ไดเอ็ท สมอง ควบคุมน้ำหนัก

รู้ยัง? ไดเอ็ท เกินพอดี อาจทำสมองป่วยได้

ไดเอ็ท เกินพอดี ทำสมองป่วย

ไดเอ็ท มากเกินไป อาจทำให้สมองป่วยได้เป็นเรื่องจริงที่คุณต้องรู้ค่ะ เมื่อร่างกาย “ผอม” ไป สมองจะทำงานหนักขึ้นนั้น ได้รับการยืนยันแล้วจากการแพทย์ฝั่งทวีปยุโรป

สำนักงานตรวจสุขภาพแห่งชาติ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้ศึกษาในประชาชนชาวเมืองเบอร์เกน ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีมวลกายกับสุขภาพ พบว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักน้อยเกินไปมีความเสี่ยงสูงต่อการแท้งบุตร เพราะรังไข่ทำงานผิดปกติ และคนที่อดอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักมักได้รับสารอาหารจำเป็นไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดสมดุล การทำงานของฮอร์โมนและระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ เช่น อาจขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดๆหายๆ และเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย เพราะหน้าที่หนึ่งของฮอร์โมนเอสโตรเจนคือนำพาแคลเซียมไปที่กระดูก

และงานวิจัยยังพบอีกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปทำให้สมองต้องทำงานหนัก เพราะสมองทำงานโดยอาศัยน้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน ถ้าอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักจนทำให้ร่างกายได้รับกลูโคสไม่เพียงพอ สมองจึงสร้างสารโดปามีนเพื่อเพิ่มการส่งคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อ สมองจึงต้องทำงานหนักขึ้น

อันตรายของผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวน้อย

อาการน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน มีบุตรยากและมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมีด้วยกันหลายสาเหตุ ได้แก่ ความผิดปกติของการกิน ในที่นี้รวมถึงอาการเบื่ออาหาร, ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์  ที่สามารถเพิ่มการเผาผลาญและทำให้น้ำหนักลดลง ไปจนถึงโรคเบาหวาน ที่ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรุนแรง หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น

ถ้าไม่อยากให้สมองทำงานหนักโดยไม่จำเป็น และโรคภัยจากความผอมมาเยือน

เรามีเทคนิคการเพิ่มน้ำหนักมาฝากค่ะ

  • เน้นกินอาหารที่เพิ่มพลังงาน เช่น แป้ง น้ำตาล ผัก ผลไม้ ให้มากกว่าเดิม แต่ควรให้หมุนเวียนชนิดกันไป และการเพิ่มน้ำหนักที่ดีควรเพิ่มไม่เกินสัปดาห์ละ 0.5-1 กิโลกรัม อย่างสม่ำเสมอ
  • กินอาหารให้ได้สัดส่วน ทั้งคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน แทนที่จะเพิ่มแต่ของหวานๆมันๆอย่างที่นิยมกัน เพราะถ้าเพิ่มน้ำหนักวิธีนั้นจะได้เป็นไขมันสะสมตามหน้าขา หน้าท้อง ต้นขา ซึ่งคงไม่มีใครอภิรมย์แน่ค่ะ
  • เลือกอาหารชนิดที่ให้พลังงานสูงแต่จานไม่ใหญ่นัก เช่น ระหว่างสลัดผักกับไข่ดาวกับสเต็กปลา สเต็กปลาอาจจะให้พลังงานมากกว่าขณะที่กินในปริมาณที่น้อยกว่า
  • เพิ่มมื้อย่อยรวมเป็น 4-6 มื้อต่อวัน โดยเพิ่มมื้ออาหารว่างเข้าไป เช่น ซาลาเปาไส้ถั่วดำ 1 ลูก น้ำส้มคั้น 1 แก้ว หรือถั่วต้ม เป็นต้น
  • เพิ่มวิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะวิตามินบีรวม จะช่วยเพิ่มความอยากอาหารและช่วยเผาผลาญอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงาน
  • ก่อนเวลาอาหารให้เดินหรือทำกิจกรรมเบาๆ เพื่อช่วยเรียกความอยากอาหาร แต่ถ้าทำกิจกรรมหนักและนานเกินไปร่างกายจะเพลียและเหนื่อยเกินไปจนกินอะไรไม่ลง หรือจะจิบแกงจืดหรือซุปใสอุ่นๆ เพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารก็ไม่เลว
  • ออกกำลังกายให้ถึงพีค สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ร่วมกับเพิ่มอาหารโปรตีน เช่น โปรตีนจากถั่ว ปลา และอาหารทะเล จะช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและได้หัวใจที่แข็งแรง และเพิ่มความอยากอาหาร คนผอมที่คิดว่าออกกำลังกายจะยิ่งทำให้ผอมลง เป็นความคิดที่ผิดนะคะ
  • สังเกตว่าสิ่งแวดล้อมแบบไหนที่ช่วยให้เจริญอาหาร แล้วพยายามสร้างบรรยากาศเช่นนั้นในการรับประทานอาหาร เช่น โต๊ะอาหารที่จัดบรรยากาศให้น่ารัก หรือถ้วยชามลายกระจุ๋มกระจิ๋ม
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะขณะหลับร่างกายจะใช้พลังงานน้อยลง
  • ต้องตั้งใจและสัญญากับตัวเองว่าจะต้องเพิ่มน้ำหนักให้สำเร็จ และควรให้รางวัลกับตัวเองเป็นระยะ ๆ เมื่อเพิ่มน้ำหนักได้สำเร็จ

พักการ ไดเอ็ท แล้วเพิ่มน้ำหนักด้วยการสร้างกล้ามเนื้อ

การสร้างมวลกล้ามเนื้อ หมายถึงการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้าม การออกกำลังกายลักษณะนี้ต้องทำหลังจากที่คุณได้รับอาหารโปรตีนพอเพียงแล้ว เพราะถ้าคุณกินโปรตีนไม่พอ ร่างกายก็ไม่มีอะไรไปสร้างกล้ามเนื้อ เล่นกล้ามไปก็ไม่มีกล้ามเนื้อขึ้นอยู่ดี การออกกำลังกายจึงมีความสำคัญสำหรับคนผอม โดยเฉพาะคนที่กินอะไรไม่ค่อยลง

เพราะการออกกำลังกายจะทำให้กินอาหารได้มากขึ้น และมีมวล กล้ามเนื้อมากขึ้นน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและยังเป็นการป้องกันกระดูกพรุน ซึ่งมักจะเป็นปัญหาของคนผอมเมื่อแก่ตัวลง

ปรับโภชนาการเพื่อรูปร่างสมส่วน

การปรับโภชนาการ ที่ทุกคนทราบมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้วว่า วันหนึ่งเราควรจะได้ทั้งอาหารให้พลังงาน (คาร์โบไฮเดรต ไขมัน) โปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่ว) และวิตามิน เกลือแร่ (ผัก ผลไม้)

อาหารที่ควรรับประทานเป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นหลัก (Carbohydrate Base Diet) มีโปรตีนต่ำ มีผักและผลไม้ต่ำ ปริมาณอาหารให้พลังงานพอแล้ว แต่ต้องเพิ่มโปรตีนและผักผลไม้อย่างเพียงพอด้วย

คุณต้องได้โปรตีนอย่างน้อยวันละ 50 กรัม โดย 50 กรัม นี้หมายถึง 50 กรัมของโปรตีน ไม่ใช่กรัมของเนื้อ นม ไข่ ยกตัวอย่างคุณกินเนื้อ 100 กรัม (สเต๊กชิ้นโตหนึ่งชิ้น) คุณจะได้โปรตีน 20 เปอร์เซ็นต์ คือ 20 กรัมเท่านั้นเอง หรือถ้าคุณกินไข่ใบโตหนึ่งฟอง (70 กรัม) คุณ จะได้โปรตีน 10 เปอร์เซ็นต์ คือ 7 กรัมเท่านั้นเอง คุณดื่มนม 1 แก้ว (250 ซีซี) คุณจะได้โปรตีนประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ คือ 8.2 กรัม เท่านั้นเอง

ดังนั้น วันหนึ่งถ้าคุณอยากได้โปรตีน 50 กรัม คุณต้องกินสเต๊กชิ้นโต หนึ่งชิ้นไข่สองฟอง นม 2 แก้ว ประมาณนี้แหล่งอาหารโปรตีนที่ดีมาก คือ ถั่วต่าง ๆ ผลเปลือกแข็ง (Nut) และเมล็ด (Seed) ซึ่งมีโปรตีนประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมีวิตามินและเกลือแร่ปริมาณมาก

ถั่วต่าง ๆ คุณคงรู้จักดีอยู่แล้ว ส่วนตัวอย่างของผลเปลือกแข็งก็เช่น มะม่วงหิมพานต์ เกาลัด แปะก๊วย อัลมอนด์ แมคาเดเมีย เป็นต้น ตัวอย่างของเมล็ดก็เช่น งา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดเก๋ากี้ เป็นต้น คุณหาผลเปลือกแข็งและเมล็ดเหล่านี้มากินเป็นของว่างแทนขนมหวาน เค้ก หรือคุกกี้ซึ่งให้แต่พลังงาน ก็จะมีประโยชน์กว่า

ทำตามนี้ คนหุ่นสมาร์ท สุขภาพดี รอทักทายอยู่ที่หน้ากระจกแล้ว

ข้อมูลเรื่อง : “รู้หรือไม่ ผอมไปสมองทำงานหนัก” ตีพิมพ์ในนิตยสารชีวจิต / คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 466

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ท่าโยคะแก้ท้องผูก

จิงเจอร์เอลมะขาม เครื่องดื่มช่วยระบายแก้ท้องผูก

สายกิน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้ เทคนิคแก้ท้องอืดไว้ดูแลตัวเองหลังพุงระเบิด

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.