เจ็บกล้ามเนื้อ, ออกกำลังกาย, กล้ามเนื้ออักเสบ, เล่นกีฬา, รักษาอาการเจ็บกล้ามเนื้อ

เจ็บกล้ามเนื้อ จากการออกกำลังกาย รักษาได้ด้วยตัวเอง

เจ็บกล้ามเนื้อ จากการออกกำลังกาย สามารถรักษาได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ

เจ็บกล้ามเนื้อ จากการออกกำลังกาย ถือเป็นของคู่กันของคนรักการออกกำลังกาย และจากการศึกษาของวิทยาลัยการกีฬา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในวารสารกีฬา เผยให้เห็นว่า การบาดเจ็บจากการออกกําลังกายส่วนใหญ่มาจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ รวมไปถึงการเล่นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับระยะทางและเวลา เช่น วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ โดยเกือบร้อยละ 30 ของอาการบาดเจ็บเกิดจากการอักเสบ การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งเราได้รวบรวมและจําแนกอาการดังกล่าวพร้อมวิธีหลีกเลี่ยงไว้ดังนี้

 ข้อเท้าแพลง
สามารถเกิดได้ทั้งกับนักวิ่งบนลู่และนักวิ่งนอกอาคาร เพราะทันทีที่เราละการจดจ่อจากการเคลื่อนไหว อาจเผลอลงน้ำหนักหรือวางเท้าในองศาที่ผิดธรรมชาติได้ ดังนั้นจึงควรสังเกตเส้นทางอยู่ตลอดเวลา หรือหากชอบวิ่งชิลๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
กลุ่มอาการบาดเจ็บที่ลูกสะบ้า
เป็นอาการที่พบบ่อยจากการวิ่ง กระโดด และทําท่าสควอต วิธีป้องกันคือการบริหารกล้ามเนื้อส่วนต้นขา (Quadriceps) ให้แข็งแรง ด้วยท่าง่ายๆ คือ นั่งบนเก้าอี้แล้วเหยียดขาออกขนานกับพื้น จากนั้นลดขาลง ทําพร้อมกันทั้งสองข้างหรือสลับทําทีละข้างก็ได้
กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ
อาการบาดเจ็บบริเวณด้านในของหน้าแข้งพบมากในนักวิ่งและคนที่ออกกําลังกายท่ากระโดดอย่างหักโหม ดังนั้นสําหรับคนที่ชอบออกกําลังกาย ไม่ควรเพิ่มความเข้มข้นและความถี่ของกิจกรรมทันทีทันใด จะช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บประเภทนี้ได้
เจ็บกล้ามเนื้อ, ออกกำลังกาย, กล้ามเนื้ออักเสบ, เล่นกีฬา, รักษาอาการเจ็บกล้ามเนื้อ
อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ จากการออกกําลังกายส่วนใหญ่มาจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ
ปวดหลังช่วงล่าง
อาจมาจากการทําท่าสควอตและท่าเดดลิฟต์ หรือท่ายกเวตต่างๆ ที่ผิดวิธี ดังนั้นจึงควรจัดท่าทางให้ถูกต้อง เริ่มแรกอาจลองเวิร์คเอ๊าต์หน้ากระจกเพื่อสังเกตตัวเองก่อนก็ได้
เอ็นหัวไหล่บาดเจ็บ
พบบ่อยในผู้ที่ชอบว่ายน้ำ ขว้างลูกบอล หรือทํากิจกรรมที่ต้อง ชูมือเหนือศีรษะส่วนใหญ่มาจากการทําท่าทางดังกล่าวซ้ำๆ จึงควรหลีกเลี่ยง หากยกเวตก็ควรเลือกน้ำหนักที่พอเหมาะ ไม่ฝืนจนเกินไป
กล้ามเนื้อหน้าอกบาดเจ็บ
ระหว่างการนอนยกน้ำหนักบนม้านั่ง หรือการใช้น้ำหนักมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหน้าอกฉีกขาดได้ จึงควรแน่ใจทุกครั้งว่าเลือกน้ำหนักที่สามารถยกไหวและควบคุมได้ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บ
เอ็นข้อศอกอักเสบ
เมื่อเริ่มมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ด้านหน้าลงมาถึงช่วงต้นแขน และอาจเลยมาจนถึงข้อศอก อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการเอ็นข้อศอกอักเสบ วิธีป้องกันคือ ออกกําลังกายให้หลากหลายและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องทําท่าทางซ้ำๆ
ท่องไว้นะคะว่า อย่าทําร้ายตัวเองเพื่อการออกกําลังกาย หากคุณตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกว่าร่างกายไม่สดชื่นเต็มร้อย หรือมีอาการบาดเจ็บ แต่ก็ไม่วายที่จะมุ่งหน้าไปยิม พฤติกรรมดังกล่าว ไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไรนัก หลายคนเมื่อมีอาการบาดเจ็บแล้วยังฝืนออกกําลังกายต่อ ยิ่งเป็นการทําร้ายกล้ามเนื้อ ข้อต่อ สร้างความเครียด และทําให้ไม่หลงเหลือความสุขในการออกกําลังกายอีกต่อไป
หลักสําคัญคือ ควรทํากิจกรรมให้หลากหลาย อย่าหยุดอยู่กับการออกกําลังกายประเภทเดิมๆ ไม่หักโหม และควรโฟกัสท่าทางให้ถูกต้องอยู่เสมอ เท่านี้ก็บอกลาอาการบาดเจ็บได้หลายอาการแล้ว

บทความอื่นที่น่าสนใจ
วิธีแก้ปวดหลัง แบบไม่พึ่งยา แค่ออกกำลังกายเองนะยู

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.