Miracle Way รวยสุขภาพ รวยทรัพย์

Miracle Way รวยสุขภาพ รวยทรัพย์

วางแผนดูแลสุขภาพ

Miracle Way รวยสุขภาพ รวยทรัพย์ เมื่อเลยวัยกลางคนไปแล้ว เราจะเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า สุขภาพกับความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นควรมีการ วางแผนดูแลสุขภาพ (ช่วงเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงานต้นๆ เรายังมีสุขภาพแข็งแรงดีเยี่ยม และไม่มีภาระต้องดูแลผู้ป่วยในบ้าน จึงนึกภาพเรื่องดังกล่าวไม่ออก) โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาสุขภาพและไม่ได้เตรียมความพร้อมด้านการเงินไว้อย่างดีพอ เราจะเห็นสัจธรรม พร้อมปัญหาต่างๆอีกเป็นกระบวน

ชีวจิต จึงอยากเชิญชวนผู้อ่าน ให้เตรียมตัววางแผนดูแลสุขภาพเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินทองที่จะต้องเสียไปเพราะค่ารักษาพยาบาล ซึ่งหากคำนวณดูแล้ว อาจมีมูลค่ามหาศาลจนผู้อ่านตกตะลึงกันเลยทีเดียว

ทำไมต้องวางแผนดูแลสุขภาพ

การวางแผนดูแลสุขภาพ เช่น การเลือกสรรเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสร้างความแข็งแรง การผ่อนคลายความเครียด และรู้จักพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังทำให้อายุยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอิสระในการทำสิ่งที่ชอบหรือสามารถเดินตามความฝันโดยไร้อุปสรรคด้านพละกำลัง มาขัดขวาง

ส่วนในแง่ของเงินทอง โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เราก็ไม่ต้องเสียเงินทองไปกับค่ารักษาพยาบาล ทำให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณได้อย่างสบายๆ ตรงกันข้าม หากสุขภาพย่ำแย่ เจ็บป่วยบ่อย โอกาสหารายได้ก็ลดลง หรือหากเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูงๆ การจะเป็นผู้รวยทรัพย์ก็คงจะยากเสียแล้ว เพราะต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปกับค่ายา ค่าหมอ

 

วางแผนดูแลสุขภาพ
วางแผนดูแลสุขภาพในวันนี้ เพื่ออนาคตที่สดใส

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการ ด้านเศรษฐศาสตร์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า

“การวางแผนสุขภาพไปพร้อมๆกับการเงิน เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมนุษย์เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในอนาคต จึงจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุมีผล เพื่อเก็บไว้ใช้ในวันข้างหน้า การดูแลสุขภาพให้ดีกับการใช้เงินเป็น จึงได้ประโยชน์สองเท่า คือ มีร่างกายแข็งแรงและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค

“เวลาเจ็บป่วย อาจต้องใช้เงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิตเพื่อรักษาโรค แต่การมีร่างกายแข็งแรงนั้นเหมือนการสะสมทรัพย์สินไว้ใช้ยามเกษียณ เพราะคนที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถมีชีวิตการทำงานที่ยืนยาวกว่า มีเงินทองสะสมเพิ่มขึ้น สามารถนำเงินทองไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นๆ ได้ และสามารถนำทรัพย์สินจากเงินที่เก็บออมหรือดอกเบี้ย ไปใช้เพื่อการลงทุน ทำการค้า ทำให้มีเงินเพิ่มและมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น”

วางแผนดูแลสุขภาพ
วางแผนดูแลสุขภาพในวันนี้ เพื่ออนาคตที่สดใส

จ่ายขนาดนี้ รีบดูแลสุขภาพจะดีกว่า

            เพราะการเชิญชวนคุณผู้อ่านมาวางแผนดูแลสุขภาพอาจยังไม่เร้าใจพอ เราจึงนำเสนอค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งโรคต่างๆที่ยกตัวอย่างนี้ เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และมักเป็นเมื่อมีอายุมากขึ้นไปจนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ

โดยมีข้อมูล เกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเรื้อรังในประเทศไทย จากสำนักนโยบายยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ.2551 พบรายละเอียดดังนี้

โรคเรื้อรัง                         จำนวนผู้ป่วยรวม             ค่ารักษาผู้ป่วยรวมต่อปี                ค่ารักษาต่อคนต่อปี

ไตวายระยะสุดท้าย              30,000 คน                             6,000 ล้านบาท                              200,000 บาท

หลอดเลือดสมอง                0.5 ล้านคน                            20,632 ล้านบาท                                41,264 บาท

เบาหวาน                             3 ล้านคน                                47,596 ล้านบาท                                  15,865 บาท

หัวใจ                                   4 ล้านคน                                154,846 ล้านบาท                                 38,711.5 บาท

ความดันโลหิตสูง               10 ล้านคน                             79,263 ล้านบาท                                   7,926.3 บาท

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

เมื่อเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เหล่านี้ ก็มีโอกาสเป็นยาวนานนับ 10 ปี ดังนั้นลองนำ 10 คูณจำนวนเงินค่ารักษาต่อคนต่อปีเข้าไป ก็จะพบว่า มีค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนหลักแสนถึงล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เมื่อดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายจริงของผู้ป่วยในแต่ละโรคแล้ว ก็พบว่ายังรายจ่ายแฝงที่มากกว่านี้ ทั้งค่าเดินทาง ค่าจ้างคนดูแล ค่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายเมื่อนอนโรงพยาบาล ค่าผ่าตัด ฯลฯ รวมทั้งการรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคดังกล่าว

วางแผนดูแลสุขภาพ
วางแผนดูแลสุขภาพในวันนี้ เพื่ออนาคตที่สดใส

ส่วนโรคมะเร็งซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ยังไม่พบตัวเลขที่สำนักนโยบายยุทธศาสตร์รวบรวมไว้ จากข้อมูลที่รวบรวมในเบื้องต้นพบว่า โรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 120,000 – 1,200,000 บาท ต่อคนต่อปี หรืออาจสูงกว่านี้ และยังมีโรคอื่นๆที่ไม่ได้เอ่ยอีกหลายโรคซึ่งเราทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยได้ตลอดเวลา และทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน

แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงโรคที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงเป็นอันดับต้นๆ ว่า

“ในโรงพยาบาลรัฐ มีค่าใช้จ่ายโรคหัวใจสูงมากจากการผ่าตัด หากต้องทำการสวนหัวใจก็จะเสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 30,000-40,000 บาท ถ้าต้องขยายหลอดเลือดหัวใจ และใส่ขดลวดเพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายเป็นแสนค่ะ”

หากรักษาโรคหัวใจในโรงพยาบาลเอกชนก็จะมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 3 ถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลรัฐบาล คุณหมอสิรินทร อธิบายต่อว่า

“โรคมะเร็งนี้ ถ้าจะสู้กันต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เดี๋ยวนี้ยารักษามะเร็ง เข็มละเป็นแสนก็มี ชนิดเม็ด ราคาเม็ดละ 8,000-10,000 บาท ก็มี แถมต้องกินทุกวัน ดังนั้น คนทั่วไปจึงต้องดูแลตัวเองและสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อพบมะเร็งในระยะแรก ในแง่ของการรักษาและเรื่องค่ารักษาพยาบาลก็จะเป็นไปในทางที่ดีมากกว่าพบเมื่อมีอาการมากแล้ว

“เมื่อเจ็บป่วยแล้ว เราก็ไม่สามารถใช้ร่างกายได้อย่างเดิม ทำให้เสียโอกาสในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ไม่สามารถทำงานหารายได้ ไม่ใช่เฉพาะเสียสตางค์อย่างเดียว ยังหาสตางค์ก็ไม่ได้ด้วย”

พอป่วยแล้ว มีแต่เสียกับเสีย เพราะฉะนั้นต้องวางแผนดูแลสุขภาพวันนี้ เพื่ออนาคตสดใส

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 405 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.