วางแผนสุขภาพวันนี้ : ประหยัดงบฯรัฐ ประหยัดเงินเรา

ในช่วงที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ คนวัยทำงานมักไม่ค่อยให้ความสนใจกับสุขภาพมากนัก แต่เมื่อล่วงเลยวัยกลางคน เราจะเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าสุขภาพกับความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องเดียวกัน ยิ่งหากเกิดปัญหาสุขภาพในช่วงที่ไม่มีความพร้อมทางการเงินเลย ปัญหาอื่นๆ คงตามมาอีกมากมาย

ชีวจิต จึงอยากเชิญชวนคุณผู้อ่านมาเตรียมตัววางแผนดูแลสุขภาพเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าให้ไม่ต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งคำนวณดูแล้วมีมูลค่ามหาศาลจนต้องตกตะลึงกันเลยทีเดียว

ทำไมต้องวางแผนดูแลสุขภาพ

การวางแผนดูแลสุขภาพ เช่น การเลือกสรรเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสร้างความแข็งแรง การผ่อนคลายความเครียด และรู้จักพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังทำให้อายุยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีอิสระในการทำสิ่งที่ชอบหรือสามารถเดินตามความฝันโดยไร้อุปสรรคด้านพละกำลัง มาขัดขวาง

ส่วนในแง่ของเงินทอง โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เราก็ไม่ต้องเสียเงินทองไปกับค่ารักษาพยาบาล ทำให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณได้อย่างสบายๆ ตรงกันข้าม หากสุขภาพย่ำแย่ เจ็บป่วยบ่อย โอกาสหารายได้ก็ลดลง หรือหากเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูงๆ การจะเป็นผู้รวยทรัพย์ก็คงจะยากเสียแล้ว เพราะต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปกับค่ายาค่าหมอ

รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวว่า

“การวางแผนสุขภาพไปพร้อมๆกับการเงิน เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมนุษย์เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในอนาคต จึงจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุมีผลเพื่อเก็บไว้ใช้ในวันข้างหน้า การดูแลสุขภาพให้ดีกับการใช้เงินเป็น จึงได้ประโยชน์สองเท่าคือ มีร่างกายแข็งแรงและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค

“เวลาเจ็บป่วยอาจต้องใช้เงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิตเพื่อรักษาโรคแต่การมีร่างกายแข็งแรงนั้นเหมือนการสะสมทรัพย์สินไว้ใช้ยามเกษียณ เพราะคนที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถมีชีวิตการทำงานที่ยืนยาวกว่า มีเงินทองสะสมเพิ่มขึ้น สามารถนำเงินทองไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นๆ ได้ และสามารถนำทรัพย์สินจากเงินที่เก็บออมหรือดอกเบี้ย ไปใช้เพื่อการลงทุน ทำการค้า ทำให้มีเงินเพิ่มและมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น”

จ่ายขนาดนี้ รีบดูแลสุขภาพจะดีกว่า

          เพราะการเชิญชวนคุณผู้อ่านมาวางแผนดูแลสุขภาพอาจยังไม่เร้าใจพอ เราจึงนำเสนอค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งโรคต่างๆที่ยกตัวอย่างนี้ เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และมักเป็นเมื่อมีอายุมากขึ้นไปจนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ

โดยมีข้อมูล เกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเรื้อรังในประเทศไทย จากสำนักนโยบายยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ.2551 พบรายละเอียดดังนี้

โรคเรื้อรัง                     จำนวนผู้ป่วยรวม          ค่ารักษาผู้ป่วยรวมต่อปี ค่ารักษาต่อคนต่อปี

ไตวายระยะสุดท้าย         30,000 คน                         6,000 ล้านบาท                     200,000 บาท

หลอดเลือดสมอง            0.5 ล้านคน                      20,632 ล้านบาท                        41,264 บาท

เบาหวาน                             3 ล้านคน                      47,596 ล้านบาท                        15,865 บาท

หัวใจ                                   4 ล้านคน                      154,846 ล้านบาท                     38,711.5 บาท

ความดันโลหิตสูง              10 ล้านคน                    79,263 ล้านบาท                        7,926.3 บาท

 

เมื่อเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เหล่านี้ ก็มีโอกาสเป็นยาวนานนับ 10 ปี ดังนั้นลองนำ 10 คูณจำนวนเงินค่ารักษาต่อคนต่อปีเข้าไป ก็จะพบว่า มีค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนหลักแสนถึงล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เมื่อดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายจริงของผู้ป่วยในแต่ละโรคแล้ว ก็พบว่ายังรายจ่ายแฝงที่มากกว่านี้ ทั้งค่าเดินทาง ค่าจ้างคนดูแล ค่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายเมื่อนอนโรงพยาบาล ค่าผ่าตัด ฯลฯ รวมทั้งการรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคดังกล่าว

ส่วนโรคมะเร็งซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ยังไม่พบตัวเลขที่สำนักนโยบายยุทธศาสตร์รวบรวมไว้ จากข้อมูลที่รวบรวมในเบื้องต้นพบว่า โรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 120,000 – 1,200,000 บาท ต่อคนต่อปี หรืออาจสูงกว่านี้

และยังมีโรคอื่นๆที่ไม่ได้เอ่ยอีกหลายโรคซึ่งเราทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยได้ตลอดเวลา และทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน

        แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจนอาจารย์สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวถึงโรคที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงเป็นอันดับต้นๆ ว่า

“ในโรงพยาบาลรัฐ มีค่าใช้จ่ายโรคหัวใจสูงมากจากการผ่าตัด หากต้องทำการสวนหัวใจก็จะเสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 30,000-40,000 บาท ถ้าต้องขยายหลอดเลือดหัวใจ และใส่ขดลวดเพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายเป็นแสนค่ะ”

หากรักษาโรคหัวใจในโรงพยาบาลเอกชนก็จะมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 3 ถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลรัฐบาล คุณหมอสิรินทร อธิบายต่อว่า

“โรคมะเร็งนี้ถ้าจะสู้กันต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เดี๋ยวนี้ยารักษามะเร็ง เข็มละเป็นแสนก็มี ชนิดเม็ด ราคาเม็ดละ 8,000-10,000 บาท ก็มี แถมต้องกินทุกวัน ดังนั้น คนทั่วไปจึงต้องดูแลตัวเองและสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อพบมะเร็งในระยะแรก ในแง่ของการรักษาและเรื่องค่ารักษาพยาบาลก็จะเป็นไปในทางที่ดีมากกว่าพบเมื่อมีอาการมากแล้ว

“เมื่อเจ็บป่วยแล้ว เราก็ไม่สามารถใช้ร่างกายได้อย่างเดิม ทำให้เสียโอกาสในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ไม่สามารถทำงานหารายได้ ไม่ใช่เฉพาะเสียสตางค์อย่างเดียว ยังหาสตางค์ก็ไม่ได้ด้วย”

ป่วยแล้ว มีแต่เสียกับเสีย

เมื่อเป็นโรค โดยเฉพาะโรคที่มีค่ารักษาพยาบาลสูง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินเท่านั้น ยังมีทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค

คุณหมอสิรินทรยกตัวอย่างปัญหาการรักษาโรคบางโรค เช่น ความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่มีอาการไม่มาก แต่หากทิ้งไว้นานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือดนำไปสู่ปัญหาอื่นที่ ใหญ่กว่า

“เมื่อเป็นความดันโลหิตสูงแล้วต้องกินยา นานเข้าก็ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นและหลายขนานขึ้น เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่น หลอดเลือดแข็งกระด้างขึ้น จากที่เคยกินยา 1 เม็ด ต้องเพิ่มจำนวนและชนิดยาหลายขนานขึ้น จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

“ แต่ถ้าไม่กินยา ทิ้งอาการผิดปกติไว้นานจะเกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่นเส้นเลือดในสมองแตกหรือหลอดเลือดในสมองตีบตันมีอาการอัมพาตอัมพฤกษ์ ทำให้เสียทั้งเงินที่จะต้องใช้ในการรักษาช่วงที่มีอาการเฉียบพลัน เสียเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาลและสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายซึ่งผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถมีสุขภาพเป็นปกติอย่างเดิมได้”

นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว ผลที่ตามมาอีกอย่างคือ อาจทำให้เดินไม่สะดวกหรือเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง เพราะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ทำให้เสียโอกาสในการทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งการหารายได้ และยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตตามมาอีกด้วย

คุณหมอสิรินทรยังกล่าวถึงผลกระทบต่อครอบครัวว่า

“ผู้ป่วยจะเป็นภาระของลูกหลานหรือคนในครอบครัว อาจต้องลาออกจากงานประจำเพื่อช่วยเหลือดูแล ทำให้เสียโอกาสหารายได้ และเสียสตางค์ซ้ำซ้อนไปอีก”

วางแผนดูแลสุขภาพวันนี้

อนาคตสดใสรออยู่

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์ที่มีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวรอบตัวได้อย่างน่าสนใจ ดร.วรากรณ์กล่าวว่า

“มีงานวิจัยบอกไว้ชัดเจนเลยว่าคนเราต้องมีชีวิตที่คึกคัก คนที่อายุสั้นมักจะนั่งมากไม่ค่อยเดิน ดูทีวีวันละ3-4 ชั่วโมง คนเราเกิดมาเพื่อเดิน ไม่ได้เกิดมาเพื่อนั่ง นั่งมากก่อให้เกิดหลายโรค ทั้งโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และหัวใจ

“ถ้ามีเวลาว่างควรออกกำลังกายบ้าง ทำตัวให้กระฉับกระเฉง เดินให้มากขึ้น ทำงานบ้าน ฯลฯ สังคมของบ้านเรา ควรส่งเสริมเรื่องการเดินด้วยการสนับสนุนเรื่องพื้นฐาน เช่น ทำทางเดินเท้า สร้างหลังคาให้เดินไม่ร้อนเกินไป คนเราควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้มีเงินเหลือไว้ใช้ขณะยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เงินหมดก่อนเพราะใช้ไปกับการรักษาโรค”

คุณหมอสิรินทรกล่าวว่าสุขภาพกับการเงินเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก

“คงเคยได้ยินกันว่าคนส่วนใหญ่ใช้เวลาในวัยกลางคนทุ่มเททั้งร่างกายและจิตใจเพื่อสร้างความร่ำรวย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า“for wealth“ เมื่อถึงวัยชราหรือวัยสูงอายุก็ต้อง”used all wealth for health “หมายถึงต้องนำเงินทองที่หามาได้ทุ่มเทไปเพื่อรักษาร่างกาย ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น”

การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ลาภนี้จะหมายถึงเงินจำนวนแสนหรืออาจเป็นล้านบาทก็เป็นได้ เมื่อไม่ต้องสิ้นเปลืองไปกับค่ารักษาพยาบาลถ้ารู้จักเก็บออมไม่ใช้จ่ายไปกับเรื่องไร้สาระ

คุณสามารถนำเงินออมนี้ไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง มาดูกันค่ะ

1.เดินทางท่องเที่ยว สามารถจัดทริปไปเยือนสถานที่ในฝัน อาจจะได้ 1-2 รอบ

2.ใช้เพื่อการลงทุน เนื่องจากมีเงินเหลือเก็บมาก ก็สามารถแบ่งส่วนหนึ่งออกมาเพื่อใช้ลงทุนได้อย่างสบายๆ อาจลงทุนในหุ้นพันธบัตรรัฐบาล ทองคำ หรือลงทุนค้าขายเพิ่มรายได้เมื่อถึงวัยเกษียณ

3.ใช้ชีวิตในบั้นปลายได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากมาย คุณแค่มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในบ้าน และค่าตรวจสุขภาพ ซึ่งทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้จริงๆ

4.ถ้ามีเงินออมมาก ก็ไม่ต้องทำงานหาเงินหลังวัยเกษียณอีก สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้

5.สามารถใช้จ่ายซื้อสิ่งของหรือทำกิจกรรมที่ต้องการได้ เช่น การสะสมของมีค่า

นี่แหละค่ะ คือข้อดีที่ทำให้เราต้องหันมาดูแลสุขภาพกันเสียแต่เนิ่นๆ

 

ตรวจสุขภาพ…ตัวช่วยเช็กโรคก่อนลุกลาม

          สำหรับ การดูแลสุขภาพนั้น เราอาจจะรวมเรื่องการตรวจสุขภาพไว้ด้วย เพราะในปัจจุบัน ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลเอกชนและบริษัทห้างร้านต่างๆ ต่างมีการจัดแพ็คเกจตรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในเกิดโรคต่างๆ

การตรวจสุขภาพนี้ควรเลือกให้เหมาะสมกับอายุและอาจเพิ่มเติมการตรวจบางอย่าง หากมีความเสี่ยงในโรคนั้นๆ เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังบางชนิดซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมด้วย เช่นภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เป็นต้น

แพกเกจตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลอาจมีมากมายหลายรายการ ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็สูงตามจำนวนรายการตรวจ ดังนั้นควรศึกษาหาข้อมูลก่อนตรวจว่ามีความจำเป็นกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินจำเป็น

การวางแผนตรวจเช็กสุขภาพสามาถยึดตามความเหมาะสมของอายุเป็นหลัก

อายุ 20 ปี+

เป็นวัยที่เเริ่มต้นการทำงาน คนวัยนี้ควรรู้จักร่างกายตัวเอง แนะนำการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ได้แก่ ความดันโลหิต ความเข้มข้นของเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด และควรตรวจซ้ำ ทุก 3-5 ปี

อายุ35 ปี+

ควรตรวจสุขภาพประจำปีการตรวจหลักๆ คือความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และตรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่คนในครอบครัวเป็น

ส่วนผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุ 35 ปีเป็นต้นไปทุกปี

อายุ40 ปี+

ควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยตรวจเช็กความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เป็นหลัก

สำหรับผู้หญิงควรตรวจแมมโมแกรม ส่วนผู้ชายที่มีพันธุกรรมเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากควรตรวจ หากไม่มีพันธุกรรมก็อาจตรวจเมื่ออายุ 60 ปีก็ได้ และตรวจหามะเร็งลำไส้

อายุ 45 ปี +

นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วๆ ไป ได้แก่ ตรวจความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดแล้ว สิ่งที่ต้องตรวจเพิ่มเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้และ มะเร็งต่อมลูกหมาก

หากเป็น พาหะของไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซีจะต้องพบแพทย์สม่ำเสมอ และอาจต้องตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ทุก 6 ถึง 12 เดือน

ตรวจสุขภาพฟัน

ควรตรวจเช็กสุขภาพฟันทุก 6 เดือน คนส่วนใหญ่มักจะละเลยการตรวจสุขภาพฟัน ปล่อยให้ฟันผุ และไปถอนฟัน เพราะคิดว่า เมื่อถอนฟันแล้วสามารถใส่ฟันปลอมได้ แต่การใส่ฟันชุดใหม่ ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ถนัด เคี้ยวอาหารแข็งหรือเหนียวไม่ได้เหมือนเดิม การรับรู้รสชาติอาหารหรือความกรอบนุ่มของอาหารเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อใส่ไว้นานๆ กรามที่เป็นตัวรับกับฟันปลอมจะค่อยๆ ยุบตัวลงทำให้ฟันนั้นหลวม และอาจเกิดแผลในปากจากการที่ฟันปลอมเคลื่อนไปมาเวลาเคี้ยวอาหาร

ถึงแม้ว่าตรวจสุขภาพเป็นประจำแล้วไม่พบโรค ก็อย่าคิดว่าตัวเองแข็งแรงและไม่ดูแลสุขภาพ

การสังเกตอาการของตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยกว่าที่ควรจะเป็นไหมเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนึกไว้เสมอ และอย่าเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเพราะเราแก่ขึ้นหรือสูงวัยขึ้น

หากสงสัยหรือเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลง ควรปรึกษาแพทย์ อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง อย่ากลัว รีบรักษาหรือป้องกันแต่เนิ่นๆ ดีต่อสุขภาพและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

การตรวจสุขภาพทำให้เราสามารถรู้ถึงอาการผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ เรายังต้องดูแลทั้งด้าน อาหารการกิน โดยเน้นกินผักผลไม้ ลดอาหารจำพวกแป้งและไขมันให้น้อยลง ควบคุมปริมาณอาหารไม่ให้มากเกินไป ออกกำลังกายเป็นประจำ และทำสม่ำเสมอโดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การเดินวันละ 30 นาทีดีต่อสุขภาพหัวใจ ช่วยลดน้ำหนัก และช่วยป้องกันอัลไซเมอร์

นอนหลับให้ลึกหรือเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ประมาณวันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมเซลล์ส่วนที่สึกหรอ ช่วยลดความอ้วนและเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ทำสมาธิอย่างน้อยวันละ5 นาที ฝึกโยคะหรือสวดมนต์ เพื่อช่วยให้สมองแจ่มใสและลดความเครียด

คำแนะนำเหล่านี้ เราต้องทำอย่างสม่ำเสมอและตลอดไป เพื่อความร่ำรวยทั้งสุขภาพและทรัพย์สินค่ะ

ชีวจิต Tips

ตัวเลขน่ารู้

ระดับความดันโลหิตที่เหมาะสมคือ120/80 มิลลิเมตรปรอท คือ ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม ค่าความดันตัวบนควรน้อยกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่าง น้อยกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท

ขนาดรอบเอวที่เหมาะสม ไม่อ้วน คือ มีค่าน้อยกว่า ½ ของความสูง

ระดับไขมันเฮชดีแอล(HDL)ในเลือดที่หมาะสม คือ มากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ระดับไขมันแอลดีแอล(LDL )ในเลือดที่เหมาะสม คือ น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ระดับน้ำตาลในเลือดปกติเมื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหาร 8 ชั่วโมง คือ น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ชีวจิต Tips

ตรวจเช็กประจำหากเสี่ยงเป็นโรค  

โรคบางชนิดมีโอกาสเกิดได้ง่ายในคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีพันธุกรรมมะเร็งบางชนิด ในสุภาพสตรีที่เจอบ่อยคือ มะเร็งเต้านม หากมีญาติสายตรงคือ แม่ ยาย หรือ ลูก เป็นมะเร็งเต้านม รวมทั้งพี่น้องในระนาบเดียวกันเช่น ลูกป้า ลูกอา ลูกน้า ลูกลุง ผู้หญิงคนนั้นก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนทั่วไป

        วิธีป้องกันคือตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หรือตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมปีละ 1 – 2 ครั้ง หลังจากอายุ 35 ปีขึ้นไป ย่อมรักษาได้ง่าย ประหยัดเงิน และช่วยให้คุณมีกำลังใจมากกว่าการพบมะเร็งเมื่ออาการของโรคลุกลามไปมากแล้ว

นอกจากนี้ยังมีมะเร็งชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งเหล่านี้ ควรดูแลสุขภาพด้วยการตรวจเช็กอย่างเฉพาะเจาะจง จะคุ้มค่าคุ้มทุนมากกว่าทราบเมื่อปรากฏอาการ

ชีวจิต Recommened

ป้องกันโรคเรื้อรังสไตล์ชีวจิต

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต เขียนวิธีป้องกันโรคเรื้อรังไว้ในหนังสือ เรื่องของภูมิชีวิต สำนักพิมพ์ คลินิกสุขภาพสรุปว่า

โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคมะเร็ง โรคเหล่านี้ไม่มีเชื้อโรคและไม่มีตัวสาเหตุโดยตรง แต่มันก็สร้างความเจ็บป่วยและเจ็บปวดอย่างร้ายแรง จนกระทั่งว่าเป็ฯสาเหตุที่ทำให้เราถึงแก่ชีวิตได้

ในเมื่อไม่ใช่โรค ไม่มีเชื้อโรค แล้วมันเกิดมาจากตรงไหน มันเกิดเพราะตัวเราเอง เพราะ อิมมูนซิสเต็ม (Immune System) ในตัวเราบกพร่อง วิธีแก้ต้องแก้ให้ตรงสาเหตุ นั่นก็คือ แก้ที่ อิมมูนซิสเต็ม หรือภูมิชีวิต

และการจะสร้างอิมมูนซิสเต็มให้แข็งแรง ทำได้โดยการ กินให้ถูก นอนให้ถูก ออกกำลังกายให้ถูก พักผ่อนให้ถูก และทำงานให้ถูกต้องนั่นเอง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.