หยุดป่วยด้วย 3 วิถีไทย

 

ย้อนคิดๆ ดู พบว่าคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา มีสุขภาพแข็งแรงและส่วนใหญ่มีอายุยืนกว่าคนยุคนี้มากโข ส่วนคนรุ่นหลานอย่างเรา แค่อายุเข้าสู่เลข 2 ก็เริ่มเจ็บออดๆ แอดๆ กันแล้ว
นั่นเพราะวิถีชีวิตของคนยุคนี้เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมตะวันตก ต่างจากคนยุคก่อนที่ วิถีไทย สมัยนั้นช่างสอดคล้องกับหลักการของชีวจิตอย่างยิ่ง ทั้งการดูแลสุขภาพกาย ทั้งการกิน นอน พักผ่อน ออกกำลังกาย และทำงานอย่างสมดุล โดยไม่ลืมดูแลสุขภาพใจและดูแลสังคมในเวลาเดียวกันด้วย
ปักษ์นี้เราจึงขอพาคุณไปพบกับ สุขภาวะวิถีไทยหรือ ไทยเนส (Thainess) ที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพเลิศ

วิถีไทย …วิถีสุขภาพองค์รวม
แต่เดิม เราอาจเข้าใจว่า การมีสุขภาพที่ดี หมายถึงมีร่างกายแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งมาจากคำว่า “สาธารณสุข” เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อให้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Public Health หมายความว่า ความสุขกายของประชาชนทั่วไป ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วเป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพกายมากกว่าสุขภาพใจ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสของไทย กล่าวไว้ใน งานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่1 จัดโดยกระทรวงสาธารณสุขว่า
“องค์การอนามัยโลกให้นิยามคำว่าสุขภาพคือ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางกาย จิต และสังคม ต่อมาเมื่อได้เติมคำว่า Spiritual Well Being หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณเข้าไปด้วย ทำให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้น เป็นสุขภาวะ 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ จิตวิญญาณ (ปัญญา) และสังคม หรือเรียกว่าเป็นสุขภาพองค์รวม”
วิถีไทยดั้งเดิมนั้นก็จัดเป็นวิถีสุขภาพองค์รวมเช่นกัน เนื่องจากมีวัฒนธรรม การกินอยู่ ที่ช่วยให้ผู้คนได้มีความสุข ความสบายกายและใจและยังเป็นพลังขับเคลื่อนให้สังคมเปี่ยมสุขโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. กินอย่างไทย…ได้กำลังวังชา
    วัฒนธรรมการกินของคนไทยนั้นถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่งดงามและทรงคุณค่า เพราะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายให้แข็งแรง มีกำลังวังชาในการทำงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัวและห่างไกลโรค
    “ข้าวกับน้ำพริก” ถือเป็นวิถีการกินสำคัญของคนไทยตั้งแต่เก่าก่อน เป็นอาหารโอชารสและเป็นโอสถที่เพิ่มกำลังวังชา ลองมาดูว่า การเปิบข้าวและน้ำพริกแบบไทยๆ นั้นดีต่อสุขภาพอย่างไร
    • ข้าว อาหารหลักคู่คนไทย
    อาชีพหลักของชาวไทยคือ การทำนา เพื่อผลิตข้าวไว้บริโภค ส่งขาย หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่จำเป็น ดังนั้น ข้าว จึงเป็นทั้งอาหารหลักและอาชีพสร้างรายได้ของคนไทย
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอี่ยมทองดีสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
    “คนไทยเชื่อว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มีเทพธิดา ชื่อว่าแม่โพสพประจำอยู่เราจึงมีวัฒนธรรมและประเพณีเกี่ยวกับข้าวมากมาย
    “ผู้หลักผู้ใหญ่มักสอนให้เด็กเคี้ยวข้าวช้าๆ จนละเอียดแล้วจึงกลืนและต้องกินข้าวให้หมดจาน นอกจากเป็นการย้ำให้เห็นความสำคัญของข้าวและชาวนาแล้วการเคี้ยวข้าวทุกคำอย่างช้าๆ ยังเป็นกุศโลบายที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เพราะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานน้อยลง ช่วยกระตุ้นพลังแห่งการขบคิดและสร้างสมาธิ”
    อาจารย์เอี่ยมยังเล่าถึงวัฒนธรรมการกินข้าวของคนในสมัยก่อนว่า
    “ในอดีต คนไทยกินข้าวกล้อง ซึ่งสมัยก่อนเรียกกันว่า ข้าวซ้อมมือหรือข้าวแดง ชาวบ้านใช้วิธีตำข้าวกินกันเอง ซึ่งมักใช้ครกกระเดื่องตำ จึงเรียกว่าข้าวซ้อมมื้อ คนสมัยก่อนที่กินข้าวกล้องมักสุขภาพแข็งแรง หน้าตาไม่ซีดเซียว ไม่ขาดสารอาหาร นั่นเพราะเมล็ดข้าวยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่ครบ ข้าวกล้องจึงมีสีน้ำตาลอ่อน มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่อร่างกายสูง
    “และหากกินข้าวกล้องเป็นประจําใยอาหารจากข้าวกล้องจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ ได้”
    ข้าวแต่ละคำนี้มีคุณค่าต่อสุขภาพและจิตใจจริงๆเลยค่ะ
    • น้ำพริก ตำรับไทยไกลโรค
    น้ำพริกเป็นเมนูติดสำรับของคนไทยมาตั้งแต่โบราณและยังคงอยู่คู่โต๊ะอาหารมาจนถึงวันนี้ น้ำพริกถ้วยเล็กๆ ที่มีรสเผ็ดนิด เปรี้ยวหน่อยนั้นให้มีคุณค่าทั้งต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ของคนอยู่ไม่น้อย
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย กล่าวว่า
    “น้ำพริกเป็นอาหารคู่คนไทย ในแต่ละมื้อเราต้องมีน้ำพริกวางบนสำรับอยู่เสมอ ด้วยภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ที่ต้องการให้ผักริมรั้วกินอร่อยขึ้น ไม่ว่ายากดี มีจน มีมาก มีน้อย แต่เราทุกคนก็ตำน้ำพริกกินกับข้าวได้ อย่างไม่ขาดแคลน”
    น้ำพริกในแต่ละภาคของประเทศไทย จะมีรสชาติและเอกลักษณ์ที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น แต่น้ำพริกกะปิ ถือเป็นสุดยอดน้ำพริกที่คนทุกภาคต้องทำกินกัน เพราะรสชาติและคุณประโยชน์ที่ครบครัน

น้ำพริกกะปิ ขวัญใจมหาชน
อาจารย์ศรีสมร เล่าว่า “เด็กสมัยนี้บอกว่าน้ำพริกกะปิเหม็น แต่จริงๆ แล้ว เพราะเราตำกันผิดวิธี จึงทำให้เหม็น วิธีตำน้ำพริกที่ถูกต้องนั้น ต้องนำกะปิไปเผาเสียก่อน จากนั้นจึงเอามาตำพร้อมๆ กับกระเทียม ให้น้ำมันหอมระเหยจากกระเทียมกลบกลิ่นกะปิ เหม็นกับเหม็น มาเจอกัน กลายเป็นกลิ่นหอม
“เติมกุ้งแห้งป่นลงอีกนิด เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารและไม่ทำให้น้ำพริกเหลวจนเกินไป จากนั้น ใส่น้ำตาลปี๊บ ห้ามใช้น้ำตาลทราย เพราะน้ำตาลทรายให้รสหวานแหลม เป็นรสหวานแบบผู้ร้าย ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่น้ำตาลปี๊บทั้งหอมและดีต่อสุขภาพ เนื่องจากคนโบราณใช้ไม้พะยอมที่มีประโยชน์ในด้านการถนอมอาหารใส่ลงไปเคี่ยวรวมกับน้ำตาลด้วย จึงไม่ต้องใส่สารกันบูด
“เมื่อตำส่วนผสมจนได้ที่ก็บีบมะนาวตามลงไป จากนั้น ชิมสิว่า อร่อยหรือยัง แล้วค่อยๆ บุบพริกขี้หนูโรย อย่ารีบตำพริกไปพร้อมกับกระเทียม เพราะน้ำพริกเป็นอาหารของทุกคนในครอบครัว ถ้าพ่อแม่กินเผ็ด ก็ตักส่วนที่มีพริกไปกิน ส่วนลูกก็กินแต่น้ำ นี่คือศิลปะการกินอาหารร่วมสำรับ
“ส่วนเปลือกมะนาวที่เหลือ ให้นำไปตากแห้ง ใส่โถเล็กๆ เอาไว้ไล่ยุงในตอนเย็นนี่คือความเป็นไทยแท้ที่ทรงคุณค่าของเรา”
อาจารย์ศรีสมร เล่าปิดท้ายถึงสรรพคุณของน้ำพริกไว้ว่า
“กะปิ 100 กรัม ให้แคลเซียมมากถึง 3,600 มิลลิกรัม เราสามารถเรียกน้ำพริกกะปิว่า อาหารจานแคลเซียมเลยก็ว่าได้ ยิ่งกินกับผักแกล้มอย่าง ดอกแค มะเขือพวง ที่มีแคลเซียมสูงด้วยยิ่งดี คนสมัยก่อนจึงไม่เป็นโรคกระดูกพรุน
“หรือบางคนไม่สบาย นั่นเพราะเขาไม่ได้กินน้ำพริก เพราะในพริกมีสารแคปไซซิน(Capsaicin)mujช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างไขมันชนิดไม่ดี ในขณะเดียวกันก็เสริมให้มีการสร้างไขมันชนิดดีทำให้ปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำลง เป็นผลดีต่อสุขภาพ

“สิ่งสำคัญที่สุดของน้ำพริกคือ ถ้าเราไม่กินน้ำพริกแล้วอาชีพของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับน้ำพริกจะอยู่อย่างไร ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง ไหนคนที่ทำปลาร้า น้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาแห้ง พวกเขาจะทำอาชีพอะไรต่อไป”
เห็นหรือยังว่า ถึงถ้วยจะเล็กและหลายคนมักมองข้ามว่า ไม่ใช่อาหารจานหลัก แต่น้ำพริกนี่แหละ ที่เป็นพระเอกตัวจริงของคนไทย

2. รักษากายยามป่วยแบบไทย
คนไทยเรามีวัฒนธรรมในการดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วยและมีระบบการแพทย์เป็นของตัวเองซึ่งได้รับการสืบทอดความรู้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพรที่ขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลาย
• ปลูก(สวน)ยากลางบ้าน
อาหารกับยา เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถกำหนดสุขภาพพลานามัยของเราทุกคน บรรพบุรุษของเราได้ใช้ประสบการณ์ในการเลือกสรรอาหารจากพืช สัตว์ แร่ธาตุมาใช้ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเราเรียกภูมิปัญญาอันชาญฉลาดนี้ว่า “ยากลางบ้าน”
อาจารย์จิตวิไล ประไมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อธิบายว่า

“ในชนบทอีสานช่วงต่อระหว่างปลายฤดูฝนกับต้นฤดูหนาวนั้น ดอกแคจะผลิบานสะพรั่งรับลมหนาว เด็กๆ มักเจ็บป่วยเป็นไข้หัวลม เนื่องจากอากาศเปลี่ยนแปลง แม่จะเก็บดอกแคมาปรุงเป็นอาหาร โดยการลวกหรือผัดไว้จิ้มน้ำพริก หรือทำแกงส้มดอกแค เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันว่า ดอกแคมีสรรพคุณแก้ไข้หัวลมช่วยป้องกันไข้อันเกิดจากฤดูเปลี่ยน
“ส่วนช่วงฤดูฝน พื้นที่ภาคใต้จะมีความชื้นสูง คนเป็นหวัดได้ง่าย มีอาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ การนำผักริมรั้ว เช่น ใบชะพลู พริกไทยอ่อน มะเขือพวง เป็นต้น มาปรุงอาหาร ก็สามารถบรรเทารักษาอาการเหล่านี้ได้”
แต่ปัจจุบันวิถีไทยการดูแลสุขภาพในลักษณะนี้เริ่มเลือนหายไป เนื่องจากผู้คนไม่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของธรรมชาติต่อสุขภาพร่างกาย ดังนั้น การหันกลับมาดูแลสุขภาพแบบเดิม โดยเลือกกินสมุนไพร พืช ผักให้ตรงตามฤดูกาลก็จะเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพและอาการเจ็บป่วย
วิธีที่จะช่วยสนับสนุนการกินของเราคือ การเจียดพื้นที่เล็กๆรอบบ้าน ระเบียงคอนโดมิเนียมมา
ปลูกพืชผักสมุนไพร เพื่อนำมากิน หรือใช้เป็นยากลางบ้าน และเราสามารถหยิบยื่น แลกเปลี่ยนพืชผักกับเพื่อนบ้าน เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

• ซาวน่าไทย(กระโจม)ดีท็อกพิษ
การเข้ากระโจมอบสมุนไพร หรือการทำซาวน่า คือ วิธีดูแลสุขภาพอนามัยของหญิงหลังคลอด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลาที่คั่งค้าง ทำให้แผลที่ช่องคลอดแห้งเร็วขึ้น หลังจากหญิงหลังคลอดนอนย่างไฟ(หนึ่งในขั้นตอนการอยู่ไฟ)มาหลายวัน จะมีเหงื่อไคลหมักหมม จึงจำเป็นต้องมีการชำระล้างร่างกาย โดยแทนที่จะอาบน้ำเย็นธรรมดาก็ใช้วิธีการอาบน้ำร้อนที่ต้มกับสมุนไพร
ปัจจุบันการเข้ากระโจมไม่ได้ใช้ในการอยู่ไฟเท่านั้น แต่ได้นำมาใช้เพื่อดูแลสุขภาพในรูปแบบอื่นด้วย เพราะมีวิธีคล้ายคลึงกับการอบไอน้ำหรือซาวน่าซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยขับพิษ หรือท็อกซินต่างๆออกจากร่างกาย ผ่านทางรูขุมขน เป็นการกำจัดน้ำเหลืองเสีย บำรุงผิวหน้าไม่ให้เกิดฝ้า บำรุงผิวพรรณให้สดใส และแก้อาการหวัด

ซาวน่าไทย ทำตามได้ ง่ายนิดเดียว
วิธีทำซาวน่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องยุงยาก เราสามารถทำเองได้ที่บ้าน ดังนี้
1. หากไม่มีตู้ซาวน่า สามารถเตรียมกระโจม โดยใช้สุ่มไก่ใบใหญ่ ๆ คลุมด้วยผ้าห่มให้เกือบมิด โดยเปิดช่องด้านบนไว้หายใจ
2.จัดเตรียมสมุนไพร ได้แก่ ใบมะกรูด ใบมะขามแก่ ใบส้มป่อย ต้นตะไคร้ทุบแตก ตัดเป็นท่อนสั้น หอมเล็กทุบแตก ไพลหั่นเป็นแว่นในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ใส่ลงในหม้อใบใหญ่ เติมน้ำให้ท่วมตัวยา ปิดฝาต้มให้เดือด
3.นำหม้อต้มสมุนไพรที่เดือดแล้วเข้าไปวางในกระโจม จากนั้นค่อย ๆ เปิดฝาหม้อต้มสมุนไพรโรยการบูรหรือพิมเสนไปทีละน้อย ๆ แล้วเผยอฝาหม้อไว้เล็กน้อย
4. เข้าไปนั่งในกระโจมกระโจม โดยใช้เวลาเพียง 10-15 นาที หรือกระทั่งน้ำสมุนไพรอุ่น เมื่อครบกำหนดเวลา ให้ออกมานั่งพัก รอจนร่างกายแห้งเพื่อเป็นการปรับอุณหภุมิของร่างกายแล้วจึงค่อยอาบน้ำ สระผมด้วยน้ำต้มสมุนไพรที่เหลือ

3. สุขใจฉบับไทย ห่างไกลโรคเครียด
นอกจากเรื่องการดูแลสุขภาพกายแล้ว วิถีไทยยังเน้นเรื่องการดูแลใจและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตด้วยยิ่งปัจจุบันถือเป็นยุคของการแข่งขัน ผู้คนมีจิตใจไม่เป็นสุข เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคที่มาพร้อมกับความเครียดอย่าง โรคไมเกรน โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง รวมไปถึงการฆ่าตัวตายด้วย
แต่ถ้าลองกลับไปใช้ชีวิตตามแบบไทยเดิม อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ รู้จักปล่อยวาง มีความสุข และมีสุขภาพใจที่ดียิ่งขึ้นได้
• สวดมนต์ ไหว้พระ โอสถบำรุงใจ
ศาสนา ถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยมาช้านาน ซึ่ง 3 ใน 4 ของคนไทย นับถือศาสนาพุทธ และนั่นทำให้การดำเนินชีวิตเรามีวิถีพุทธแทรกอยู่ทุกวัน ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ปราชญ์ราชบัณฑิต และเป็นนักธรรม 9 ประโยค ให้ความเห็นว่า
“คนเราจะมีสุขภาพแข็งแรง หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจิตใจ ใจต้องมีศีลธรรม และมีคุณธรรม ถ้าจิตใจดี กายก็จะดีตามไปด้วย และการจะทำให้จิตใจของเราดีได้นั้น เรามีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำทาง”
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับจิตใจ แต่ยังช่วยยกระดับสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
อาจารย์เสฐียรพงษ์ กล่าวว่า “จะเห็นว่าโรคภัยบางโรค อาศัยเพียงวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการรักษาทางจิตใจด้วย เพราะถ้าใจสงบ สิ่งต่างๆ ก็ดีตาม
“คนสมัยก่อน เชื่อว่า โรคภัยมาจากผีสาง เพราะเราต่างก็นับถือผี แต่เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาในประเทศไทย หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้เรามีสติ และเริ่มทำสมาธิ หลักของเหตุและผลจึงเกิดขึ้น เราอาจไม่เลิกไหว้ผี แต่เราก็รู้จักไหว้พระ
“ก่อนออกจากบ้าน เราต้องไหว้พระ เพราะการไหว้พระคือ การเตือนให้มีสติก่อนเริ่มวันใหม่ ขณะที่ก่อนนอน เราสวดมนต์ ซึ่งเป็นการทำจิตใจให้สงบ และเหมือนเป็นการพักผ่อนร่างกายไปในตัว หลังสวดมนต์เราจึงรู้สึกผ่อนคลาย และหลับสบายยิ่งขึ้น”
แต่คนสมัยใหม่อาจสงสัยว่า การสวดมนต์จะช่วยรักษาโรคร้าย หรือสามารช่วยให้เราหมดทุกข์ หมดโศก ได้จริงหรือ อาจารย์เสฐียรพงษ์ อธิบายว่า
“ในบทสวดมนต์ เราอาจสวดด้วยบทชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วจะมีความหมายถึงการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ช่วยปกปักษ์คุ้มครอง
“หลายคนคิดว่า เพียงสวดมนต์จะช่วยได้หรือ สิ่งนี้สามารถช่วยคุณได้จริง คนบางคน ป่วยเพราะจิต ป่วยเพราะความเครียด ร่างกายจึงไม่แข็งแรงสมบูรณ์ แต่การฝึกพัฒนาจิตใจ หรือการทำสมาธิ ส่งผลให้จิตใจสงบ โรคที่เป็นอยู่ก็เบาบางลง หรือจิตใจของผู้ป่วยเข้มแข็งขึ้น จนผ่านพ้นโรคเหล่านั้นไปได้
“นอกจากนี้ การแผ่เมตตา ยังช่วยให้จิตใจสว่างขึ้น ทำให้เรารู้จักปล่อยวาง ไม่คิดร้าย ความสุขจึงบังเกิด แต่ทั้งนี้ ถ้าได้ลองศึกษาบทสวดมนต์ หรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าได้สอดแทรกหลักคำสอนที่ว่า การสวดมนต์นั้นสร้างมงคลชีวิต
“มงคงชีวิต ต้องมาจากภายในและมงคลภายนอก มงคลภายในคือ การสวดขอพร ทำใจให้สงบ ขณะที่มงคลภายนอกคือ เราต้องรู้จักทำเอง หากอยากมีสุขภาพที่ดี ต้องสวดขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์ และดูแลร่างกายของตนเองควบคู่กันไปด้วย”
พระพุทธศาสนา อาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่สังคมยุคใหม่นึกถึงในวันที่เจ็บป่วย แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนความคิด แล้วยกให้พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งแรกในจิตใจ ความสงบ มีสติ และสมาธิ จะทำให้คุณพบความสุขได้อย่างไม่ยากเลย

…นอกจากวิถีสุขภาพอันดีงามตามแบบไทยที่กล่าวมา ชาวไทยในอดีตยังให้ความสำคัญกับการอยู่กันเป็นครอบครัวขยายที่มีคนหลายๆ รุ่นคอยดูแล สั่งสอน และส่งต่อเรื่องราวดีๆ ให้แก่กันผ่านจากรุ่นสู่รุ่น การดูแลกันในลักษณะนี้มักช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้มแข็ง ไม่มีช่องว่างให้ปัญหาต่างๆ เข้ามาแทรกได้
นอกจากนี้วิถีการปลูกเรือนใต้ถุนสูงอย่างไทย ยังเหมาะสมกับภูมิประเทศที่มีน้ำหลากท่วมอยู่เสมอในหลายท้องถิ่น ปัญหาสุขภาพที่มากับน้ำจึงไม่ค่อยได้กร้ำกรายคนในอดีต อีกทั้งเรือนใต้ถุนสูงนี้ยังช่วยให้อากาศเมืองร้อนได้ไหลเวียน คนในบ้านจึงอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
แม้ยุคนี้หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่เราก็ยังสามารถนำวิถีชีวิตแบบไทยนี้กลับมาใช้ได้เสมอ …เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพกาย ใจที่ดี และได้กลับมาอยู่ท่ามกลางสังคมที่สงบสุข ปลอดภัย และอบอุ่นอีกครั้ง

อย่าเข้ากระโจมนะจ๊ะ ถ้ามีอาการนี้

       การเข้ากระโจมนั้นก็มีข้อควรระวังสำหรับบุคลลหรือผู้มีอาการดังต่อไปนี้

  1. ผู้หญิงหลังคลอด 1- 2 วันไม่ควรเข้ากระโจม เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ ควรเว้นระยะออกไปประมาณ 4-5 วัน ให้แน่ใจว่าร่างกายแข็งแรงพอ
  2. มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน กำลังหิวข้าว หิวน้ำหรืออิ่มเกินไป
  3. เป็นไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือกำลังคลื่นไส้อาเจียน
  4. เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหืด โรคลมชัก และโรคไต

Did you know ?

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2551 พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีจํานวนครอบครัวประมาณ 18.3 ล้านครอบครัว เป็นครอบครัวเดี่ยวร้อยละ 53.9 ครอบครัว และครอบครัวขยายเพียงร้อยละ 34.5 อยู่คนเดียวร้อยละ 11.2 อยู่กับคนที่ไม่ใช่ญาติร้อยละ 0.6 โดยมีแนวโน้มว่าครอบครัวเดี่ยวและคนที่อยู่คนเดียว(โสด)มีจํานวนมากขึ้นในขณะที่ครอบครัวขยายมีแนวโน้มลดลง

ข้อมูลเรื่อง “หยุดป่วยด้วย 3 วิถีไทย ” จากนิตยสารชีวจิตฉบับที่ …

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.