บุหรี่

สธ. เผยมาตรการห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน

ห้ามแบ่งซองขาย บุหรี่

กระทรวงสาธารณสุข เผยการกำหนดมาตรการห้ามแบ่งซองขาย บุหรี่ เป็นรายมวนในร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อมุ่งหวังในการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเด็กและเยาวชน โดยผลสำรวจในเด็กไทยที่สูบบุหรี่ พบว่าเกือบร้อยละ 90 เริ่มต้นมาจากการซื้อบุหรี่แบ่งซองขายเป็นรายมวน พร้อมชี้มาตรการนี้ ไม่ได้กระทบภาพรวมรายได้ของร้านค้าปลีกแต่อย่างใด
เมื่อวานนี้ (6 มีนาคม 2560) นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวนในร่างกฎหมายฉบับใหม่ ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรา 39 ในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ขณะนี้ได้ความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปแล้ว

บุหรี่

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องกำหนดมาตรการ ห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน เพื่อมุ่งหวังในการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้โดยง่ายของเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังเป็นมาตารการที่ถูกกำหนดไว้ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO-FCTC) ด้วย  ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากถึง 93 ประเทศ ได้กำหนดมาตรการ กฎหมายเกี่ยวกับการห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวนแล้ว

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป


จากข้อมูลผลการสำรวจที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 พบว่าเด็กไทยช่วงอายุ 15 – 17 ปี ที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 88.3 ของเด็กที่สูบบุหรี่กลุ่มนี้ เริ่มต้นมาจากการซื้อบุหรี่แบ่งซองขายเป็นรายมวนมาสูบ  และมีงานวิจัยจากหลายประเทศ ยืนยันว่า

1.การแบ่งขายบุหรี่เป็นมวนทำให้เกิดค่านิยมที่ยอมรับการสูบบุหรี่ว่าเป็นเรื่องปกติ

2.การห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นมวนจะช่วยให้ผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่แบบไม่ทุกวันหรือเป็นครั้งเป็นคราว ทำให้เลิกสูบได้ง่ายขึ้น

ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็มีผู้ที่สูบบุหรี่ในลักษณะนี้มากถึงล้านกว่าคน การห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นมวน จึงอาจทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น

สูบบุหรี่
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ตามที่มีผู้กล่าวอ้างผ่านสื่อต่างๆ ว่า การซื้อบุหรี่แบบแบ่งขายเป็นมวน ทำให้เลิกสูบบุหรี่ง่ายขึ้น นั้น กรณีนี้ไม่เคยมีหลักฐานทางวิชาการปรากฏตามข้อกล่าวอ้างนี้ แต่กลับตรงกันข้าม ในงานวิจัยทางการแพทย์ พบว่า การที่คนสูบบุหรี่สามารถซื้อบุหรี่แบบแบ่งขายเป็นมวน กลับจะทำให้เลิกบุหรี่ได้ยากขึ้น เพราะเขาจะได้บุหรี่มาสูบทุกครั้งที่อยากสูบ แม้เขาจะมีเงินไม่มากพอที่จะซื้อบุหรี่เป็นซองก็ตาม
อย่างไรก็ตาม  มาตรการห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน ไม่ได้เป็นมาตรการที่กระทบภาพรวมรายได้ของร้านค้าปลีกแต่อย่างใด เนื่องจากโดยสภาพของร้านค้าปลีกโดยทั่วไป จะนำสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายชนิดมาวางขาย และสินค้าบุหรี่เป็นเพียงสินค้ารายการหนึ่งเท่านั้น และไม่ใช่สินค้าจำเป็นที่ทุกร้านต้องมีไว้ขาย

นอกจากนี้รายได้จากการขายบุหรี่ยังเป็นเพียงแค่หนึ่งในสิบของรายได้โดยรวมของร้านค้าปลีกเท่านั้น

หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ที่มา : สํานักควบคุมการบริโภคยาสูบ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.