earworm

ไขข้อสงสัย อาการ earworm

กำลังเป็นกระแสโด่งดัง อยู่ในขณะนี้สำหรับ เพลง PPAP ที่ถูกแต่งขึ้นโดย Pico Taro ด้วยยอดคนเข้าชมมากกว่า 11 ล้านวิว และด้วยยอดแชร์ที่ถล่มทลาย เปิดFacebook มาเมื่อไหร่ก็เจอ ทำให้หลายคน ช่วงนี้เกิดอาการ Earworm หรืออาการที่รู้สึกว่า มีเพลงเดิมๆ วนอยู่ในหูซ้ำๆ แต่จริงๆ แล้ว Earworm ไม่ใช่โรคและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สุจิตรา ประสานสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหู การได้ยิน และการทรงตัว ศูนย์การได้ยิน โรงพยาบาลกรุงเทพให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เสียงที่เราคิดว่า ติดอยู่ในหู แท้จริงแล้วเสียงเหล่านั้นติดอยู่ในสมองเกิดจากจินตนาการของตัวเราเอง  ไม่ใช่อาการติดหูอย่างที่เข้าใจ

อาการ earworm จากการฟังเพลงซ้ำๆ นานๆ   โดยใส่เข้าหูโดยตรง เสียงอาจติดสมองได้ คนที่ฟังเสียงดัง ส่งผลให้ปลายประสาทถูกกระตุ้นอยู่นาน จะเกิด after effect ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ว่า ได้ยินเสียงนั้นนานแค่ไหน อย่างไรก็ตาม โรคทางสมองอื่นๆ ก็ทำให้เกิดเสียงในหูหรือในสมองได้

earworm
earworm ไม่ใช่โรคและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ลักษณะของเสียงที่รบกวนในหูนั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งเสียงกริ๊งๆ คล้ายจิ้งหรีดร้อง เสียงอี๊ดๆ คล้ายเจียรนัยพลอย เสียงเพลง เสียงต่ำๆ เสียงซ่าๆ หรือเสียงประหลาด จนทำให้บางคนรู้สึกปวดหัว หรือถึงขั้นปวดร้าวไปทั้งศีรษะเลยก็มี

หลายคนอาจคิดว่า การได้ยินเสียงรบกวนหูเป็นอาการของหูแว่ว แต่ความจริงแล้ว หูแว่วเป็นอาการของคนที่มีอาการทางจิตเวช คือการคิดไปเอง และไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาการเสียงรบกวนในหูนั้น มีเสียงที่คนได้ยินจริง แต่เนื่องจากเกิดปลายประสาทรับเสียงให้กระแสไฟฟ้าที่ผิดปรกติ จนทำให้ได้ยินเสียงวิ้งในหูอยู่พักหนึ่ง เช่นผู้ที่มีการได้ยินบกพร่อง  หรือ อาจเกิดจากการได้รับเสียงที่ดังมากหรือดังนาน เช่นหลังไปยิงปืน จุดประทัด จนนำมาสู่โรคปลายประสาทอักเสบได้

ข้อควรรู้หากไม่อยากเกิดโรคปลายประสาทอักเสบ

  1. เสียงในหูสามารถเกิดได้ ถ้าฟังเสียงดังมาก แม้ระยะเวลาจะไม่นาน เช่น เสียงจุดประทัด เสียงนกหวีด แม้กระทั่งอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือการใส่หูฟัง ฟังเพลงในรถใต้ดิน เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการเสียงอยู่ในหู หรือหูตึงได้ ( การเปิดเสียงดัง 95 เดซิเบล ไม่ควรฟังเกิน 15 นาที ในรถไฟฟ้าใต้ดินเสียงดังถึง 85 เดซิเบล  ถ้าจะฟังเพลงให้ได้ยินต้องเปิดเสียงดังถึง 95 เดซิเบล )

    earworm
    earworm ไม่ใช่โรคและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
  2. ได้รับเสียงดังมากเป็นเวลานาน เช่น อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ผับเทคบาร์ คอนเสิร์ต เสียงดังมาก จะทำให้ปลายประสาทถูกกระเทือนเป็นอย่างมากมาก การที่ถูกกระทบกระเทือนนานเกินไป จะทำให้ปลายประสาทเกิดการอักเสบได้ และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่นานกว่า อย่างไรก็ตามการหลีกเลี่ยงไปยังบริเวณที่เสียงดังเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้เครื่องอุดหู เพื่อช่วยลดความเสี่ยง

    earworm
    earworm ไม่ใช่โรคและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
  3. กลุ่มเสี่ยงของอาการเสียงรบกวนในหู คือ กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่ใส่หูฟังติดต่อกันเป็นเวลานาน และใส่หูฟังขณะหลับ ส่วนใหญ่เรามักจะคิดว่า เมื่อเรานอนหลับจะไม่ได้ยินเสียง ทุกอย่างจะหยุดทำงาน และไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงอะไร แต่ความจริงแล้ว แม้ว่าเรานอนหลับไม่รู้เรื่อง แต่แก้วหูยังคงสั่นสะเทือน และทำงานอยู่ตลอดเวลา
earworm
earworm ไม่ใช่โรคและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

สำหรับการรักษาอาการ คุณหมอแนะนำว่า ต้องตรวจหาสาเหตุก่อน และดูด้วยว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน โดยตรวจการได้ยิน ระยะต้นๆ อาจรักษาได้ คุณหมออาจให้ยา ส่วนเสียงในหูนั้นต้องได้รับการฝึกให้ลืม อาจนำเสียงใหม่เข้ามาแทน เช่นในที่เงียบเสียงในหูจะดังมาก ให้เปิดเพลงเบาๆเป็น background music แนะนำเพลง Mozart เพราะจะไปกับคลื่นสมองได้ดี เราเรียกกันว่า Music therapy ให้ผู้ป่วยตั้งใจฟังเพลงนั้น เพื่อให้สมองรับเสียงใหม่ เรียก retargeting และจะกระตุ้นศูนย์แห่งความสุขในสมองด้วย ทำให้เกิดความสุข และผลิตฮอร์โมนที่ดีออกมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะลืมเสียงในหูได้

ส่วนผู้ป่วยที่มีเสียงในหู ร่วมกับ หูอื้อ มึนงง บ้านหมุน อาจเป็นโรคอื่น เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน บ้านหมุน อาจมีอาเจียนร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจหาสาเหตุกันต่อไป

 

ภาพจาก : CHEE YEE Teoh

ข้อมูลเรื่อง “ไขข้อสงสัย อาการ earworm” โดย ดวงพร เจียรสุธรรมพร เผยแพร่ www.cheewajit.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.