ยุงลาย, ไข้เลือดออก, มหิดล, รังสีทำหมันยุงลาย, Dengue

มหิดลทำหมันยุงลายสำเร็จ! เตรียมปล่อยสู่ธรรมชาติ ป้องกัน ไข้เลือดออก

มหิดลทำหมันยุงลายสำเร็จ!

เตรียมนำร่อง ปล่อยสู่ธรรมชาติเพื่อป้องกัน ไข้เลือดออก

มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนายุงลายสายพันธุ์ที่ต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสไข้ชิกุนคุนยา ได้สำเร็จ! โดยเทคโนโลยีชีวภาพชนิดนี้ เป็นการฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย 2 สายพันธุ์ ซึ่งสกัดได้จากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้าน ยุงลายบ้านตัวผู้ที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ เมื่อปล่อยออกสู่ธรรมชาติ จะไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมีย ทำให้ยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติเป็นหมัน ช่วยลดจำนวนยุงลายบ้านที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก และลดจำนวนผู้ป่วยตามไปด้วย

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเพิ่มจำนวนยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่ โดยคัดเลือกเฉพาะยุงลายบ้านตัวผู้ที่กินแต่น้ำหวาน ไม่กินเลือด เพื่อไปฉายรังสีในปริมาณอ่อนก่อนปล่อยในธรรมชาติ นางปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้วิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาในต่างประเทศมีการศึกษาการทำหมันยุงลายเหมือนกัน เช่น ประเทศบราซิล ใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) หรือประเทศจีน ใช้วิธีการใส่เชื้อแบคทีเรีย ส่วนประเทศไทยใช้การทำหมัน 2 ขั้นตอน คือการใส่เชื้อแบคทีเรียและฉายรังสีเพื่อทำหมันในตัวยุงลายและยุงตัวผู้ ก่อนจะเริ่มปล่อยในพื้นที่นำร่อง ณ ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และจะมีการประเมินผลหลังจากนี้อีก 6 เดือน เมื่อมีการขยายผลแล้ว ในอนาคตจะสามารถทำโรงงานผลิตยุงตัวผู้ที่เป็นหมันได้ ซึ่งหากสำเร็จ จะช่วยลด 4 โรคที่นำโดยยุงลาย คือ ไข้เลือดออก ซิกา ชิคุณกุนยา และไข้เหลือง

โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยนายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงงานแถลงข่าวความก้าวหน้าของโครงการว่า มีผู้บริหารจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ประเทศออสเตรีย และผู้เชี่ยวชาญในด้านการควบคุมยุงจากประเทศสวีเดน เดินทางมาร่วมประชุมปรึกษาหารือด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการทำหมันยุงลายในไทยให้เป็นรูปธรรม

ปัจจุบันโครงการนำร่องเพื่อทำหมันยุงลายในไทยได้รับทุนสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ไอเออีเอ ประเทศออสเตรีย และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีอาร์ซี) ประเทศแคนาดา โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมในการลดความเสี่ยงต่อโรคโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสวนยางพาราหรืออยู่ใกล้สวนยางพารา ซึ่งเป็นแหล่งที่มียุงพาหะนำโรค นอกจากนี้ทบวงการปรมาณูฯ ยังมีความสนใจที่จะให้การสนับสนุนเพื่อขยายผลการทำหมันยุงลายไปในแหล่งท่องเที่ยวในไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกและกลับไปแพร่เชื้อในประเทศของตนเองด้วย ในเบื้องต้นนี้ทบวงการปรมาณูฯ ได้บริจาคเครื่องมือที่จะใช้ในการฉายรังสีเพื่อทำหมันยุงให้กับไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมการติดตั้งประมาณ 35 ล้านบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิตภาพ: www.pixabay.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.