โรคมือ เท้า ปาก

กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวัง โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก

กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวัง โรคมือ เท้า ปาก เพื่อศึกษาแนวโน้ม การระบาดของโรคและเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคได้ทันต่อเหตุการณ์

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเตอโร ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง

ในประเทศไทยเชื้อไวรัสที่มักพบว่าเป็นสาเหตุ ของโรค คือ ไวรัสคอกซากี เอ16 และไวรัสเอนเตอโร 71 ซึ่งอาจจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วยหรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะมีไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใส ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว มักจะหายได้เองภายใน 7- 10 วัน

หากในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงทางระบบประสาทและระบบหายใจ เช่น ปอดบวมน้ำ สมองอักเสบ หัวใจวาย อาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที

จากข้อมูลการเฝ้าระวัง ทางห้องปฏิบัติการ ในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 จากตัวอย่างส่งตรวจ จำนวน 3,634 ราย (5,339 ตัวอย่าง) พบว่า ไวรัสเอนเตอโร 71 เป็นสาเหตุหลักของโรคมือ เท้า ปาก แต่ในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา พบว่า เป็นไวรัสคอกซากี เอ 16 สำหรับปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 22 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ได้รับตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 110 ราย (150 ตัวอย่าง) พบว่า เป็นไวรัส เอนเตอโร 71และไวรัสคอกซากี เอ 16 จำนวนใกล้เคียงกัน และนอกจากไวรัสสำคัญ 2 ชนิดดังกล่าวแล้ว ยังพบไวรัสคอกซากี เอ 10 และไวรัสคอกซากี เอ 6 บ้างเล็กน้อย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมรองรับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส เอนเตอโรไว้พร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้และกำลังคน

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันการติดเชื้อโดยการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี จึงควรเน้นเรื่อง การล้างมือด้วยสบู่ ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก ไม่ใช้จาน ชาม แก้วน้ำร่วมกัน ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดอยู่เสมอ

หากพบว่ามีเด็กป่วยให้แยกเด็กป่วยออก จากเด็กปกติและให้เด็กหยุดลาพัก ในกรณีที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อาจต้องปิดโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และทำความสะอาดพื้นผิวที่สงสัยเปื้อนเชื้อ โดยใช้ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์หรือน้ำยาฟอกขาว 0.5% – 1% เนื่องจากเชื้อไวรัส กลุ่มเอนเตอโรไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์

ที่มา :กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.