ไวรัสซิกา , ซิกา, ไวรัสซิก้า, โรคซิก้า, โรคซิกา, ยุงลาย

CHECK ความรู้ ไวรัสซิกา ไม่ใช่ยุงทุกตัวที่เป็นพาหะ

โอ้มายลอร์ด! ผู้ใหญ่จากเมืองผู้ดีถึงครึ่งยังเชื่อว่ายุงทุกตัวจะเป็นพาหะนำโรคจาก ไวรัสซิกา

หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศเตือนว่า ไวรัสซิกา อาจจะบินข้ามฟ้าไปถึงยุโรปในหน้าร้อนนี้

นักวิจัยจึงออกสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ของชาวอังกฤษ พบว่า ผู้ใหญ่ร้อยละ 54 เชื่อว่ายุงทุกชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ ร้อยละ 21 ไม่กล้าเดินทางไปเที่ยวไหน เพราะกลัวติดเชื้อ ไวรัสซิกา ร้อยละ 63 ไม่รู้ว่ายุงเพศเมียเท่านั้นที่กัด ร้อยละ 84 ไม่รู้ว่าเสื้อผ้าสีเข้มดึงดูดยุง ร้อยละ 15 เชื่อว่ายุงกัดเฉพาะเวลากลางคืน และร้อยละ 45 ไม่รู้ว่ากลิ่นบางชนิดดึงดูดยุงได้

หากใครมีความเข้าใจผิดแบบชาวอังกฤษด้านบน เราจะมาทบทวนข้อควรรู้เบื้องต้นกันใหม่ค่ะ ไวรัสซิกามียุงชนิดเฉพาะเป็นพาหะ ซึ่งกัดเป็นเวลา โดยยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคมาเลเรีย จะกัดตอนกลางคืน ในขณะที่ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เหลือง ไข้เลือดออก และไข้ซิกา จะกัดตอนกลางวัน ดังนั้นการใช้ยากันยุงชนิดกันน้ำในเวลากลางวัน จึงสำคัญพอๆกับการทาครีมกันแดด ในการแพร่เชื้อไวรัสซิกา โดนยุงจะกัดผู้ที่มีเชื้อไวรัสซิกา แล้วแพร่ไปยังอีกคนที่มันกัดต่อ แต่ในบางกรณี ไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วย

สำหรับผลกระทบของการติดเชื้อไวรัสซิกาในผู้หญิงตั้งครรภ์คือ ทารกอาจจะเกิดมาศีรษะเล็กและสมองฝ่อ ซึ่งจะสร้างปัญหาไปตลอดชีวิตของเด็ก โดยในกรณีร้ายแรง อาการเหล่านี้ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตด้วย

องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของไวรัสซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินสากล ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ฉุกเฉินสมสถานะ เพราะตอนนี้เชื้อได้แพร่กระจายไปแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วถึง 234 ราย องค์การฯ ยังประกาศเตือนล่าสุดว่า ไวรัสดังกล่าวอาจจะแพร่ไปถึงยุโรปในฤดูร้อนนี้ แต่ความเสี่ยงจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

แม้จะยังไม่มีการประกาศเตือนว่า ไวรัสซิกา จะบินข้ามทวีปมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ไว้ และรู้วิธีป้องกัน น่าจะช่วยให้อุ่นใจได้เยอะค่ะ

ขอบคุณภาพจาก www.pixabay.com

ข้อมูลเรื่อง “CHECK ความรู้ไวรัสซิกา ไม่ใช่ยุงทุกตัวที่เป็นพาหะ” เขียนโดย ธปัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.