ป่วยทางจิต

เช็คด่วน! ก่อนป่วยทางจิต

เช็คด่วน ! ก่อน ป่วยทางจิต

ขอพูดถึงอาการซึมเศร้าของผู้ที่มีอาการ ป่วยทางจิต ซึ่งแบ่งออกเป็นสองพวก

พวกแรกคือ มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งอาจารย์ เอ. จอห์น รัช (A. John Rush) จิตแพทย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ใช้ภาษาเฉพาะด้านจิตวิทยาเรียกว่า “SITUA-TIONAL” ท่านได้พบผู้ป่วยทางจิตหลายคนซึ่งมีอาการซึมเศร้าอย่างเฉียบพลันหรือรุนแรง สืบเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุ

อาจารย์รัชได้ยกตัวอย่างสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ฟ้า อากาศ โดยเฉพาะในถิ่นเมืองหนาวที่อากาศหนาวมาก มิหนำซ้ำยังมีพายุหิมะตกหนักหนาสาหัส ท้องฟ้ามืดมัวและมืดครึ้มเหมือนกลางคืน

ซึมเศร้า

อากาศแบบนี้ทำให้บางคนมีอาการซึมเศร้า และมีผู้ฆ่าตัวตายเพราะสิ่งแวดล้อมภายนอกนี้ซึ่งเป็นตัวกดดันทำให้เกิดอาการเบื่อชีวิตขึ้นมาได้นั่นเอง

พวกที่สอง อาจารย์รัชได้ชี้ให้เห็นว่า มีสาเหตุมาจากภายใน โดยใช้ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า “กลุ่ม ENDOGENOUS หรือ INTERNAL”

เฉพาะกลุ่มหลังนี้ ต้นเหตุมักจะมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกาย อาจจะเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต หรือต่อมไร้ท่อหลายๆต่อมก็ได้
หรือแม้แต่เมื่อสูงอายุขึ้น ฮอร์โมนบางตัว โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศจะมีความผิดปกติ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

เชื่อหรือไม่ ? ความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศนี้ ไม่ใช่ เกิดเฉพาะคุณผู้หญิงบางท่านที่มีอาการวัยทองเท่านั้น แม้คุณผู้ชายสูงอายุบางคนก็มีฮอร์โมนเพศลดลง จนเกิดอาการ “วัยทอง” และอาการ “ซึมเศร้า” ได้เหมือนกัน

แต่ตามสถิติผู้ชายจะมีอาการดังกล่าวนี้น้อย และโดยทั่วไปผู้หญิงจะมีอาการมากกว่าผู้ชาย (ไม่ค่อยแฟร์นะครับ)

นอกไปจากนั้นยังมีอาการผิดปกติของระบบอื่นในร่างกายอีก เช่น ระบบย่อยอาหาร บางคนขาดสารอาหารประเภทวิตามินและแร่ธาตุ ก็จะมีอาการซึมเศร้าได้ หรือบางคนมีอาการผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาท เช่น เป็นโรคพาร์กินสัน ก็สามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกเช่นกัน

ป่วยทางจิต

เอาละครับ เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้าแล้ว คงจะต้องพูดถึงโรคเกี่ยวกับทางจิตอื่นๆด้วย

โรคทางจิตชนิดที่หนักหนาสาหัส จนกระทั่งมีอาการแบบที่ชาวบ้านอย่างเราเรียกว่า “เพี้ยน” นั้น เรามักจะรวมกันเรียกว่า “จิตเภท” หรือ “PSYCHOSIS”

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

ถ้าพูดถึงเรื่อง “จิตเวช (PSYCHIATRY) ” จะพบว่า เป็นสาขาใหญ่ของการแพทย์ ซึ่งรวมโรคต่างๆ ทางจิตเภทไว้หลายโรค และในจำนวนหลายโรคนี้ โรคซึมเศร้าดูจะเป็นโรคมีอาการเบาที่สุด ในด้านการรักษาซึมเศร้านั้น อาจารย์รัชกล่าวว่า เป็นโรคที่รักษาได้ผลแน่นอน มีตัวยาหลายตัว ซึ่งเป็นประเภท ANTIDEPRESSANTS หรือยาแก้โรคซึมเศร้าได้ผล

ผมไม่ได้ศึกษาทางด้านจิตเวชโดยตรง แต่ได้ศึกษาด้าน EXPERIMENTAL PSYCHOLOGY และได้เคยคลุกคลีกับคนไข้จิตเภทหลายคน จึงมีความเห็นว่า การรักษาดูแลผู้ป่วยด้านจิตเวชของต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกนั้น แตกต่างกับประเทศไทยของเราอย่างมากมาย ทางตะวันตกให้การดูแลคนไข้ด้านจิตเวชอย่างจริงจังได้ผล มีสถานพยาบาล หรือคลินิกซึ่งรับคนไข้เหล่านี้ไปดูแลและรักษาพยาบาล

โดยเหตุที่ระบบการรักษาพยาบาลและผู้ที่อยู่ในสังคมตะวันตกนั้น อยู่ในลักษณะที่เอื้อเฟื้อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อป่วยทางด้านจิตเวช และเห็นว่าผู้ป่วยต้องมีผู้ดูแลรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ก็สามารถนำผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในการรักษาพยาบาลของรัฐได้เป็นอย่างดี

โรคซึมเศร้า

สำหรับประเทศไทยของเรา การรักษาดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชยังขาดแคลนอยู่มาก และไม่ว่าผู้ป่วยจะป่วยโรคอะไร หากไม่ถึงกับล้ม หมอนนอนเสื่อ การรักษาพยาบาลนั้นมักจะไปตกอยู่กับสมาชิกในครอบครัวซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านั้นไปเอง

ผมได้พบผู้ป่วยหลายคนซึ่งมีอาการทางจิตเวช และในขณะเดียวกันก็สนใจและเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพจิตของผู้ป่วยนี้ ทั้งที่ป่วยมากจนพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือป่วยน้อย ซึ่งน่าจะได้รับการรักษาเสียแต่เนิ่นๆก็คงจะหายเป็นปกติได้

แต่เนื่องจากระบบการแพทย์ของเมืองไทยยังขาดแคลนทั้งสถานที่ที่รักษาพยาบาล ขาดแคลนทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขาดแคลนทั้งการค้นคว้าศึกษาวิจัยในด้านจิตเวชอย่างลึกซึ้ง หน้าที่ซึ่งจะต้องดูแลผู้ป่วยจึงตกอยู่กับผู้ใกล้ชิด และสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยเสียเป็นส่วนมาก

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

ผมเขียนบทความนี้ เพื่อมุ่งเตือนเพื่อนๆ ชาวชีวจิตและเพื่อนๆ ร่วมสังคมและร่วมเป็นคนไทยของเราว่า อย่าเผลอไปคิดว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดเรานั้นจะไม่มีวันป่วย หรือจะไม่มีวันเป็นอะไร โดยเฉพาะมีความผิดปกติในด้าน “ป่วยทางจิต”

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ จากคนไข้และญาติคนไข้หลายๆคน ที่เคยมาปรึกษาเรื่องการเจ็บป่วยกับผมเอง หลายคนจะพูดว่า “ไม่นึกเลยว่าเขาจะป่วย เพราะเห็นหน้ากันอยู่ทุกวัน เขาก็แข็งแรงเป็นปกติดี”

นั่นแหละครับ ผมจึงได้เน้นว่า “อย่าลืมมองคนใกล้ตัวของคุณบ้าง”
ต่อไปนี้คือคำแนะนำธรรมดาๆแบบชาวบ้าน ขอให้คุณลองดูคนใกล้ชิดของคุณว่ามีความผิดปกติ อย่างนี้บ้างไหม

  1. การเคลื่อนไหวช้าลงหรือเปล่า ข้อนี้ระบุไว้ได้แน่นอนว่า ถ้าเขาหรือเธอเคยเป็นคนกระฉับกระเฉงว่องไว อยู่ๆก็ทำอะไรช้าลง เนือยลง แปลว่า เขาต้องป่วยไม่ทางกายก็ทางจิตบ้างละ
  2. ท่าทางผิดปกติ เช่น เดิมเป็นคนเดินตัวตรง อยู่ ๆ เดินหลังโกงคอตก อย่างนี้คงมีอะไรป่วยแน่ ๆ
  3. ทำหน้าบูดหน้างอ ไม่อยากพูด ไม่อยากจา ไม่อยากพบใคร ทำท่าเหนื่อยเพลียไม่มีแรงตลอดเวลาเบื่อ
  4. เบื่ออาหาร
  5. น้ำหนักลด
  6. ท้องผูก
  7. นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับๆตื่นๆ
  8. ตื่นขึ้นตอนเช้า รู้สึกเพลีย รู้สึกแย่ และเมื่อแย่ตอนเช้าแล้ว ก็จะแย่ไปตลอดวันเลย
  9. อาจจะยังทำงานทำการได้อยู่ แต่ผลงานแย่ลง ๆ เมื่อก่อนเป็นคนที่ใครๆ ก็นับถือว่าเก่ง แต่พักหลัง ๆ ดูเหมือนจะเชื่ออะไรไม่ได้เอาเสียเลยทำงานช้าลง
  10. ทุกสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญๆของคนคนนั้นหายไปหมด เช่น เคยแข็งแรงกลายเป็นอ่อนแอ พูดจาดีมีเหตุผล กลายเป็นไม่ยอมพูดกับใคร หรือพูดไม่รู้เรื่อง สรุปสั้นๆ ว่าความเป็นตัวตนของคนคนนั้นหายไปหมดแล้ว

อย่าลืมมองดูคนใกล้ชิดของคุณให้ดีๆ และอย่าลืมมองดูตัวคุณเองด้วย

โดย อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง-กูรูต้นตำรับชีวจิต

เรียบเรียงจากคอลัมน์ ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2553

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.