สองชีวิต หนึ่งดวงใจ ฝ่าวิกฤติ “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย”

สองชีวิต หนึ่งดวงใจ ฝ่าวิกฤติ “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย”

อย่าประมาท ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่อาจเป็นได้ไม่รู้ตัว

“เพราะรักคือการให้” หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่านี้ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของมันได้อย่างถ่องแท้เช่นเดียวกับ คุณนิ-วนิดา เรืองขจร (อายุ 33 ปี) ผู้ซึ่งรู้ซึ้งถึงคำว่า “รัก” และ “การให้” โดยไม่มีข้อแม้ ก็ต่อเมื่อวันที่เธอป่วยเป็นโรค ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และได้รับบริจาคไตจากพี่ชาย คุณเดช-สมเดช เรืองขจร (อายุ 43 ปี)

 

สัญญาณเตือน ส่อไตทรุด

          “นิเป็นคนแข็งแรงมากกก…ตั้งแต่เด็ก ไม่ค่อยเจ็บป่วย ไปโรงพยาบาลแค่ครั้งเดียวคือไปตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย” คุณนิลากเสียงยาว หลังจากผู้เขียนยิงคำถามถึงเรื่องราวสุขภาพของเธอในอดีต ก่อนจะเล่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตให้ฟังว่า…

“หลังจากนิเริ่มทำงาน หาเงินใช้เองได้ ก็ไม่ดูแลตัวเองเลย กินแหลก ดื่มเหล้าสังสรรค์แทบทุกวัน เฮไหนเฮนั่น เต็มที่กับชีวิตสุดๆ คำว่าออกกำลังกาย คำว่าอาหารดีมีประโยชน์นี่ลบออกไปจากสมองได้เลย”

เมื่อดำรงตนอยู่ในความประมาท และไม่แยแสเรื่องสุขภาพ คุณนิจึงไม่ได้ใส่ใจกับความผิดปกติของร่างกายเท่าไรนัก ทั้งที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยง่าย และมีอาการเท้าบวม แต่ในท้ายที่สุดก็ยังคงหาข้ออ้างเพื่อความสบายใจ

“นิมีอาการแปลกๆ คือเหนื่อยง่ายมาก ตอนเช้าจากที่เคยตื่นมาทำงานบ้านสารพัด กลายเป็นเอาผ้าใส่เครื่องปุ๊บก็หลับคาตรงนั้นเลย หรือตอนเย็นทำงานเสร็จกลับห้องพักก็หลับเป็นตาย ตื่นมาอีกที 4-5 ทุ่ม ถึงจะรู้สึกสดชื่นขึ้น เราก็ได้แต่โทษว่าเป็นเพราะเราอ้วนบ้างล่ะ ทำงานหนักบ้างล่ะ

“จนอยู่มาวันหนึ่ง ออกไปกินส้มตำปลาร้าเมนูโปรด เราก็ถอดรองเท้ากินอย่างสบายใจ (หัวเราะ) แต่พอกินเสร็จ จะใส่รองเท้าเท่านั้นแหละ ยัดเท่าไหร่ก็ยัดไม่ลง เพราะเท้าบวมเป่งเลย ลองเอานิ้วจิ้มดู ก็บุ๋มไปตามแรงกด ตอนนั้นตกใจมาก รีบโทรหาเพื่อนที่ทำงานที่โรงพยาบาลทันที”

สองชีวิต หนึ่งดวงใจ ฝ่าวิกฤติ “ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย”

คลิกอ่านต่อได้ที่หน้าถัดไป

สาววัย 27 เผชิญไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

          คำแนะนำจากปลายสายในวันนั้น คือให้คุณนิรีบเข้ามาพบคุณหมอเป็นการด่วน เพราะด้วยอาการที่ปรากฎ เธอน่าจะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือโรคไต แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ยังคงนิ่งนอนใจอีกเช่นเคย

“พอกลับถึงบ้าน ปัสสาวะ อาการบวมที่เท้าก็ค่อยๆ ลดลง เราก็เลยผลัดวันประกันพรุ่งยังไม่ไปหาคุณหมอ คิดว่าไม่เป็นอะไรมากหรอกน่ะ แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ งานเข้าเลยค่ะ (หัวเราะ) คือ ตื่นลืมตาขึ้นมา มันมืดไปหมด มองไม่เห็นอะไรเลย นอกจากแสงไฟมัวๆ คราวนี้ก็เลยรีบแจ้นไปคลินิกที่ใกล้ที่สุดก่อนเลย”

หลังจากคุณหมอตรวจร่างกายเบื้องต้น ทำให้ทราบว่าความดันโลหิตของคุณนิสูงมาก อยู่ในเกณฑ์อันตราย ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม หรือเกิดอาการตาบอดชั่วคราว จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้วยการตรวจวัดความดันโลหิตทุกสิบนาที ร่วมกับกินยาลดความดันโลหิต จนกระทั่งการมองเห็นของเธอเริ่มค่อยๆ ดีขึ้น

แต่แล้ววันรุ่งขึ้น เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง!

“นินั่งทำงานอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็น็อคไปเลย พี่ที่ทำงานต้องหามส่งโรงพยาบาลในสุพรรณฯ (บ้านเกิดของคุณนิ) หมอจับตรวจเลือดอย่างละเอียดอยู่หลายครั้ง แล้วบอกว่าเราเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ตอนนี้การทำงานของไตอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกนิดนึงก็เสียชีวิตได้แล้ว”

แม้จะช็อคกับสิ่งที่ได้ยิน แต่คุณนิซึ่งในเวลานั้นมีอายุเพียง 27 ปี ยังคงกัดฟันรอฟังหนทางการรักษาจากคุณหมอ อย่างมีความหวัง

“หมออธิบายวิธีการรักษาให้ฟัง 3-4 วิธี จนมาถึงวิธีสุดท้ายคือเปลี่ยนไต ซึ่งหัวใจหลักของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ พ่อแม่ พี่น้อง หรือสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัวต้องเสียสละไต 1 ข้างของตัวเองให้กับนิ …แต่ให้ตายยังไง นิก็ไม่ยอมเอา”

คลิกอ่านต่อได้ที่หน้าถัดไป

เปลี่ยนไต เปลี่ยนชีวิต

          แม้หนทางในการรอดพ้นจากโรคร้ายจะมีไม่มาก แต่คุณนิยังคงปฏิเสธการรับไตจากคนในครอบครัว นั่นเพราะเธอรู้ดีว่า นี่คือความเสี่ยงทั้งชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่หนึ่ง แต่มันคือสองชีวิต!

“นิมีพี่น้องทั้งหมด 7 คน เราเป็นน้องสาวคนสุดท้อง ในวันที่นิแย่ ทรมาน พี่ๆ ทุกคนยินดีให้ไตกับนิ วินาทีนั้นเราปลื้มใจ ดีใจ แต่ทำใจรับไม่ได้ ต่อต้าน ปฏิเสธทุกครั้งที่ใครมาพูดเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาเสี่ยงชีวิตเพราะเรา

“จนกระทั่งวันที่นิอาการเพียบหนัก นอนอยู่ในห้องไอซียู พี่เดช (พี่ชายคนที่ 6) ก็เข้ามาพูดกับนิว่า…พี่จะเป็นคนให้ไตนิเอง นิไม่ต้องคิดว่านิกำลังเอาชีวิตของพี่ไป แต่นี่คือการใช้ชีวิตร่วมกัน” น้ำเสียงของคุณนิสั่นเครือ ก่อนจะเล่าเรื่องราวชวนซึ้งใจให้ฟังอีกว่า

“พี่สะใภ้ (ภรรยาของคุณเดช) ก็เข้ามาช่วยพูดอีกแรง เขาบอกว่า …นิ นิรู้ไหม ถ้านิเอาไตพี่เดชไป พี่จะกลายเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่สุดในโลก เพราะต่อไปนี้พี่เดชจะต้องดูแลตัวเอง ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ กลับบ้านตรงเวลา”

เมื่อกำลังใจเต็มเปี่ยม มติของครอบครัวจึงเป็นเอกฉันท์ นับจากวันนั้น ทุกคนจึงเริ่มศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังว่าโรงพยาบาลใดมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคไต และคำตอบสุดท้ายคือโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไต ทีมแพทย์ต้องตรวจร่างกายของคุณนิและคุณเดชอย่างละเอียด ซึ่งเธอเล่าให้เราฟังแบบติดตลกว่า

“นอกจากตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือด เพื่อดูว่าจะเลือกไตข้างไหนของพี่เดชมาเปลี่ยนกับเรา ไตข้างไหนสมบูรณ์ ไตข้างไหนแข็งแรง เวลาตัดจะตัดตรงไหน เอามาต่อกับเราตรงไหนยังไง พี่เดชยังต้องเข้าพบจิตแพทย์ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้คุณหมอเช็คว่า ไม่ได้ถูกบังคับมา ยินยอมพร้อมใจที่จะให้ไตจริงๆ และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนดี จนสุดท้ายพี่เดชต้องตอบคุณหมอไปว่า…ผมไม่ได้บ้าคร๊าบ” คุณนิหัวเราะร่วน เมื่อพูดถึงวีรกรรมของพี่ชายสุดที่รัก

และแน่นอนว่าเมื่อสภาพกายใจของ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” พร้อมแล้ว วันที่ทุกคนลุ้นระทึกก็มาถึง สองพี่น้องถูกเข็นเข้าห้องผ่าตัดที่อยู่ข้างๆ กัน …เวลาล่วงเลยไปหลายชั่วโมง จนกระทั่งสองชีวิต หนึ่งดวงใจ (เดียวกัน) ตื่นลืมตาขึ้นพร้อมรอยยิ้มอีกครั้ง

คลิกอ่านต่อได้ที่หน้าถัดไป

ตอบแทนชีวิตใหม่ ด้วยการใส่ใจสุขภาพ

หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นไม่นาน คุณนิก็ต้องพบกับความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของตัวเอง

“ไตของพี่เดชกับร่างกายของนิเชื่อมต่อกันได้ภายเวลาแค่ใน 2 ชั่วโมง นิสามารถปัสสาวะเองได้ และค่าการทำงานของไตที่เคยสูงถึงสิบกว่า ภายในคืนเดียวลดลงเหลือแค่ 1-2 เท่านั้น สภาพร่างกายฟื้นตัวเร็วมาก จนคุณหมอที่ผ่าตัดบอกว่า พี่เดชและนิเกิดมาเพื่อเป็นอะไหล่ให้กันและกันโดยเฉพาะ”

การได้ชีวิตใหม่กลับมาครั้งนี้ ทำให้คุณนิตั้งใจปฏิวัติสุขภาพของตัวเองใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน เรียกว่ากลายร่างจากเจ้าแม่ปาร์ตี้ มาเป็นสาวเฮลท์ตี้ตัวยงเลยทีเดียว

“นิหันมาดูแลเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ลดเค็ม ลดโซเดียม ของมัน ของทอด ถ้าเป็นไปได้จะพยายามทำอาหารคลีนกินเองทุกมื้อ ช่วงแรกอาจจะฝืนใจกับรสชาติจืดๆ ไปบ้าง แต่นานวันเข้า เราก็จะรู้สึกว่ามันอร่อย อย่างเมื่อก่อนที่บ้านจะมีกับข้าว 2 สำรับ ของพ่อแม่สำรับหนึ่ง ของนิซึ่งเป็นอาหารจืดสำรับหนึ่ง สุดท้ายทุกวันนี้ยุบรวมเหลือสำรับเดียว คือกินจืดกันทั้งบ้าน (หัวเราะ)”

สาวอารมณ์ดียังกล่าวเสริมถึงวิธีออกกำลังกายของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตอีกด้วยว่า

“คุณหมอบอกว่า เราสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงกีฬาที่เสี่ยงต่อการปะทะ หรือกระทบกระเทือนต่อไต เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล ส่วนฟิตเนส โยคะนี่เล่นได้สบายบรื๋อ

“นิจะไปฟิตเนสทุกวัน เริ่มจากเดินบนลู่ 30 นาที ปั่นจักรยาน 30 นาที เวตเทรนนิ่งส่วนต่างๆ วันละส่วน เช่น วันนี้ออกกำลังกล้ามเนื้อแขน พรุ่งนี้ออกกำลังกล้ามเนื้อขา หรือถ้ามีเวลาก็ไปว่ายน้ำต่อค่ะ”

ก่อนจากกัน เราก็เลยขอเข้าโหมดซึ้งเสียหน่อย โดยการถามคุณนิว่ามีอะไรอยากบอกกับพี่ชายผ่านหน้ากระดาษนี้ไหม

“นิเชื่อว่าเรารักและห่วงใยกันเสมอ ถ้าไม่มีพี่เดช ก็ไม่มีเราทุกวันนี้ นิคงตายไปแล้ว…ขอบคุณจริงๆ”

          เรื่องราวของสองพี่น้อง ทำให้ผู้เขียนกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกอิ่มเอมใจ …การเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ที่แท้จริง มีความสุขเช่นนี้นี่เอง

 

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ประสบการณ์สุขภาพ ฉบับ 429

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.