โรคฉี่หนู

หลังน้ำลด ภาคใต้ควรระวัง ! โรคฉี่หนู

ระวัง ! โรคฉี่หนู

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู ในปี 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 2,275 ราย เสียชีวิต 34 ราย ในภาคใต้มีผู้ป่วย 697 ราย เสียชีวิต 15 ราย

โดยจังหวัดในภาคใต้ที่มี ผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ 1. จังหวัดนครศรีธรรมราช 2. จังหวัดสงขลา 3. จังหวัดพัทลุง 4. จังหวัดสุราษฏร์ธานี 5. จังหวัดระนอง

สำหรับในปี 2560 (ตั้งแต่วันที่ 1 – 13 มกราคม 2560) พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู ทั่วประเทศจำนวน 28 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในภาคใต้เกิดผู้ป่วยจำนวน 10 ราย

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มมีน้ำลด ทำให้มีน้ำขัง และพื้นที่เปียกชื้น ซึ่งเชื้อโรคดังกล่าว จะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืชผัก

เชื้อโรคฉี่หนู สามารถไซเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ตามรอยแผล รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก นอกจากนี้เชื้อยังสามารถไซเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม เนื่องจากแช่น้ำเป็นเวลานาน

ส่วนมากคนมักติดเชื้อโดยอ้อม ในขณะย้ำดินโคลน แช่น้ำท่วม หรือว่ายน้ำ อาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์ หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำวิธีป้องกันตนเอง ในขณะที่น้ำลดซึ่งมีปริมาณเชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมมาก ประชาชนควรใส่รองเท้าบูท หรือสิ่งป้องกันสวมใส่บริเวณเท้า โดยเฉพาะช่วงหลังน้ำลด ที่ต้องมีการทำความสะอาดบ้านเรือน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

ส่วนอาการของโรคฉี่หนู ที่พบได้บ่อยคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตาแดง ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้แก่ อาการตัวเหลือง มีผื่นขึ้น ตามผิวหนังมีจุดเลือดออก ไอเป็นเลือด ตับโต ม้ามโต เป็นต้น

ท่านใดมีอาการดังกล่าว และมีประวัติ การสัมผัสแหล่งน้ำ หรือในพื้นที่หลังน้ำท่วม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.