เบาหวาน

เบาหวาน น่ากลัวกว่าที่คิด

ใกล้บอดเพราะ เบาหวาน

เรื่องราวของคุณสมเจตน์ สุริยา วัย 34 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับดวงตา จะทำให้รู้ว่าเบาหวาน อันตรายกว่าที่คิด “หมอบอกว่า จริงๆแล้วผมเป็นเบาหวานมานานแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี แต่ผมเพิ่งมารู้เมื่อปีกลาย (พ.ย.2551) จากนั้นก็กินยามาโดยตลอดทั้งยาลดน้ำตาลในเลือด ยาลดไขมัน ปรับเปลี่ยนตัวเองหลายอย่าง เลิกดื่มเหล้า เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารรสจัด และเลิกดื่มน้ำอัดลมโดยเด็ดขาด แต่คงเป็นเพราะเราใช้ชีวิตแบบนี้มาเป็นสิบปี พอมาปรับเปลี่ยนในระยะสั้นๆ จึงเอาไม่อยู่เนื่องจากระบบการเก็บอินซูลินของร่างกายสูญเสียไปกินกว่าจะฟื้นฟูได้แล้ว”

โดยเฉพาะขณะนี้ คุณสมเจตน์เริ่มมีอาการแทรกซ้อนที่ตาทั้งสองข้าง “ความผิดปกตินี้เริ่มขึ้นนานแล้ว ตอนแรกก็เริ่มจากรู้สึกว่า ตาทั้งสองข้างพร่ามัวโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ผมก็ยังไม่เอะใจ และไม่คิดว่าจะเกี่ยวกับเบาหวานที่เราเป็น ก็กินยามาเรื่อยจนผ่านไปสองเดือน คราวนี้เริ่มมองอะไรไม่ค่อยเห็น ต้องเพ่งมากขึ้น จนปวดเบ้าตาไปหมด บางเวลาก็เห็นเป็นภาพซ้อนบ้าง ต้องขยี้ตามองบ่อยๆจนแสบตา ผลจากเบาหวานขึ้นตา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคุณสมเจตน์หลายด้าน”

“ตอนนี้ผมต้องไปหาหมอทุกเดือนเพื่อรับยามากินเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และเริ่มมีปัญหาหลายอย่าง เพราะผมเป็นพ่อค้า ต้องใช้สายตาขับรถซื้อของ พอตาไม่ดีก็ทำให้อ่านหนังสือลำบาก บางทีก็คิดเงินผิดๆถูกๆเพราะไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่เห็นในบิลเป็นเลขอะไร”

นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 2 กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เบาหวานลุกลามไปที่ตาว่า

“ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานกว่า 15 ปี จะมีโอกาสเป็นเบาหวานขึ้นตามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นเบาหวาน เส้นเลือดตามอวัยวะต่างๆในร่างกายจะเสื่อมสภาพลง ซึ่งการเสื่อมของเส้นเลือดนี้ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะเกิดขึ้นที่ใด พอเกิดเส้นเลือดที่ตาเสื่อม ร่างกายก็จะมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาแทน และเส้นเลือดที่งอกขึ้นมาใหม่นี่เองที่ทำให้ตาของเราผิดปกติ โดยอาจทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น หรือทำให้เกิดการรั่วของโปรตีนในลูกตา ส่งผลให้เกิดความผิดปกติด้านการมองเห็นได้”

เบาหวาน ส่งกระทบได้ตั้งแต่กระจกตา เลนส์ตา ไปจนถึงวุ้นในตา ขึ้นอยู่กับว่า จะไปกินตรงก่อน ถ้าเกิดเป็นที่เลนส์ตาก็จะทำให้ตาบวม เป็นต้อกระจก ต้อหิน แต่ถ้าเป็นที่จอตาก็จะทำให้เห็นภาพดำๆ เบลอๆ ไป หรือว่าเหมือนมีเงาๆ อยู่ตลอดเวลา เกิดเลือดออกในจอตา และอาจรุนแรงถึงตาบอดได้

วิธีหลีกเลี่ยงเบาหวานคุกคามดวงตา

  1. ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เพราะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานหากควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีเท่าไร โอกาสที่เส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงดวงตาจะมีความยืดหยุ่นและคงทนก็จะยิ่งมีมากขึ้น
  2. ตรวจสายตาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจหาความเสี่ยงและการรั่วของโปรตีนในตาซึ่งเป็นสาเหตุเบื้องต้นของอาการผิดปกติที่ดวงตา
  3. ระมัดระวังเรื่องการใช้สายตาเป็นพิเศษ ไม่ควรเพ่งมาก อ่านหนังสือในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ และเมื่อมีอาการผิดปกติที่ตา เช่น ตาพร่ามัว ตาบวม ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  4. อย่าซื้อยามาหยอดตาเองโดยเด็ดขาด เพราะยาบางตัวอาจกระตุ้นให้เกิดอันตรายถึงตาบอดได้

เพราะเบาหวานจึงต้องตัดขา

คุณพิมพ์สิริ (นามสมมุติ) ลูกสาวที่ต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นเบาหวานเรื้อรังมานานกว่า 20 ปีเล่าว่า “คุณแม่ของฉันเป็นคนติดในรสชาติของอาหารมาก โดยเฉพาะรสหวาน รสมัน ของโปรดที่กินประจำคือ กุนเชียงทอดกรอบๆ และขนมหวานทุกชนิด กินมาตลอดจนกลายเป็นคนอ้วน และเป็นเบาหวาน พอไปพบหมอได้ยามากินแม่ก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ”

“จนวันหนึ่งฉันสังเกตเห็นว่า คุณแม่มีแผลที่นิ้วกลางของเท้าซ้าย ฉันศึกษาเรื่องเบาหวานมาพอสมควรเพื่อดูแลคุณแม่ รู้ว่าสำหรับคนเป็นเบาหวาน แม้จะมีแผลแค่นิดเดียว แต่ก็จะหายช้า พวกเราลูกๆก็ช่วยกันดูแลแผลของแม่เต็มที่” “เพราะแม่ไม่เชื่อหมอ ยังมีความสุขกับการกินเหมือนเดิม ที่สุดแผลที่นิ้วเท้ากลางข้างซ้ายก็เริ่มบวมเป่ง มีสีเขียวคล้ำ เป็นหนองจนแม่บ่นว่าปวดระบมไปหมด เป็นอย่างนี้อยู่เกือบเดือนจนต้องพาไปหาหมอ”

“อาการของคุณแม่ตอนนั้นแย่มาก เพราะท่านเริ่มควบคุมการขับถ่ายของตัวเองไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการมีของเสีย โดยเฉพาะน้ำตาลคั่งในอยู่เลือดมากผิดปกติ เราเองก็ตกใจ คิดไม่ถึงว่า แม่มีแผลแค่นิดเดียว จะทำให้เป็นมากถึงขนาดนี้ ทุกคนกลัวแม่จะตาย สุดท้ายเราก็เลือกที่จะตัดขาข้างซ้ายออกไปเพื่อรักษาชีวิตของแม่ไว้”

   ทุกวันนี้คุณแม่ของคุณพิมพ์สิริช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องกินยาวันละเกือบสิบเม็ด และได้รับการดูแลจากคนรอบข้างอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีโรคแทรกซ้อนทีเกิดจากเบาหวานตามมามากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ระบบขับถ่ายมีปัญหา ตาฝ้ามัว ที่ร้ายแรงกว่านั้น เบาหวานยังลุกลามไปทำลายระบบการทำงานของไต

แม้จะรู้ว่าเบาหวานเป็นโรคเงียบที่ซ่อนเร้น และรักษาไม่หาย แต่เหตุใดอาการเบาหวานของบางคน ถึงลุกลามใหญ่โตจนต้องตัดอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งคุณหมอสุวินัย ได้ขยายความไว้ดังนี้

“เบาหวานเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสื่อมของเส้นเลือดได้ง่าย เพราะพอเป็นแล้วจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติสองอย่างคือเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ซึ่งคนไข้เบาหวามมักจะเกิดอาการชาบริเวณปลายขา ปลายมือ เวลาเป็นแผลจึงไม่รู้ตัว และทำให้เส้นเลือดตามร่างกายเสีย เพราะคนเป็นเบาหวานเส้นเสือดส่วนปลายจะเสื่อม พอเป็นแผลก็ทำให้เลือดไปเลี้ยงตรงที่เป็นแผลไม่ดี ทำให้ เป็นแผลเรื้อรังไม่หายสักที”

“หลายคนอาจเข้าใจว่าการเสียขา เพราะเบาหวานไปหนึ่งข้าง เท่ากับเราเสียไป 50 เปอร์เซ็นต์นะ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราเสียไปแล้วถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะขาของเราเกี่ยวโยงโดยตรงกับระบบของการทรงตัว การถูกตัดขาจึงถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เช่น ต้องออกจากงาน เดินไม่คล่อง เป็นภาระคนอื่น”

“ส่วนใหญ่คนไข้ร้อยทั้งร้อย ไม่ยอมให้ตัดหรอก แพทย์เองเราก็พยายามป้องกันให้ได้มากที่สุด เพราะเข้าใจ ซึ่งก่อนที่จะตัด หมอต้องดูลักษณะของแผลก่อนว่าล้างได้ไหม ถ้าจำเป็นก็ต้องตัด เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม จนติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้”

วิธีดูแลเท้าขณะป่วยเป็น เบาหวาน

  1. ตรวจดูเท้าทุกวัน ถ้ามีแผลหรือมีการอักเสบแม้เพียงเล็กน้อย อย่านิ่งดูดายต้องไปปรึกษาแพทย์ทันที
  2. รักษาเท้าให้สะอาด ล้างเท้าทุกวันและเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า
  3. ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ควรใส่รองเท้าแตะนุ่มๆ เมื่อเดินอยู่ในบ้าน และเมื่อออกจากบ้านควรเลือกรองเท้าพื้นนิ่ม ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป ทั้งนี้หากมีรอยแผลที่เท้า แสดงว่าใส่รองเท้าไม่เหมาะสม
  4. ควรเดินออกกำลังกายสม่ำเสมอ วันละประมาณ 30 นาที กรณีเดินแล้วปวดน่อง ควรฝืนเดินต่ออีก 5-10 ก้าว เพื่อเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อของขาให้ดีขึ้น
  5. ควรตัดเล็บเท้าทุก 1-2 สัปดาห์ ก่อนตัดเล็บควรแช่เท้าน้ำอุ่น ไม่เกิน 37 องศาเซลเซียส นาน 10-15 นาที จะทำให้เล็บอ่อน และตัดง่าย
  6. เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติของเท้า เช่น สี มีอาการบวมช้ำเนื้อแข็ง มีตาปลา เป็นต้น อย่านิ่งดูดายรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นเป็นสัญญาณอันตรายของความผิดปกติ และอาจนำไปสู่การถูกตัดขาได้

ไตวายเพราะเบาหวาน

บางเวลาอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมาเยือนโดยไม่บอกล่วงหน้า ดังที่คุณศุภชัย ปานนาค วัย 59 ปี ผู้ซึ่งมีอาการไตวายเพราะเบาหวานได้ประสบ “ผมรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวานเมื่อ14 ปีก่อน หลังจากนั้นก็ดูแลตัวเองอย่างดีมาตลอด ทั้งออกกำลังกาย งดอาหารหวาน มัน เค็ม และไปพบหมอสม่ำเสมอ”

คุณศุภชัยไปตรวจสุขภาพทุกระยะ ทว่าพอไม่พบความผิดปกติ เลยคิดว่ายาที่กินสามารถควบคุมอาการได้ จึงออกกำลังกายน้อยลง กินอาหารที่น้ำตาลสูง ซึ่งแม้จะจำกัดปริมาณการกินแต่ก็ยังส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดทั้งสิ้น

“จนวันหนึ่งรู้สึกเหนื่อยมาก เดินนิดเดียวเหมือนไปวิ่งหนีอะไรมา ต่อมาก็เริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยและออกมากผิดปกติ และมีมดตอม ร่วมกับนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิในการทำงาน คันตามตัว หายใจหอบ กินอะไรลงไปก็อาเจียนออกมาหมด ท้องอืด ไม่ถ่าย ผิวมีสีเหลือง ตัวบวมเหมือนส้มโอ บวมมากจนกางเกงบอลที่ใส่อยู่ประจำคับติ้วไปหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่เคยเป็นเลยไปหาหมอ และได้รู้ว่าเราเป็นโรคไตระยะที่สาม และต้องฟอกเลือด”

“หมอเคยบอกว่า ภาวะแทรกซ้อนทางไตที่เกิดจากโรคเบาหวานนี้จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และในระยะต้นๆจะไม่รู้ แม้ว่าจะตรวจเลือดก็ตาม กว่าจะรู้ว่าเป็นซึ่งต้องตรวจจากปัสสาวะก็สายเกินแก้แล้ว”

ทั้งนี้คุณหมอสุวินัย กล่าวว่า ความน่ากลัวของโรคนี้อยู่ที่โรคแทรกซ้อนที่ตามมามากมาย ด้วยเหตุนี้คนเป็นเบาหวานจึงมีโอกาสเกิดโรคหัวใจและอัมพาตได้มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า

“จากสถิติพบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่ต้องล้างไตเกิดจากเบาหวานมากกว่า เพราะจากการศึกษาพบว่า ไตมีหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งต้องทำงานตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงมาก ไตก็จะยิ่งทำงานหนัก และส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น ขาบวม ปัสสาวะออกน้อย คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว ไม่มีแรง ปวดหัวใจ เป็นมากๆหากไม่ได้รับการฟอกไตก็อาจทำให้เกิดการช็อคและเสียชีวิตได้”

วิธีป้องกันเบาหวานรุกรานไต

  1. จำกัดอาหารรสเค็มโดยเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้ไตทำงานได้หนักขึ้น
  2. ตรวจสอบการทำงานของไต โดยการไปตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง
  3. เมื่อมีอาการเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย แสบขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด ควรไปพบแพทย์
  4. ยาทุกชนิดมีผลกับการทำงานของไต ดังนั้นก่อนใช้ยาต้องปรึกษาแพทย์

ข้อมูลเรื่อง ” เบาหวาน น่ากลัวกว่าที่คิด” จากนิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.