ออกกำลังกาย ลีลาศบำบัด มะเร็งเต้านม

ลีลาศบำบัด มะเร็งเต้านม

สำหรับ คุณจุรีรัตน์ ทองแกมแก้ว คุณครูโรงเรียนบ้านทุ่งไร่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสียงเพลงมีคุณค่ามากกว่าแค่การฟังเพลงเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น เพราะนั่นหมายถึงชั่วโมงการเต้นรำเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจากโรคร้ายอย่าง มะเร็งเต้านม ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

มะเร็งเต้านม จังหวะชีวิตที่เลือกไม่ได้

ย้อนหลังไปเมื่อสองปีก่อน วันหนึ่งขณะที่คุณจุรีรัตน์นั่งเล่นอยู่กับลูกชายคนเล็กและสามี จู่ ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เธอเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า

“หลังจากที่กลับจากไปเยี่ยมลูกสาวที่กรุงเทพฯ พอถึงบ้านฉันก็รู้สึกเมื่อยแขนซ้าย จึงลองเอามือบีบ ๆ นวด ๆ ที่แขนเรื่อยจนมาถึงบริเวณเต้านมด้านซ้าย ฉันลองคลำดูก็พบก้อนกลม ๆ ขนาดเท่าลูกมะนาว ไม่เคลื่อนที่ไปมาและไม่รู้สึกเจ็บ แล้วเมื่อลองบีบที่หัวนม ปรากฏว่ามีน้ำใส ๆ เหมือนน้ำล้างปลาไหลออกมาด้วย จึงมั่นใจยิ่งขึ้นว่าฉันจะต้องเป็นอะไรที่คนอื่นไม่อยากเป็นแน่แล้ว”

ผลจากการตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์ในวันนั้น จึงทำให้ทราบว่าเธอกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะที่ 2 และที่สำคัญคุณหมอย้ำว่าเธอต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดทันที

ด้วยการมีสติบวกกับกำลังใจอันเข้มแข็งของคุณจุรีรัตน์เอง ทำให้เธอทำใจยอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และตัวเธอเองก็กลับเป็นพลังใจที่ดีให้คนรอบข้างได้อีกด้วย สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเธอในเวลาต่อมา

เต้นลีลาศฟื้นฟูสุขภาพ

นอกจากการหันมารับประทานอาหารชีวจิตแล้ว เคล็ดลับสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คุณจุรีรัตน์ใช้ในการฟื้นฟูสุขภาพหลังการทำเคมีบำบัดก็คือ การออกกำลังกายด้วยการเต้นรำลีลาศนั่นเอง

“ทุกครั้งหลังการให้เคมีบำบัด ทำให้ฉันมีอาการข้างเคียงมากมาย ไม่ว่าจะอาเจียน กินอะไรแทบไม่ได้ อ่อนเพลีย ปากแห้ง ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง หรือเป็นมากจนกระทั่งเม็ดเลือดขาวต่ำ แต่เมื่อฉันเริ่มเต้นลีลาศเป็นประจำ ทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใน 2-3 วัน โดยไม่ต้องนอนซมต่อที่โรงพยาบาลอีกหลายวันเหมือนเช่นที่ผ่านมา” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส

คุณจุรีรัตน์เล่าถึงเทคนิคการเต้นลีลาศในแบบของเธอว่า “เริ่มต้นจากการเป็นคนชอบฟังเพลง โดยเฉพาะเพลงเก่าของวงสุนทราภรณ์ จึงคิดว่าหากนำเพลงที่ฟังอยู่ประจำมาเต้นลีลาศเพื่อสุขภาพ นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินใจ แถมคลายเครียดด้วยแล้ว ยังถือเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและสุขภาพของตัวเองหลังผ่าตัดอีกด้วย“ เธอเล่าอย่างอารมณ์ดี และเผยเคล็ดลับในการเต้นรำลีลาศให้ฟังต่อว่า

“ทุกวันนี้ฉันเต้นรำลีลาศเป็นประจำทุกเย็น อย่างน้อยวันละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงแรกหรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นช่วงวอร์มอัพ หรืออบอุ่นร่างกาย เพื่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและให้ข้อต่ออ่อนตัว เริ่มจากเพลงจังหวะช้า ๆ อย่างจังหวะสโลว์ บีกิน หรือตะลุง ใช้เวลาช่วงนี้ประมาณ 5-10 นาที

“ต่อจากนั้นเป็นช่วงที่สองหรือการฝึกฝนร่างกาย โดยใช้จังหวะดนตรีที่เร็วขึ้น เช่น ชะชะช่า แทงโก้ หรือดิสโก้ เต้นให้เหงื่อออกและหัวใจเต้นแรง เมื่อเต้นไปสักพักก็จะบริหารแขนไปด้วยในตัว โดยการเหยียดแขน ยกแขน และหมุนหัวไหล่ บางครั้งก็ชกลมไปด้วย เพื่อป้องกันข้อหัวไหล่ยึดติด ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดเต้านมไปแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงเคลื่อนไหวและก้าวเท้าไปตามจังหวะเพลง

“การเต้นเร็ว ๆ นี้ถือเป็นการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้ปอดและหัวใจทำงานมากที่สุด เหมือนการเต้นแอโรบิคหรือว่ายน้ำ และหากทำเป็นประจำจะส่งผลให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อแขน ช่วงที่สองนี้ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที ส่วนสุดท้ายคือช่วงที่สาม ซึ่งถือเป็นช่วงผ่อนคลายร่างกาย โดยใช้จังหวะดนตรีช้าลง เหมือนช่วงแรก เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติ ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีค่ะ”

นอกจากนี้ คุณจุรีรัตน์ยังแนะนำต่อด้วยว่า “สถานที่ที่ใช้เต้นรำนี้ก็หาได้ไม่ยากค่ะ เต้นได้ทั้งในห้อง สนามหญ้า หรือลานกว้างๆ หน้าบ้าน ที่สำคัญจะเต้นเป็นกลุ่ม จับคู่หรือ เต้นเดี่ยวก็ได้

“อย่างตัวฉันเองมีอาชีพเป็นคุณครู ช่วงปิดเทอม ถ้าไม่เต้นคนเดียวก็จะชวนเพื่อนบ้านมาออกกำลังกายด้วยกันที่ลานหน้าบ้าน แต่พอเปิดเทอม หลังเลิกเรียนสามโมงเย็นของทุกวัน ฉันและเพื่อนๆ คุณครูในโรงเรียนก็จะเปิดห้องเต้นรำลีลาศกัน บางวันก็มีผู้ปกครองนักเรียนขอเต้นด้วยค่ะ”

นอกจากนี้ การเต้นรำลีลาศเป็นประจำยังช่วยให้เธอกลับมามีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไม่แก่เร็ว และมีรูปร่างที่สมส่วนอีกด้วย

ถึงแม้ทุกวันนี้คุณจุรีรัตน์จะได้ทำเคมีบำบัดครบคอร์สแล้ว แต่เธอยังคงออกกำลังกายด้วยการเต้นรำลีลาศอย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพตัวเองแล้ว การเต้นรำลีลาศยังส่งผลดีต่อผู้อื่นอีกด้วย เรามาฟังจากคุณจุรีรัตน์กันต่อค่ะ

มาเต้นรำกันเถอะ

“การได้มาเต้นรำกับเสียงเพลงทำให้มีสุขภาพจิตดี มีสมาธิ ใจเย็นขึ้น ไม่เครียด และร่าเริงอยู่เสมอ ถือเป็นการดีท็อกซ์จิตใจวิธีหนึ่ง อีกทั้งยังได้เพื่อน ได้ความสนุกสนาน และได้มีสังคม มีความสามัคคีที่ได้ร่วมกิจกรรมทางสังคม ไม่เก็บตัว และลดความเห็นแก่ตัว เพราะทำให้เรารู้จักแบ่งปันสิ่งดีๆ อย่างการช่วยเหลือผู้อื่นให้เขารู้จักดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกาย ที่สำคัญ เมื่อเห็นผู้อื่นมีสุขภาพดี เราก็ยิ่งมีความสุขค่ะ”

คุณจุรีรัตน์ยังได้เล่าถึงแผนในอนาคตให้ฟังต่อว่า “การเต้นลีลาศที่โรงเรียนบ้านทุ่งไร่กำลังจะขยายสู่กลุ่มนักเรียน โดยในปีนี้ได้เขียนโครงการ “ลีลาศเพื่อสุขภาพ” ออกเป็นมาตรฐานการศึกษา โดยบรรจุให้ลีลาศเป็นหนึ่งในกิจกรรมกีฬาที่นักเรียนเลือกเรียนได้ในปีหน้า เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีความสุข เพราะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี”

ข้อมูลเรื่อง ” ลีลาศบำบัด มะเร็งเต้านม ” จากนิตยสาร ชีวจิต

คลำตรวจ มะเร็งเต้านม สม่ำเสมอ ประหยัด ปลอดภัย ไร้ความเสี่ยง

ทุกวันนี้บ้านเราใช้งบประมาณสาธารณสุขส่วนใหญ่ไปกับการเยียวยาโรคต่าง ๆ รวมถึงมะเร็ง ขณะที่เจียดเงินเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 ให้กับนโยบายป้องกันโรคต่าง ๆ ทั้งที่ระบบป้องกันและตรวจคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้อย่างมหาศาล

ในส่วนของมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้ารับการรักษา เมื่อป่วยในระยะที่ 2 ขึ้นไป ทำให้อัตราการรอดชีวิตลดลงมากทั้งที่มีความจริงที่ต้องตระหนักอยู่ 2 ประการ

หนึ่ง คือ จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลศิริราชและศูนย์ถันยรักษ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขนาดของก้อนมะเร็งที่ตรวจพบส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 1 ขึ้นไป ซึ่งสามารถคลำเจอได้แต่เนิ่น ๆ หากตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง และหากได้รับการรักษาทันทีจะมีโอกาสรอดชีวิตถึง ร้อยละ 90

สอง คือ ในจำนวนผู้หญิงไทยกว่า 33 ล้านคน ครึ่งหนึ่งอยู่ในวัยที่ควรทำเอกซเรย์เต้านม (Screening Mammogram) อย่างต่อเนื่องปีละครั้ง วิธีการนี้สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น (ระยะ 0) ซึ่งรักษาหายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำสกรีนนิ่งแมมโมแกรมในปัจจุบัน มีข้อจำกัดตรงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งอุปกรณ์และบุคลากรยังจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ ขณะที่ผู้หญิงในวัยนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลโอกาสที่จะได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือดังกล่าวจึงเป็นไปได้น้อยมาก คุณหมอยังแนะนำต่อว่า

“การรณรงค์ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะกับบ้านเราที่สุด ทางศูนย์จึงได้เริ่ม ‘โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม’ โดยได้รับความร่วมมือจากอสม.กว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศเป็นเครือข่ายให้ความรู้ รวบรวมสถิติ และส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

“ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเพิ่มโอกาสการตรวจพบสิ่งผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิผลและประหยัดทั้งงบประมาณของประเทศและเงินในกระเป๋าผู้ป่วยที่สำคัญคือ การลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด”

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

ท่าบริหาร แก้ออฟฟิศซินโดรม

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต


© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.