มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เย็บเต้า เติมใจรัก(ษ์)

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม … เจ็บแล้วจึงเข้าใจ

คุณปารณีย์ ทวีโชตธณเดช หรือคุณบ๊วย พบก้อนเนื้อผิดปกติในเต้านม เมื่อปี 2545 ขณะอายุเพียง 36 ปี

แม้เคมีบำบัดจะทำให้เกิดอาการแพ้ และผมร่วง แต่เธอก็สนุกสนานกับการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการคิดบวก เช่น ถ้าไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ก็คงไม่ได้เห็นตัวเองไว้ผมทรงสกินเฮด หรือสนุกกับแฟชั่นวิกผมแบบต่าง ๆ และด้วยกำลังใจที่ดีเยี่ยม เมื่อฟื้นขึ้นมาจากการผ่าตัด ก็เริ่มขยับร่างกายทันที

“ถ้าเรากลัวเจ็บแล้วไม่พยายามขยับแขน นานเข้าก็จะยกแขนไม่ขึ้นเพราะจะเกิดพังผืดเกาะ วิธีที่ทำ คือ เอามือทาบกำแพงแล้วค่อย ๆ ขยับสูงขึ้นไปทีละนิดทุกวัน พอหายดีแล้วก็ต้องดูแลโดยไม่ใช้แขนข้างนั้นแบบหักโหม อย่างยกของหนักก็ไม่ทำ”

ปารณีย์ ทวีโชตธณเดช
เรียนรู้และอยู่อย่างเข้าใจ

คุณบ๊วยเลือกเดินทางสายกลางโดยกินอาหารหลากหลาย และได้สมดุล ไม่กินของทอดที่ใช้น้ำมันเก่า ของปิ้งที่มีรอยไหม้ดำ และหันมาทานผักผลไม้เป็นประจำสม่ำเสมอ

“แต่ยาวิเศษจริง ๆ ที่เจออยู่ในตัวเรา คือ อารมณ์และจิตใจ เมื่อก่อนเป็นคนหงุดหงิดง่าย แต่พอป่วยก็ได้สติว่าอย่ายึดติด อย่าเครียด เพราะตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ นอกจากความดี เลยทำใจให้สบายดีกว่า”

อย่างตอนที่ป่วยอยู่ก็จะสวดมนต์ไหว้พระให้ใจสงบ ทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร พอหายแล้วเลยอยากทำดีโดยเป็นกำลังใจให้ผู้อื่น หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเย็บเต้านมเทียม

เย็บเต้า เติมชีวิต

ถึงแม้จะเป็นผู้ป่วยที่โชคดีไม่ต้องถูกตัดเต้านมไป แต่การได้รับฟังและพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วย ทำให้คุณบ๊วยเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก และปัญหาที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวล โดยเฉพาะรายที่โชคร้ายต้องถูกตัดเต้านม ทำให้เธอคิดกิจกรรมเย็บเต้านมเทียมให้กับผู้ป่วย เต้านมเทียมชิ้นแรกไม่ได้ผลลัพธ์ดังหวัง แต่คุณบ๊วยบอกว่า มันเป็นการลองผิดเพื่อให้ได้รู้สิ่งที่ถูก

“ผู้ป่วยที่ใส่จะบอกว่ามันไม่พอดี น้ำหนักไม่ได้ ก็ต้องเอามาคิดต่อเป็นการบ้าน เลยรู้ว่า เต้านมแท้เวลาอยู่กับตัวเรามันมีกล้ามเนื้อหน้าอกเป็นตัวยึด แต่เวลาทำเต้านมเทียมถ้าใช้น้ำหนักเท่าเดิมจะกลายเป็นหนักมากไป”

“ผู้ป่วยบางคนโดนตัดเต้านมไปทั้งเต้า บางคนโดนตัดเต้านมโดยยังเหลือฐานเต้านมอยู่ เพราะฉะนั้น จะเอาเสื้อยกทรงมาตัดเลยไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนวิธีโดยคิดแพทเทิร์นเย็บเต้าให้เหมาะกับผลการรักษาของแต่ละคน”

ปารณีย์ ทวีโชตธณเดช
เรียนรู้และอยู่อย่างเข้าใจ

เดินหน้า (ไม่) ถอยหลัง

“กิจกรรมสอนให้เราคิดหรือทำอะไรด้วยความรอบคอบ ใส่ใจกับรายละเอียดทุก ๆ เรื่อง อย่างเวลาเย็บไปทีละเข็มก็จะตั้งใจมาก อยากให้ออกมาสวย ใส่ได้นานๆ”

การจดจ่อกับสิ่งที่ทำ คุณบ๊วยบอกว่า ทำให้หลุดจากทุกข์ของตัว จิตใจสงบและสดชื่นขึ้น เพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์กับคนอื่น สุดท้ายความพยายามย่อมนำความสำเร็จมาให้เสมอ

“พอชิ้นงานที่คิดออกมาลงตัว เย็บให้ผู้ป่วยใส่ได้จริง เหมาะกับสรีระ รู้สึกดีใจมาก ตอนนั้นเหมือนคนโรคจิต คือ จะเอาอุปกรณ์ใส่ท้ายรถไว้ตลอด เวลาตระเวณไปที่ต่าง ๆ เพื่อพูดคุยกับผู้ป่วย เจอปุ๊บก็จะเย็บให้เดี๋ยวนั้นเลย”

ห่างกาย..ไม่ห่างใจ

การเดินทางไปในแต่ละครั้ง ทำให้พบผู้ป่วยที่รอการช่วยเหลือมากมาย จึงเกิดความคิดที่จะสอนวิธีการเย็บเต้าให้กับผู้ป่วยเพื่อให้สามารถช่วยตัวเองได้

“ครั้งแรกที่ไปสอนผู้ป่วย บางคนจะมองเหมือนว่าจะมาช่วยอะไรเขา แต่ระหว่างสอนจะพูดคุยให้กำลังใจเพื่อให้เขาผ่อนคลาย ตัวเราก็ได้ผ่อนคลายไปด้วย”

ในการสอนแต่ละครั้งไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน เธอจะรออยู่จนกระทั่งผู้ป่วยคนสุดท้ายเย็บเสร็จ ได้ลองใส่และแก้ไขจนเป็นที่พอใจ

“รอยยิ้มและคำขอบคุณของผู้ป่วย ทำให้ดีใจจนน้ำตาไหล เพราะคนที่รับเต้านมเทียม รับไปด้วยความรู้สึกอิ่มเอมและมีความสุข แต่เรามีความสุขยิ่งกว่าที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น”

ปารณีย์ ทวีโชตธณเดช
เรียนรู้และอยู่อย่างเข้าใจ

สิ่งที่สัมผัสได้คือ ความรู้สึกของผู้ป่วยจะเปลี่ยนไปเมื่อเย็บเต้านมเสร็จ เพราะพอได้ลองใส่แล้ว ตัวเองรู้สึกดี หลายคนกลายเป็นอาสาสมัครเย็บเต้านมเทียม หรือสอนวิธีเย็บให้คนอื่น

“ตอนนี้ไม่ห่วงแล้ว เพราะถึงไม่ได้ไปด้วยตัวเอง ก็จะมีเครือข่ายจิตอาสา คอยช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นต่อไปเรื่อย ๆ”

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอเพียงเราคิดดี ทำดี อยากให้เชื่อเถิดว่า จะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน”

ข้อมูลเรื่อง ” เย็บเต้า เติมใจรัก(ษ์)มะเร็งเต้านม ” จากนิตยสาร ชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.