โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู ระบาดหนักในภาคใต้

โรคฉี่หนู ระบาดหนักในภาคใต้

เมื่อวาน ( 1 กุมภาพันธ์ 2560 ) กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกล 12 จังหวัดภาคใต้ เรื่อง โรคฉี่หนู ระบาดหนัก ฝากกำชับหลังน้ำลดควรระวังให้มากขึ้น พร้อมส่งเจ้าอาสาสมัครสาธารณสุขให้ความรู้ คำแนะนำกับประชาชน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับ 12 จังหวัดในภาคใต้ ซึ่งกำชับให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคฉี่หนู เนื่องจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังน้ำท่วม โดยให้เจ้าหน้าที่สื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

หลังพบว่าประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ จากการมีแผลน้ำกัดเท้า การถูกของมีคมบาดขณะเดินลุยน้ำ หรือในขณะประชาขนเข้าทำความสะอาดบ้าน ในช่วงน้ำลด จะมีน้ำขังและดินโคลน ซึ่งมีความเข้มข้นของเชื้อโรคฉี่หนูเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับประชาชนไม่คุ้นเคยกับอาการของโรค มักคิดว่าป่วยเป็นเป็นหวัดปวดเมื่อยธรรมดา จึงไม่รีบมารักษา

จึงกำชับให้ส่งเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขเข้าให้ความรู้ ค้นหา ให้คำแนะนำประชาชน หากมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้รีบพบแพทย์ทันที  กำชับให้สถานบริการ หากมีผู้ป่วยมีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย ให้วินิจฉัยและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตามมาตรฐาน

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา รายงานพบผู้ป่วยสูงกว่าปกติใน จังหวัดนครศรีธรรมราช พบ 37 รายและจังหวัดกระบี่ พบ 19 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการหนัก ในจังหวัดกระบี่เสียชีวิตแล้ว 2 ราย มีผู้ป่วยอาการรุนแรง 1 ราย จังหวัดตรังเสียชีวิตแล้ว 1 ราย และในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผู้ป่วยอาการรุนแรง 3 ราย  นอกจากนี้ ให้เฝ้าระวังโรคประจำถิ่นที่เกิดจากยุง คือไข้มาลาเรีย ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบาดหนักของโรค

สำหรับแผนการฟื้นฟูหลังน้ำลดมี 4 ด้าน ได้แก่

  1. การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาฯ ในระยะ1เดือน เฝ้าระวังโรค และประเมินความเสี่ยงในศูนย์อพยพ 44 แห่ง วัด 30 แห่ง โรงเรียน 11 แห่งและชุมชน 3 แห่ง ให้สุขศึกษา สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรค  ส่วนในระยะ 3 เดือนจะได้ส่งทีมป้องกันควบคุมโรคเข้าไปดำเนินการ
  2. การฟื้นฟูสภาพจิตใจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะ 1 เดือน ได้ค้นหาและคัดกรองภาวะสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ให้การปฐมพยาบาลทางใจ สร้างพลังชุมชน สร้างกิจกรรมความคิดเชิงบวก ตรวจประเมินภาวะสุขภาพจิตแล้ว 8,883 คน มีภาวะเสี่ยง 543 คน
  3. ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมระยะสั้น1 เดือน ได้ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อจัดบริการพื้นฐาน จุดอพยพ และที่อยู่อาศัย โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เพื่อล้างบ่อน้ำตื้นที่ถูกน้ำท่วม  817 แห่ง ซ่อมแซมและล้างระบบประปา 27 แห่ง ฟื้นฟูส้วมสาธารณะ 432 แห่ง ล้างตลาด 68 แห่ง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคและความปลอดภัยอาหารใน 42 อำเภอ ในระยะ 1 ปี ปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้เฝ้าระวังบ่อขยะ อ.ทุ่งท่าลาด จ.นครนครศรีธรรมราช หลังน้ำท่วมโดยการเก็บตัวอย่างน้ำ เช่น น้ำซะขยะ น้ำผิวดิน และน้ำอุปโภคบริโภค

โดยมีแผนการเฝ้าระวัง 3 ระยะ คือ 1. ระยะสั้นตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2560 ดำเนินการ 2 ครั้งต่อเดือน 2. ระยะกลางตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2560 3. ระยะยาวในเดือนมกราคม 2561

  1. โครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยระยะ 1 วัน กู้ระบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า ระบบประปา เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบสื่อสารหลัก ในระยะ 30 วัน กู้รายหน่วยงานได้แก่ ห้องตรวจโรค ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วย ห้องยา ซักฟอก ระยะ 30 – 90 วัน สำรวจออกแบบ แนวทางวางผังเครื่องมือแพทย์ โครงสร้าง เพื่อการวางแผนป้องกันในระยะยาวหลังจากฟื้นฟูแล้วเสร็จใน 30 วัน

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.