โรคหัวใจ

โรคหัวใจ ออกกำลังกายได้หรือไม่

โรคหัวใจ ออกกําลังกายได้หรอ

โรคหัวใจ กับการออกกำลังกาย อาจเป็นไขปัญหาคาใจสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะว่ากันว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรออกกําลังกาย เนื่องจากทําให้หัวใจทํางานหนักและอาจส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้

การรักษาโรคหัวใจโดยทั่วไปจึงเน้นที่การกินยาการทําบอลลูน เพื่อขยายเส้นเลือดการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือต่อเส้นเลือดหัวใจ เป็นต้น แต่ความจริงคือ การออกกําลังกายเป็นหนทางสําคัญซึ่งสามารถป้องกันผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคหัวใจและเยียวยาผู้ป่วยโรคหัวใจให้กลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตตามปกติได้เหมือนกัน

พลเอกนายแพทย์ประวิชช์ ตันประเสริฐ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “การออกกําลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลอดเลือดขยายตัว กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น นอกจากนี้ การออกกําลังกายยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ลดปัจจัยการเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง โรคหัวใจจากเส้นเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูงและที่สําคัญ ยังช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจอีกด้วย”

ออกกําลังกายแค่ไหน หัวใจจึงดี

นายแพทย์ดีน ออร์นิช (Dr.Dean Ornish) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจแห่งหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรักษาโรคหัวใจด้วยการควบคุมและเปลี่ยนแปลงอาหารโดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด กล่าวว่า “นอกเหนือจากการกินยา ผ่าตัดแล้ว การออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเยียวยาหัวใจได้”

ทั้งนี้ การออกกําลังกายของผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทําการรักษา ว่าควรออกกําลังกายประเภทไหนถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจก็ไม่ควรออกกําลังกายอย่างหักโหม แต่ให้ทําทีละน้อยและเพิ่มมากขึ้น หรือน้อยลงตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้อาการของโรคหัวใจดีขึ้นได้

ที่สําคัญ สามารถประเมินสภาพเบื้องต้นด้วยตนเองได้ เช่น การวัดชีพจรไม่ควรเกินนาทีละ 100-120 ครั้ง มีการหอบเหนื่อยไม่มากจนเกินไป หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ มึน หรือวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าออกกําลังกายหนักเกินไป ควรหยุดทันทีและรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจไม่ควรออกกําลังกายตามลําพัง เพราะเสี่ยงต่ออาการวูบได้ง่าย ดังนั้น เวลาออกกําลังกาย หากวิ่ง ว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาประเภทใดก็ตาม ควรมีคนอยู่เป็นเพื่อนด้วย เพื่อป้องกันอาการเฉียบพลันของโรคหัวใจ

โรคหัวใจ

ประเภทกีฬาที่เหมาะสมกับการออกกําลังกายหัวใจ

ตามปกติแล้ว เราแบ่งการออกกําลังกาย ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.การออกกําลังกายชนิดแอโรบิก (Aerobic or Isotonic Exercise) คือ การออกกำลังกายที่ร่างกายต้องใช้พลัง กล้ามเนื้อทุกส่วนในการเคลื่อนไหว ซึ่งในขณะที่กล้ามเนื้อของเราออกแรงอย่างเต็มที่นั้น จะทําให้มีการรับออกซิเจนเข้าไปในกระแสเลือด ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น มีการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างการออกกําลังกายประเภทนี้ ได้แก่ การเดิน การวิ่ง การกระโดดเชือก การเล่นฟุตบอล การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิก การขี่จักรยาน การรํากระบอง เป็นต้น

2.การออกกําลังกายชนิดอแนโรบิก (Anaerobic or Isometric Exercise) ร่างกายจะเคลื่อนไหวน้อย แต่ใช้แรงมาก ซึ่งช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น การยกน้ำหนักเป็นต้น การออกกําลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วย โรคหัวใจ คือชนิดแอโรบิก และควรออกกําลังกายต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที อย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะสามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

ช่วงเริ่มต้นออกกําลังกายควรเป็นลักษณะเบาๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน และหยุดพักเมื่อรู้สึกเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก เมื่อคุ้นชินแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นจนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทําติดต่อกันเป็นประจําทุกวัน สําหรับบางคนที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด ควรออกกําลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เหมือนฝึกให้หัวใจทํางาน แต่ต้องไม่ให้ทํางานหนัก ไม่ควรเป็นลักษณะที่มีการกระแทก เพราะหลังผ่าตัดผู้ป่วยมักต้องกินยาต้านเกล็ดเลือด ซึ่งฤทธิ์ยาจะทําให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ง่าย

รู้เรื่องการออกกำลังกายกับโรคหัวใจกันแล้ว อย่าลืมทำตามคำแนะนำนะคะ


บทความอื่นที่น่าสนใจ

4 อาการ เสี่ยงโรคหัวใจ ภัยใกล้ตัวคนทำงาน

7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคหัวใจ

วิธีออกกำลังกาย สำหรับวัยเกษียณ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.