ประสบการณ์ชีวิต

ตุ๊กตาหมีกู้โรค (มะเร็งเต้านม)

แม้คุณโสมพันธุ์จะได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง และให้กำลังใจตัวเองอย่างดีมาตลอดนับจากเริ่มรับการผ่าตัดมะเร็งเต้านม แต่เมื่อได้ยินว่าต้องรักษาด้วยคีโมสภาพจิตใจเธอก็ถดถอยตั้งแต่ยังไม่ได้รับยาเข็มแรก ทำให้ความทุกข์ตอกย้ำและทวีขึ้นทุกที ทว่าจะปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา เธอจึงพยายามคิดหาวิธีเอาชนะความทุกข์

“ก็เข้าใจนะคะว่านี่คือการรักษา แต่รู้สึกว่าทำไมความทุกข์ช่างยาวนานเหลือเกิน ทำอย่างไรจึงจะผ่านช่วงความทุกข์ไปได้ แล้วก็คิดได้ว่าความสุขมักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราต้องหาอะไรทำแล้วมีความสุข”

ตุ๊กตาหมีคือยาใจ

คำตอบของคุณโสมพันธุ์ก็คือการถักตุ๊กตาหมีไหมพรม ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่รุ่นน้องที่ทำงานแนะนำ ความน่ารักของตุ๊กตาหมีทำให้เธอลองหัดถักทั้งที่เดิมทีเป็นคนที่ไม่สนใจงานด้านคหกรรมนัก และค้นพบว่านี่คือความสุขง่ายๆ ที่ทำให้เวลาของเธอเดินเร็วขึ้น

การเริ่มถักไหมพรมอย่างจริงจังสำหรับคุณโสมพันธุ์ย่อมเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เธอต้องอาศัยเพื่อนคอยช่วยสอนจนกว่าจะสามารถถักตามแพทเทิร์นได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งการพะวงกับอาการป่วยของตัวเองก็ทำให้ขาดสมาธิได้ไม่น้อยเลย

“แรกๆ ก็ยากนะ เพื่อนต้องจับมือสอนเลย แล้วใจก็มักแอบคิดเรื่องโน่นเรื่องนี้ กังวลเรื่องการรักษา แต่ต้องรีบดึงใจกลับมาเพราะต้องนับห่วงเพื่อสอดเข็มถัก ดีที่อุปกรณ์มีแค่เข็มโครเชท์กับด้ายเท่านั้น”

อาการข้างเคียงของการทำคีโมในระยะแรกกลับเป็นอุปสรรคต่อการถักตุ๊กตาหมีของเธออย่างมาก เพราะทำให้ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง กระนั้นเธอก็พยายามจับเข็มโครเชท์มาหัดถักทุกครั้งที่แรงไหวพอ ด้วยคิดว่าหากถักตุ๊กตาหมีสำเร็จ ความทุกข์ทรมานก็จะหมดไปด้วย

“สัปดาห์แรกมีอาการคลื่นไส้ ปากเป็นแผล และรู้สึกเพลียๆ ทำให้ถักได้ทีละนิด เหนื่อยก็พัก มีแรงก็ถักต่อ อยากถักให้เสร็จ และอยากพิสูจน์ว่าเราทำได้ ถ้าเราเอาชนะตัวเองได้ ก็จะชนะโรคภัยทั้งหมดได้เช่นกัน”

“สัปดาห์ที่สองเริ่มดีขึ้น อาการแพ้ลดน้อยลง อาจเพราะจิตใจเราเข้มแข็งขึ้น สัปดาห์ที่สามจึงเตรียมตัวรับคีโมต่อ ก็ไม่ค่อยมีอาการแพ้ แต่ยังรู้สึกหดหู่และเศร้าใจ”

“เลยถักตุ๊กตาหมีต่อตามแพทเทิร์น เริ่มเรียนรู้ว่าต้องพันเชือกอย่างไร เอานิ้ววางตรงไหน ถักแต่ละส่วนเสร็จต้องเย็บประกอบกันเป็นตัว ประมาณ 2 วันก็เสร็จหนึ่งตัว สวยไม่สวยไม่รู้ แต่สนุกดี เพราะชอบตุ๊กตาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “ถักไปก็คิดไปว่าความทุกข์ไม่อยู่กับเรานานหรอก เดี๋ยวก็ไป ถักเสร็จก็มีความสุขแล้ว ยิ่งได้อวดกับเพื่อนๆ น้องๆ ที่ถักเหมือนกัน ยิ่งมีความสุข”

“เข็มสุดท้ายนี่สิเมื่อรับแล้วพบว่ายาสะสมเข้าไปในร่างกายมาก รอให้วันยาระบายออกให้หมด ปรากฏว่าไม่หมดสักที แม้ไม่มีอาการอะไรทางร่างกาย แต่รู้สึกเศร้า และเบื่อมากๆ ตอนนั้นอยากกลับไปทำงานเลยลองทำดู ปรากฏว่าทำงานไม่ได้ คิดหรือตัดสินใจเรื่องอะไรไม่ได้เลย เอ…ทำไมเราทำงานไม่ได้ หายแล้วจะทำงานได้ไหม ยิ่งคิดยิ่งรู้สึกหดหู่ไปใหญ่”

“คุณแม่ก็เตือนสติว่าความสามารถอยู่ในตัวเรา หายแล้วก็กลับไปทำงานได้อีก เลยพักงานออกมาพักฟื้นอยู่บ้านกับคุณแม่ซึ่งอายุ 80 แล้วต้องมานั่งดูแลเรา จึงคิดได้ว่าต้องเข้มแข็ง รีบเอาตุ๊กตากลับมาถักเหมือนเดิม

“คราวนี้ถักคล่อง ทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็ว แตกต่างจากตอนที่นั่งทำงานพร้อมๆ กับรับคีโม ตอนนั้นต้องนั่งดูนาฬิกา แปดโมงครึ่งดื่มน้ำแก้วหนึ่ง พอเก้าโมงต้องไปเข้าห้องน้ำ ในขณะที่อยู่บ้านนั่งถักตุ๊กตา แม่มาเรียกกินข้าวเที่ยง ยังรู้สึกว่าเร็วจัง เที่ยงแล้วเหรอ”

“จากนั้นก็ถักทุกวัน ถักได้เบี้ยวๆ บูดๆ ผิดบ้างก็ช่าง เป็นการลงทุนซื้อความสุขที่ถูกมาก ไหมก้อนละ 40-50 บาทเท่านั้น นั่งอยู่บ้านก็ถักได้ หรือไปทำงานก็ถักได้”

และแล้วก็ผ่านไป

ทุกวันนี้คุณโสมพันธุ์มีความสุขกับการถักตุ๊กตาหมีตัวเล็กๆ ไปพร้อมกับการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนตัวเธอเอง และคนรอบข้างลืมไปว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งต้องหมั่นไปพบแพทย์และคอยตามผลอย่างต่อเนื่อง

“คุณหมอไม่ได้พูดว่าหายนะคะ และต้องไปเช็คร่างกายทุก 4 เดือน อยู่ในความดูแลของคุณหมอจนกว่าจะผ่านพ้นปีที่ห้า ก็รู้สึกเฉยๆ นะ ไม่ได้กังวลว่าจะหายหรือไม่หาย เพราะเท่าที่เป็นมะเร็งเราก็ไม่มีอาการอะไรเลย จะมีก็แค่ช่วงรักษา”

“เซลล์มะเร็งอาจจะอยู่ในตัวเรา แต่ก็จะคิดว่าเป็นเพื่อนกัน สวดมนต์แผ่สวนกุศลทำใจให้สบายดีกว่า จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเลย แทนที่จะคิดว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย ก็คิดเสียว่าได้หันกลับมาดูแลตัวเองมากขึ้นดีกว่า และเราก็ยังมีอะไรต้องทำอีกมากมาย อย่างการถักตุ๊กตาหมีพวกนี้”

เธอยุติการถักแล้วยิ้มละไมกับเรื่องเล่าประสบการณ์ความสุขที่แบ่งปันให้แก่เรา ทำให้รู้จักอีกหนึ่งวิธีการสร้างกำลังใจที่ยอดเยี่ยม และวิธีใดก็ตามจะสำเร็จไม่ได้เลยหากคนคนนั้นไม่มีความตั้งใจจริง

ข้อมูลเรื่อง ” ตุ๊กตาหมีกู้โรค (มะเร็งเต้านม) ” จากนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ ….

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.