หายนะเขื่อนบราซิล ระบบนิเวศพังอย่างน้อย 100 ปี

ตะกอนสารเคมีจากการพังทลายของเขื่อนในแม่น้ำริโอโดเซ ประเทศบราซิล ไหลเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกถึงมลพิษร้ายแรงที่จะตามมา โดยสิ่งสกปรกได้กระจายไปไกลถึง 500 กิโลเมตร หลังจากเหมืองเหล็กแตก เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

บริษัทซามาร์คอ เจ้าของเหมือง พยายามปกป้องพืชพรรณและสัตว์ประจำถิ่น ด้วยการสร้างแนวกั้นชั่วคราวระยะทาง 9 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่ง และขุดลอกตลิ่งบริเวณปากแม่น้ำ เพื่อให้โคลนระบายออกและเจือจางได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ทะเลแต่ก็ไม่สามารถคลายความกังวลลงได้ เนื่องจากโคลนมีแร่เหล็กและสารซิลิกาสูง ซึ่งจะแข็งตัวราวกับคอนกรีตเมื่อแห้งนอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของสะสารอย่าง สารปรอท สารหนู สารโครเมียม และแมงกานีส ในระดับที่เกินความจำเป็นของมนุษย์

คุณอันเดรส รูชี ผู้อำนวยการโรงเรียนชีววิทยาทางทะเล เมืองซานตาครูซ รัฐเอสปีรีตูซานโต ประเทศบราซิล ระบุว่าโคลนเหล่านี้สามารถทำลายสิ่งมีชีวิตในน้ำได้ เมื่อไหลลงสู่ทะเล โดยทะเลบริเวณใกล้เคียงกับปากแม่น้ำริโอโดเซเป็นพื้นที่ผสมพันธุ์และเจริญเติบโตของสัตว์ทะเลหลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงเต่ามะเฟือง ปลาโลมา และวาฬ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้จะส่งผลให้การหมุนเวียนของสารอาหารในห่วงโซ่อาหาร 3 ส่วนของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศและครึ่งหนึ่งของแอตแลนติกใต้ มีปัญหาไปอีกอย่างน้อย 100 ปี และแหล่งน้ำเอง ก็จะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปทั้งหมด

ขณะนี้ชาวบ้านท้องถิ่นพยายามช่วยกันจับปลาไว้ในถัง และเก็บไข่เต่าเพื่อนำไปฟักตัวเนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูเจริญพันธุ์ของสัตว์ ขณะเดียวกันบริษัทซามาร์โคก็ลงมือซ่อมเขื่อนอีก 2 แห่งที่กักเก็บน้ำเสียและยอมจ่ายเงินให้รัฐบาลประเทศบราซิล จำนวน 260 ล้านดอลลาร์ สำหรับทำความสะอาดบริเวณเกิดเหตุและชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียหาย โดยเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 11 ราย และสูญหายอีก 12 รายซึ่งคาดว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว

ที่มา: สำนักข่าวบีบีซี (BBC News)

เครดิตภาพ Jennifer42/ Pixabay.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.