วยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต

ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยโรคไตที่อายุยังน้อยคือ มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กปกติ จำเป็นที่ต้องดูแลเรื่องอาหารอย่างใกล้ชิด ให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ

ที่สำคัญผู้ปกครองควรหมั่นตรวจเช็กพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตของเด็กจากกราฟ

แสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตเด็ก ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขว่า เป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ร่วมด้วย

กินถนอมไต : คุณเอกหทัยเน้นว่า ผู้ป่วยเด็กมีความต้องการพลังงานและสารอาหารเหมือนในเด็กปกติ เพียงแต่ควรเป็นอาหารจากธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งด้วยผงชูรส ผงปรุงรส หรือปรุงด้วย น้ำตาล น้ำปลา ซีอิ๊วขาวมากจนเกินไป แต่หากพบว่า น้ำหนักและส่วนสูงตกเกณฑ์มาตรฐานควรให้เด็กกินอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีพัฒนาการเช่นเดียวกับเพื่อนในวัยเดียวกัน

“ผู้ปกครองควรให้เด็กกินอาหารว่างเพิ่มขึ้น หรือหากลูกเป็นเด็กกินยาก อาจใช้วิธีเพิ่มน้ำมันคุณภาพดี ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า หรือน้ำมันมะกอกลงในอาหาร สามารถทำเมนูหลากหลาย เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด หรือผักทอด เพื่อให้เด็กได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบต่อปริมาณอาหาร

“สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ฟอกเลือดหรือต้องล้างไตทางช่องท้อง ควรปรับเพิ่มการกินโปรตีนให้เพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไปขณะฟองเลือดหรือล้างไต โดยเพิ่มการกินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา หรือไข่ขาวอีกประมาณ 20 – 50 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ยกเว้นในเด็กอายุ 1 – 10 ขวบที่ฟอกเลือดผ่านทางช่องท้อง สามารถเพิ่มการกินเนื้อสัตว์ได้มากกว่าเดิมถึง 60 – 80 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ปกครองอาจเสริมในรูปของขนมโปรตีนสูง เช่น คัสตาสด์ไข่ขาว วุ้นไข่ขาว หรือของว่างเช่นขนมจีบ เกี๊ยวกุ้ง”

ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม

เมื่อไตเสื่อมจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย คือไตไม่สามารถทำหน้าที่กำจัดของเสียได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องใช้ไตเทียมทำหน้าที่ชะล้างของเสียที่คั่งค้างภายในร่างกายแทน อาจเลือกล้างไตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ล้างไตผ่านทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต ในกรณีนี้จะกล่าวถึงการล้างไตที่ไม่รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนไต

คุณเอกหทัยอธิบายว่า “สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะใช้วิธีการดึงเลือดของผู้ป่วยที่เต็มไปด้วยของเสียต่าง ๆ ออกมาผ่านเข้าเครื่องไตเทียม เมื่อเลือดไหลผ่านตัวกรองของเสีย และเกลือแร่ น้ำส่วนเกินในเลือดจะถูกกรองทิ้ง เหลือแต่เลือดดีไหลกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอีกครั้ง แต่ระหว่างที่เลือดไหลไปเพื่อกรองของเสีย สารโปรตีนในร่างกายของคนไข้จะถูกกรองทิ้งไปด้วย”

กินถนอมไต : โดยเฉลี่ยผู้ที่รับการฟอกเลือดจะมีการสูญเสียสารโปรตีนในรูปของกรดอแอมิโนเฉลี่ยวันละ 27 – 39 กรัม หรือเทียบเท่ากับการกินไข่ขาว 8 – 12 ฟอง หากกินอาหารเหมือนก่อนฟอกเลือดอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงขาดโปรตีน ดังนั้นในระยะนี้ จึงต้องเปลี่ยนจากการจำกัดโปรตีนเป็นกินโปรตีนเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มโปรตีนหรือเนื้อสัตว์จากเดิมอีกเท่าหนึ่ง หรือประมาณวันละ 12 – 18 ช้อนแกง ส่วนผักผลไม้อื่นๆ แนะนำให้กินเหมือนช่วงก่อนรับการล้าง

ผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้อง

การล้างไตผ่านทางหน้าท้อง เป็นการขจัดของเสียในเลือดโดยใช้ผนังหน้าท้องของผู้ป่วยเป็นตัวกรองแทนเครื่องไตเทียม น้ำยาซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่จะถูกใส่เข้าไปในช่องท้อง หลังจากนั้นน้ำยาจะดูดซึมของเสียจากเลือดออกมา ในขณะเดียวกันน้ำตาลบางส่วนที่อยู่ในน้ำยาก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย หลังครบกำหนดเวลาก็จะปล่อยน้ำยาที่มีของเสียออกจนหมด แล้วเริ่มใส่น้ำยาใหม่เข้าไปในช่องท้องอีกครั้ง ทำทุกวัน วันละ 4 – 6 ครั้ง

กินถนอมไต : คุณเอกหทัยแนะนำว่า “การล้างไตวิธีนี้ทำให้ โปรตีนประมาณ 20 – 30 กรัมและเกลือแร่บางชนิดถูกกำจัดทิ้งตลอดเวลา พร้อมกับของเสียในเลือด ผู้ป่วยจึงเสี่ยงมีระดับโปรตีนไข่ขาว และโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ นอกจากนี้น้ำยาล้างไตที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง”

คุณเอกหทัยจึงแนะนำให้ผู้ที่ล้างไตผ่านทางช่องท้องกินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา หรือไข่เพิ่มขึ้นจากเดิมหนึ่งเท่า เช่นเดียวกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และควรกินผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง แตงโม แก้วมังกร มะขาม เสาวรส ผลไม้อบแห้งต่าง ๆ วันละ 2 – 3 จานรองถ้วยกาแฟ

และกินผักที่มีโพแทสเซียมปานกลางถึงสูงอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เช่น คะน้า แครอต ถั่วฝักยาว บรอกโคลี มะเขือเทศ มะระ ฟักทอง กะหล่ำปลีม่วง

ส่วนผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจลดการกินข้าวลงจากเดิม เพิ่มการกินผัก และหลีกเลี่ยงน้ำหวาน ของหวาน และขนมหวานต่าง ๆ ที่สำคัญคือผู้ป่วยยังต้องกินอาหารรสจืดเช่นเดิม

            ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการดูแลสุขภาพ เพียงปรับเปลี่ยนอาหาร ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เท่านี้ก็อยู่กับโรคไตได้อย่างมีความสุขตราบนานเท่านาน

ไตวายเฉียบพลัน Vs โรคไตเรื้อรัง

คุณเอกหทัยอธิบายการเกิดโรคไตว่า

 “อันดับแรกควรเข้าใจว่า โรคไตมี 2 ลักษณะ คือ โรคไตวายเฉียบพลัน และโรคไตเรื้อรัง หากได้ยินว่า คนใกล้ชิดเข้าโรงพยาบาลและเป็นโรคไตวายเฉียบพลันต้องรับการฟอกไตโดยด่วน ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า ไตพังและต้องเข้ารับการฟอกไตตลอดชีวิตนะคะ

“เพราะโรคไตวายเฉียบพลันเกิดจากไตมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงชั่วคราว เมื่อคุณหมอค้นหาและแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ไตไม่ทำงานเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ไตจะฟื้นตัวและเริ่มทำงานเป็นปกติในเวลา 2 – 3 สัปดาห์”

คุณเอกหทัยอธิบายสาเหตุการเกิดโรคไตวายเฉียบพลันสรุปว่า โรคไตวายเฉียบพลันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงไตลดลง เช่น ผู้ที่เสียเลือดมากจากอุบัติเหตุ ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อก มีความดันเลือดโลหิตต่ำ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

โรคไตเรื้อรัง อาจารย์นายแพทย์อรรถพงศ์  วงศ์วิวัฒน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่พบส่วนใหญ่เริ่มต้นจาก เป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตได้ จะส่งผลให้มีโรคแทรกซ้อนคือโรคไตเรื้อรัง ส่วนสาเหตุอื่น ได้แก่ โรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคนิ่วในไต หรือการใช้ยา ซึ่งมีพิษต่อไต เช่น กินยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

คุณหมออรรถพงศ์อธิบายเสริมว่า หากรู้ตัวว่า เป็นโรคไตเรื้อรัง แต่ยังคงตามใจปาก ปล่อยให้เนื้อไตจะถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ไม่นานจะกลายเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย ต้องเข้ารับการฟอกไตหรือรอรับบริจาคไต

ชีวจิต Recommened

ทำไมปัสสาวะบ่อยเมื่อเป็นเบาหวาน

            อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต อธิบายไว้คอลัมน์ ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2553 ว่า

“ 1.หน้าที่ของไตโดยตรงคือ ระบายของสกปรกหรือสิ่งที่มีเกินความต้องการของร่างกายออกไป 2.รักษาสิ่งที่มีประโยชน์ไว้ไม่ให้ออกไปสิ่งสกปรกอื่นๆ 3.เก็บรักษาสิ่งที่มีประโยชน์ไว้ตามอวัยวะต่างๆให้ถูกต้องตามที่ของมันด้วย

“ฉะนั้น เมื่อมีน้ำตาลในเลือดเกินปกติ (เป็นเบาหวาน) ไตก็ต้องทำหน้าที่ร่วมกับตับอ่อน เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง ตับอ่อนต้องสร้างฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้นเพื่อลดระดับน้ำตาล และไตก็ต้องทำหน้าที่ระบายน้ำตาลซึ่งสูงเกินควรออกทางปัสสาวะนั่นเอง”

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.