ลิ้นจี่

กิน ลิ้นจี่ ตอนท้องว่าง อันตรายจริงหรือ ?

ลิ้นจี่ ห้ามกินตอนท้องว่าง ?

จากการแสข่าวที่กำลังโด่งดังในโลกโซเชียล เรื่อง “กิน ลิ้นจี่ ขณะท้องว่างมีอันตรายถึงตาย” ทำให้คนไทยหลายคนเกิดความวิตกกังวล และตื่นตระหนักกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบลิ้นจี่

ลิ้นจี่ เป็นผลไม้รสหวาน ชุ่มฉ่ำ เป็นที่โปรดปรานสำหรับใครหลายคน เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับลิ้นจี่เกิดขึ้น จึงทำให้บรรดาแฟนคลับลิ้นจี่ ต่างกังวลใจไปตาม ๆ กัน แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เรานำข้อมูลที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้ มาเสริฟคุณค่ะ

รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ออกมาพูดถึง กรณีข่าว เด็กอินเดียกินลิ้นจี่ แล้วเสียชีวิตว่า “ จากข่าวที่แชร์กันในโลกโซเชียล อยู่ในขณะนี้ อาจเกิดจากความเข้าใจผิด ในเรื่องของการให้ข่าว ความจริงแล้วเด็กอินเดียกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มประชากร ภาวะขาดสารอาหาร และได้เข้าไปกินลิ้นจี่ในสวนผลไม้ขณะท้องว่าง ซึ่งท้องว่างในที่นี้หมายถึง เด็กกลุ่มนี้ยังไม่ได้มีการรับประทานอาหารใด ๆ  จากนั้นได้เกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในที่สุด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การเสียชีวิตของเด็กกลุ่มนี้จะมาจากการกินลิ้นจี่เพียงอย่างเดียว ”

สำหรับเรื่องพิษที่อยู่ในลิ้นจี่นั้น มีอยู่จริง คือสารที่ชื่อว่า “hypoglycin A” ซึ่งเจ้าสารตัวนี้ มีอยู่ในผลไม้พื้นเมืองของชาวแอฟริกาตะวันตกเขตร้อน ที่ชื่อว่า “Ackee” หากผู้ที่ไม่รู้วิธีการทานผลไม้ชนิดนี้ จะเกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ หน้ามึน เหงื่อแตก คล้ายจะเป็นลม กระหายน้ำ และอาเจียน หากจะรับประทานผลไม้ชนิดนี้ จะต้องรอให้สุกก่อนเสียก่อน เพราะสาร hypoglycin A จะลดลงจนแทบไม่เหลือสารพิษเมื่อผลไม้สุกดี

ลิ้นจี่

รศ.ดร. รัชนี ยังกล่าวต่ออีกว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ น่าจะมาจาก หลายปัจจัยประกอบกัน เช่น 1. ภาวะขาดสารอาหาร 2. การกินลิ้นจี่ที่กึ่งดิบกึ่งสุก 3. การได้รับพิษจากผลไม้ ที่ไม่สะอาด เมื่อรับประทานลิ้นจี่เข้าไปในปริมาณที่มาก มากเกินพอดีจึงทำให้สารพิษที่มีอยู่ใน ลิ้นจี่กึ่งสุกกึ่งดิบ เกิดปฏิกิริยาขึ้นในร่างกาย คือ สาร hypoglycin A จะเข้าไปยับยั้งการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคส ที่อยู่ในร่างกาย มีผลให้น้ำตาลไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ จนเกิดภาวะขาดน้ำตาล (อาการจะคล้ายคนไม่ได้กินอาหารเช้า) ทำให้ร่างกายหันไปใช้ไขมันแทนพลังงาน ซึ่งไขมันที่เหลือจากกระบวนการย่อยนั้นเปรียบเสมือนขยะ เพราะมีความเป็นกรดสูง เมื่อร่างกายนำไขมันในส่วนนี้ไปใช้ จึงทำให้เลือดเกิดภาวะความเป็นกรดสูง

นอกจากนี้ รศ.ดร. รัชนี ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้น สำหรับการกินลิ้นจี่ไว้ว่า

  1. ควรกินลิ้นจี่ที่สุกเต็มที่ ไม่ควรรับประทานลิ้นจี่ที่ยังไม่สุกดี
  2. ควรระวังเรื่องยาฆ่าแมลงที่อยู่ในผลไม้
  3. ควรระวังเรื่องเชื้อรา และพยายามอย่าเก็บลิ้นจี่ในที่อับชื้น
  4. ควรล้างลิ้นจี่ในน้ำสะอาด ก่อนกินทุกครั้ง
  5. ไม่ควรทานเม็ดของลิ้นจี่ แม้ว่าจะเป็นลิ้นจี่ที่สุกแล้ว

ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนักจนไม่กล้ากินลิ้นจี่ เนื่องจากตัวลิ้นจี่เองมีสรรพคุณ และประโยชน์ในตัวเองอยู่มาก เพียงแค่ระมัดระวังในการเลือกลิ้นจี่ ที่สุก สะอาด เท่านี้ก็น่าจะเพียงแล้วค่ะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.