อัมพาตเปลี่ยนชีวิต…รู้จักชายผู้เกิดใหม่บนเส้นทางสายออร์แกนิก

โรคอัมพาต เปลี่ยนชีวิต…

คนเราเกิดได้ครั้งเดียว แต่บทเรียนชีวิตดีๆ อาจเปลี่ยนชีวิตได้ไม่ต่างจากการเกิดใหม่ เช่นเดียวกับชายคนนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็น โรคอัมพาต เพราะการใช้ชีวิตอย่างไม่ระวังและการดื่มสุราอย่างหนักทำให้เขาเกือบสูญเสียช่วงดีๆ ในวัยหนุ่มไป แต่การได้พักรักษาตัวท่ามกลางธรรมชาติริมน้ำเข็ก จังหวัดพิษณุโลก ทำให้เขาตัดสินใจพลิกชีวิตมาใช้เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และมีวิถีพึ่งพาธรรมชาติอย่างแท้จริง

นอกจากจะเยียวยาทั้งกายและใจของเขาแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังช่วยสร้างอาชีพใหม่ที่เขาภาคภูมิใจเนื่องจากได้กลับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีธรรมชาติ วันนี้เขาจึงเลือกที่จะหันกลับมาดูแลธรรมชาติตอบแทนบ้าง

เรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น คุณณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์อายุ 43 ปี เจ้าของเรนฟอร์เรสต์รีสอร์ท (Rain Forest Resort) และเรนฟอร์เรสต์ออร์แกนิกฟาร์ม (Rain Forest Organic Farm) ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จะมาถ่ายทอดให้ฟังค่ะ

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

อัมพาตชี้ทางคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ

หลังจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นคุณณัฐวัฒน์ในวัย 26 ปี กลับมาช่วยกิจการรับเหมาก่อสร้างของครอบครัว แม้จะยังเป็นเด็กหนุ่มแต่ก็รับผิดชอบงานเต็มที่ แต่เมื่อถึงเวลาสังสรรค์พักผ่อน ก็มีการดื่มสุราด้วย ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่า

“ขณะไปพักผ่อนที่เชียงรายกับครอบครัว ผมดื่มสุราเข้าไปมาก ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวฟาดพื้น ตอนที่พี่สาวเข้ามาดูนั้นผมรู้สึกตัวและได้ยินเสียงผู้คนที่อยู่รอบๆ แต่ขยับตัวไม่ได้เลย นั่นทำให้รู้ว่าเราเป็นอัมพาตไปแล้ว กว่าจะรักษาตัวจนลุกขึ้นมายืนได้อีกครั้งต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน

“ใจผมอยากหายป่วยไวๆ เมื่อคุณหมอที่เชียงรายให้ทำกายภาพบำบัด เช่น ให้เดิน 10 ก้าว เราก็เดินสัก 15 ก้าว พยายามทำไปเรื่อยๆ หลังจากออกจากโรงพยาบาล จึงมาเช่ารีสอร์ทใกล้ๆ ในอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากมีโอกาสขับรถผ่านที่แถวนี้ เห็นว่ามีภูมิประเทศสวยงามเลยเลือกใช้เป็นสถานที่พักฟื้น

“ตอนนั้นผมไม่รู้จักเรื่องธรรมชาติบำบัดหรืออะไรเลย เพียงแค่รู้สึกว่าการอยู่ที่นี่ เดินไปนิดเดียวเราก็เจอแม่น้ำ น้ำตก และต้นไม้เขียวชอุ่ม แค่นี้ก็สบายใจแล้ว นี่ล่ะครับ จุดเริ่มต้นของเรนฟอร์เรสต์”

ด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ณ ขณะนั้น ทำให้คุณณัฐวัฒน์ตัดสินใจว่า จะพักฟื้นและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ก่อนแทนที่จะกลับไปบ้านที่จังหวัดราชบุรี เขาจึงตัดสินใจใช้เงินเก็บของตัวเองซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่มีบริเวณด้านหลังติดแม่น้ำและปลูกบ้านไม้ไผ่หลังเล็กๆ 1 หลังเพื่ออยู่อาศัยเองและค่อยๆ ปรับปรุงพื้นที่ไปเรื่อยๆ ร่วมกับคนงานในช่วงเริ่มแรกที่มีเพียง 1 คน

การได้ทำงานและอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เช่นนี้ นับเป็นวิธีออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสุขภาพตนเองทางอ้อม ช่วยให้ร่างกายและจิตใจของเขาค่อยๆ สดชื่นขึ้น

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ตอบแทนธรรมชาติบำบัดก่อตั้ง “ชมรมรักษ์น้ำเข็ก”

ผ่านไป 20 ปี ปัจจุบัน คุณณัฐวัฒน์ ปรับปรุงพื้นที่เป็นรีสอร์ทสไตล์สวนป่าธรรมชาติ มีบ้านพัก 18 หลังรองรับนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนบริเวณน้ำตกแก่งโสภา หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมบนเส้นทางเลียบลำน้ำเข็ก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการความเงียบสงบและเห็นคุณค่าของการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเช่นเดียวกับเขา

สิ่งที่ตามมา คือ มุมมองเรื่องการใช้ชีวิตก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ซึ่งคุณณัฐวัฒน์ อธิบายว่า

“การทำงานกับคนงานที่นี่ สอนอะไรผมหลายอย่าง ทำให้เราเข้าใจและปรับตัว ลดความเคร่งเครียดและอยากสำเร็จแบบคนเมืองลงมากทีเดียว จากที่เคยทำงานรับเหมาก่อสร้างที่ต้องควบคุมทุกอย่างให้เสร็จตามกำหนด อยู่ที่นี่ก็ค่อยๆ ทำไป พอรีสอร์ทเริ่มลงตัวก็เริ่มมองไปที่จุดอื่นๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม”

เพราะรีสอร์ทอยู่ปลายน้ำ เขาจึงมักพบว่ามีขยะจำพวกกล่องโฟมและถุงพลาสติกลอยตามน้ำลงมาทุกวัน จากลำน้ำที่เคยใสสะอาด มาเปลี่ยนเป็นสกปรกจึงรู้สึกเสียดายประกอบได้ไปประชุมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จังหวัดพิษณุโลกอยู่เสมอจึงทราบข้อมูลว่า ปริมาณออกซิเจนของลำน้ำเข็กลดลงทุกปี

คุณณัฐวัฒน์ จึงมีคำถามกับตัวเองว่า หากไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง แล้วต่อไปแม่น้ำจะเป็นอย่างไร

“จุดเริ่มต้นก็มีอยู่เท่านี้ พอคิดได้ผมก็คุยกับคนงานเลยว่า วันจันทร์เช้าที่รีสอร์ทเรามีแขกน้อย งั้นหาคนงานที่สมัครใจ แบ่งเวลาครึ่งวันเช้าออกไปเดินเก็บขยะรอบๆ น้ำตกกันดีกว่า ทีแรกคนงานก็งงๆ นะ พอผมอธิบายและถ่ายภาพเปรียบเทียบสภาพก่อนและหลังเก็บขยะ เขาก็เข้าใจและเต็มใจทำงานอาสาร่วมกัน”

กิจกรรมเก็บขยะรอบๆ น้ำตกแก่งโสภาเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 เฉพาะคนงานในรีสอร์ทก่อน จากนั้น คุณณัฐวัฒน์ จึงสอบถามไปที่โรงเรียนรอบๆ บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนเห็นชอบจึงส่งเด็กนักเรียนมาร่วมกิจกรรม จาก 1 โรงเรียนขยายไปรวม 14 โรงเรียน ก่อนขยับออกไปสู่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ สู่กิจกรรมแยกขยะในชุมชน ในนาม “ชมรมรักษ์ลำน้ำน้ำเข็ก” ซึ่งก่อตั้งในปี 2550

การบ่มเพาะจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในพื้นที่รอบลำน้ำเข็กของชมรมฯ ทำผ่านกิจกรรมล่องแก่งเก็บขยะก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งจัดขึ้นทุกปี ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่อยู่ในตำบลแก่งโสภา ซึ่งล้วนได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนี้ หันมามองเห็นคุณค่าของธรรมชาติ จากเดิมที่เป็นผู้รับ คราวนี้กลับมาเป็นผู้ให้และมีจิตสำนึกในการดูแลลำน้ำแห่งนี้ร่วมกัน

ประสบการณ์ที่คุณณัฐวัฒน์ถ่ายทอด พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จได้ ขอเพียงลงมือทำด้วยความตั้งใจจริง เมื่อผู้อื่นมองเห็นคุณค่าของงานดังกล่าวก็จะเกิดการขยายผลออกไปตามธรรมชาติ ดังสำนวนที่ว่า ธรรมะจัดสรร ซึ่งต่อมา กิจกรรมของชมรมได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเป็นแหล่งดูงานด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรอีกด้วย

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

จัดการสิ่งแวดล้อมในรีสอร์ทสู่ฟาร์มออร์แกนิกครบวงจร

เมื่องานด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนโดดเด่น ถึงจุดหนึ่ง คุณณัฐวัฒน์ เริ่มหันกลับมาทบทวนว่า น่าจะหันมาจัดการเรื่องขยะภายในรีสอร์ทอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน จึงเริ่มมีการแยกขยะ และนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ย ในที่สุดก็พัฒนาเป็นแนวคิดการทำฟาร์มออร์แกนิกบนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามรีสอร์ทอีก 7 ไร่

จากเดิมเป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านเช่าเพื่อเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง คุณณัฐวัฒน์ จึงนำพื้นที่มาปรับปรุงจนกลายเป็นสวนเกษตรครบวงจร เพื่อเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบในการใช้ปรุงอาหารให้แขกในรีสอร์ท ซึ่งเริ่มทำในปีพ.ศ.2554 และกลายเป็นแหล่งอบรมการทำเกษตรตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจในพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงานได้

“ทุกวันนี้ ที่ฟาร์มของเรามีผลิตภัณฑ์ไม่มากนัก เรามีผักหมุนเวียนตามฤดูกาลประมาณ 10 ชนิด ผลไม้ยืนพื้นก็เช่น กล้วย แก้วมังกร ฟักข้าว และสับปะรด ตอนนี้กำลังทดลองปลูกบีทรูท แม้อุณหภูมิจะไม่หนาวจัด แต่ก็มีผลผลิตออกมาบ้าง ซึ่งนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ผสมกับน้ำสับปะรดและมะนาวให้บริการแขกที่รีสอร์ทครับ”

ขณะนี้ ที่ฟาร์มมีการผลิตตั้งแต่ผักสวนครัว สมุนไพร ผลไม้ เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ทั้งไก่ไข่และปลาดุก เบื้องต้นนำมาทำเป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารในฟาร์ม บางส่วนกำลังทดลองจัดส่งไปขายในตัวเมืองจังหวัดพิษณุโลก โดยให้ลูกค้าติดต่อสั่งซื้อเข้ามาทางหน้าเพจเฟซบุ๊คของรีสอร์ทและแอปพลิเคชั่นไลน์(Line)

นอกจากนี้ ยังนำสมุนไพรที่ปลูกในฟาร์ม เช่น ตะไคร้ มะกรูด และอัญชัน มาทำสบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจาน เพื่อให้บริการแขกในรีสอร์ท ช่วยลดต้นทุนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยังเป็นจุดเด่นของรีสอร์ทที่ช่วยให้แขกที่เข้าพักมองเห็นคุณค่าของการทำเกษตรพอเพียงว่า ใช้เป็นพื้นฐานนำสู่การใช้ชีวิตในวิถีปลอดสารเคมีได้อย่างแท้จริง

จากความตั้งใจของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติว่า ช่วยฟื้นฟูสุขภาพของตนเองได้ คุณณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ ได้ลงมือทำทีละน้อยๆ ขยายผลออกไปสู่การทำงานในรีสอร์ทของตนเอง ก่อนจะพัฒนามุมมองออกไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชุมชนนับได้ว่าวิถีออร์แกนิกเป็นคำตอบให้เขาพบวิถีแห่งปัญญา เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับสู่ผู้ให้

ทำหน้าที่ส่งต่อความสุขเรียบง่าย ซึ่งตนเองเคยได้รับจากธรรมชาติทั้งต้นไม้และสายน้ำ คืนกลับสู่สังคมเล็กๆ และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ลำน้ำเข็กอีกครั้ง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.