พาร์กินสัน

ใจสุข ยิ้มสู้… พาร์กินสัน ( ฉบับฟรุ้งฟริ้ง )

ใจสุข ยิ้มสู้… พาร์กินสัน

ร่างกายคนเราเมื่อเข้าสู่วัยชราย่อมเป็นธรรมดาที่โรคภัยไข้เจ็บจะมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลายๆ โรค ก็คือ พาร์กินสัน หรือที่บางคนคุ้นชินในชื่อ “สันนิบาตลูกนก” อันเกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ร่างกายมีอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า

แม้ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่ว่านี้จะยังไม่แซง โรคยอดฮิตในวัยชราอย่างอัลไซเมอร์ แต่จากข้อมูลของสภากาชาดไทยพบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันในคนไทยอยู่ที่ 425 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่บั่นทอนสุขภาพกายใจ และกลายเป็นปมด้อยของผู้ป่วยหลายต่อหลายคน

ต่างจากคุณอุไรวรรณ ธนสถิตย์ หรืออาจารย์น้อย วัย 64 ปี ที่ยินดีและเต็มใจแบ่งปัน “ประสบการณ์สุขภาพ” ให้เราฟัง นั่นเพราะเธอเชื่อว่า …เป็นพาร์กินสันก็ยังฟรุ้งฟริ้งได้ ไม่เห็นต้องอายเลยนะเออ

พาร์กินสัน
คุณอุไรวรรณ ธนสถิตย์ หรืออาจารย์น้อย

เพื่อนของฉันในวัยชราชื่อ…พาร์กินสัน

แม้อายุอานามจะล่วงเลยเข้าสู่เลข 6 แต่อาจารย์ใจดีที่นั่งสนทนาอยู่กับผู้เขียนยังคงมีสุขภาพดี อารมณ์แจ่มใส ยิ่งเมื่อได้รู้ว่า ปัจจุบันท่านยังคงมีความสุขอยู่กับการสอนหนังสือด้วยใจรัก จึงแทบไม่อยากเชื่อว่า เมื่อ 3 ปีก่อนท่านเคยประสบกับปัญหาสุขภาพเข้าอย่างคาดไม่ถึง

“ฉันเอะใจว่าตัวเองป่วยเป็นพาร์กินสัน หลังจากอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ เขาบอกให้สังเกตอาการเบื้องต้น 3 อย่างด้วยกัน คือ หนึ่งเดินด้วยร่างกายซีกเดียว สองยิ้มไม่ออก และสามมือสั่น

“เราเองก็เดินด้วยร่างกายซีกขวา ซีกซ้ายไม่ขยับเลย เคยเดินสวนกับรุ่นน้องคนหนึ่งที่รักมาก เอ๊ะ! ทำไมเราไม่ยิ้มให้เขาเลย ทำได้แค่อมยิ้ม รู้สึกหน้าแข็งๆ มือก็สั่น อาการตรงเผงกับที่อ่านเจอแบบนี้ก็เลยเคลียร์งานอยู่ 3 วัน แล้วรีบแจ้นไปหาคุณหมอเลย”

การไปพบคุณหมอในคราวนั้น ทำให้อาจารย์น้อยเข้าใจสาเหตุของโรคพาร์กินสันมากขึ้น โดยคุณหมอเจ้าของไข้อธิบายให้ท่านฟังว่า โรคนี้เกิดจากความชราภาพของสมอง มีผลทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน (ทำหน้าที่สำคัญในการสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหว) มีจำนวนลดลง  ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่สำคัญ คือ อาการสั่นขณะ เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง ร่างกายมีสภาพแข็งเกร็ง และการทรงตัวขาดความสมดุล โดยมากพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

“ฉันเริ่มป็นพาร์กินสันตอนอายุ 62 ปี คุณหมอท่านปลอบใจว่า คุณน้อยครับ ไม่แน่นะครับ ตอนคุณน้อยอายุ 80 ทางการแพทย์อาจจะพบยาดีๆ หรือกรรมวิธีที่จะรักษาพาร์กินสันให้หายได้นะครับ

“ส่วนคนไข้อย่างเราก็นึกในใจว่า อาจจะไม่อยู่ชักกระตุกไปถึงตอนนั้นหรอก เพราะโรคนี้ต้องทำใจว่ายิ่งอายุมากขึ้น อาการก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น แต่ไม่เป็นไร ตอนนั้นออกสังคมไม่ได้ เราก็หนีไปเฝ้าประภาคารที่ไหนสักแห่ง ไม่ให้ใครเห็นเราหรอกนะ” อาจารย์น้อยเล่าอย่างอารมณ์ดี ทำให้ผู้เขียนยิ่งตระหนักได้ว่านอกจากการกินยาที่ใช้รักษาอาการแล้ว การคิดบวกนี่แหล่ะคือยาขนานเอกของผู้ป่วยพาร์กินสัน ที่ไม่ต้องซื้อหาให้เสียสตางค์

รู้จัก เข้าใจ ใช้ชีวิตร่วมกัน…พาร์กินสัน

เมื่อทราบจากคุณหมอแน่ชัดแล้วว่าโรคพาร์กินสันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนใหม่ที่ร่างกายไม่ได้เชื้อเชิญอย่างเข้าอกเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อย แม้บางคราวอาการสั่นจะสามัคคีเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันทั้ง มือ แขน ขา กราม และใบหน้า หรือการเคลื่อนไหวบางอวัยวะจะไม่คล่องแคล่วเหมือนเคย แต่อาจารย์น้อยผู้นี้ก็มีวิธีจัดการกับมันอย่างไม่ยากเย็น

“พาร์กินสันเป็นโรคเสียการทรงตัว ทำให้หกล้มและสะดุดบ่อย ดังนั้นต้องระวังในจุดนี้ให้มาก คุณหมอเคยบอกว่าพาร์กินสันโดยตัวของมันเองจะไม่ทำให้เราตายแบบโรคอื่นๆ แต่อาจจะตายโดยทางอ้อม เช่น หกล้มจนสะโพกหัก หัวฟาดพื้น หรือป็นอัมพาต ดังนั้นเวลาเดินต้องใช้ไม้เท้า แต่ถ้าใครยังไม่เป็น สว.(สูงวัย) และอายที่จะถือไม้เท้าก็ใช้ร่มคันใหญ่ๆ แทนก็หมดเรื่อง

“ฉันเองวันไหนที่ไม่ขับรถและใช้บริการรถไฟฟ้า หรือนั่งรถเมล์ปรับอากาศ ก็จะใช้ร่มขนาดใหญ่เป็นผู้ช่วย โอ้ย! เดินปร๋ออย่างแฮปปี้เลย” อาจารย์น้อยยิ้ม ก่อนจะเล่าอุปสรรคในชีวิต ที่เธอพลิกให้เป็นเรื่องสนุกได้อย่างไม่น่าเชื่อว่าพาร์กินสัน

“คนที่เป็นพาร์กินสันจะเป็นปมด้อยนิดๆ ไม่ถึงขนาดปิดแต่ไม่ต้องถึงกับไปประกาศให้ชาวโลกเพื่อนฝูงรู้กันหมด ดังนั้นก่อนเจอฝูงชนหน้าใหม่ ฉันจะกินยาคุมกดไว้เพราะรู้ว่ายาจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมงหลังกิน เวลาถ่ายรูปหมู่กับเพื่อนๆ ก็จะเอามือข้างที่สั่นล้วงกระเป๋าไว้

“พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เหมือนเดิม เคยสนุกสนานเฮฮา ไปไหนมาไหนอย่างไรก็ต้องพยายามตะลอนๆ ให้ได้เหมือนเดิม อาจลดดีกรีลงไปบ้างสัก 2 กระเบียด ฉันเองก็ป่วยไปเที่ยวไป นั่งกระเช้าอยู่กลางอากาศที่นิวซีแลนด์ก็กินยาพาร์กินสันก่อนอาหารกลางวัน 1 ชั่วโมง นั่งเรืออยู่ในทะเลสาบที่อังกฤษก็กินยาก่อนอาหารเย็น 1 ชั่วโมง เป็นพาร์กินสันก็ฟรุ้งฟริ้งได้ ไม่เห็นมีอะไรยากจริงไหมคะ”

ผู้เขียนได้แต่พยักหน้าหงึกๆ เพราะกำลังทึ่งกับเรื่องราวที่ได้ฟัง และต้องทึ่งมากขึ้นไปอีก เมื่อรู้ว่าหญิงแกร่งคนนี้เพิ่งไปเดินตากแดดจนเท้าแทบสุก (เพราะต้องถอดรองเท้าเดิน) ที่เจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่ามาแล้ว!

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต คอลัมน์ ประสบการณ์สุขภาพ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.