กระดูกและข้อ ,กระดูกพรุน, ดูแลกระดูก, กระดูกหัก, กระดูกเสื่อม

คู่มือเปลี่ยนชีวิต หยุด กระดูกพรุน หัก เสื่อม

CASES TO LEARN FROM ใช้ชีวิตผิด ก่อโรคกระดูกและข้อ

แพทย์หญิงสุมาภาอธิบายว่า กิจกรรมในชีวิตประจำมีส่วนทำให้เกิดปัญหา กระดูกและข้อได้

ปัญหาที่พบบ่อยคือ กลุ่มที่ทำงานในสำนักงาน ต้องนั่งโต๊ะทำงานต่อเนื่อง หลายๆ ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ยิ่งถ้าโต๊ะและเก้าอี้ไม่เหมาะสม เช่น เก้าอี้ ขาลอย ไม่มีพนักพิง ไม่มีที่พักแขน ไม่มีพนักด้านหลังที่มีส่วนโค้งรองรับหลัง อย่างเหมาะสม จะทำให้หลังแบกรับน้ำหนักไว้ตลอด

“ซ้ำร้ายจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ระดับสายตา ทำให้ต้องก้มหรือเงยมากเกินไป กระดูกคอต้องทำงานหนัก แบบนี้โอกาสเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมก็จะเพิ่มขึ้นแน่นอน”

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน แพทย์หญิงสุมาภาจึงเล่าถึงพฤติกรรมทำร้ายกระดูก จากประสบการณ์การดูแลคนไข้รายหนึ่งว่า

“ขอยกตัวอย่างพฤติกรรมที่คนทำงานหลายๆ คนอาจมองข้ามค่ะ นั่นคือ เอียงคอหนีบโทรศัพท์ แล้วค้างในท่านี้นานๆ พบในคนไข้ท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหาร ระดับสูงของบริษัทระหว่างประเทศ ต้องใช้โทรศัพท์ในการติดต่อประสานงาน ครั้งละนานๆ มีอาการนำ คือ ปวดแขนและมือซ้ายมาก เขากลัวเป็นรูมาตอยด์ จึงมาปรึกษาและขอให้หมอช่วยเจาะเลือดตรวจให้

ปัญหากระดูกและข้อ, กระดูกพรุน, ดูแลกระดูก, ออฟฟิศซินโดรม
ผู้ที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ อาจส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกและข้อได้

“ปรากฏว่า ผลเลือดปกติดี พอซักประวัติแล้วทราบพฤติกรรม หมอลอง แนะนำให้ไม่ถือหูโทรศัพท์ค้างในท่านั้นนานๆ และแก้ไขโดยใช้การกดปุ่มสปีกเกอร์ โฟนแทนการยกหูโทรศัพท์ทุกครั้ง เพียงเท่านี้อาการก็ดีขึ้นแล้ว”

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกมัก เป็นผู้สูงวัย แต่แพทย์หญิงสุมาภาชี้แจงว่า แท้จริงแล้ว คนไข้ที่เข้ามาปรึกษากลับเป็นคนวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ

“อีกรายหนึ่งทำงานบริษัทเช่นกัน อายุยังไม่ถึง 35 ปี แต่มีอาการนำ คือ ปวดคอ บ่า แขน ต้อง ฝังเข็มช่วยหลายครั้งเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายเกร็งลงบ้าง พอซักประวัติจึงทราบว่า ใช้เมาส์และเกร็งกล้ามเนื้อ คอ แขน และข้อมือตลอดเวลา พอตรวจด้วยการ เอกซเรย์จึงพบว่า กระดูกคอเสื่อม พอไปตรวจ ข้อมือก็พบว่าพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท ต้องแก้ไข หลายๆ วิธีร่วมกัน ทั้งการกินยา ฝังเข็ม กายภาพ บำบัด ออกกำลังกาย และปรับท่าทางในการทำงาน ให้ถูกต้อง อาการจึงค่อยๆ ดีขึ้น

“นอกจากนี้มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่มักพบว่า คนทั่วไปทำเป็นประจำโดยไม่ทราบว่ามีผลต่อกระดูก และข้อ เช่น นั่งไขว่ห้าง ต้องปรับให้นั่งแล้ววาง ฝ่าเท้าราบกับพื้น ขาตั้งเป็นมุมฉาก ยืดหลังตรง และไม่ควรนั่งทำงานนานกว่า 1 ชั่วโมง แนะนำให้ลุก ขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ 10 – 15 นาทีทุกๆ 1 ชั่วโมง หรือออกไปเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง”

 

BAD SHOES, BAD HEALTH เลือกรองเท้าผิด ทำป่วยจนต้องผ่าตัด

ปัจจัยซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกระดูกและข้อที่มักถูกมองข้ามคือ รองเท้า ซึ่งแพทย์หญิงสุมาภาอธิบายว่า

“รองเท้าเป็นอุปกรณ์ช่วยสำคัญที่ทำให้เราควบคุมสมดุลร่างกายโดยรวมได้ดีขึ้น รองเท้าที่ดีควรมีพื้น ที่หนาเพียงพอและไม่แข็งจนเกินไป ทำให้ฝ่าเท้าเหยียดได้เต็มที่ แต่ปัจจุบันการแต่งกายให้เหมาะสม จำเป็นต้องสวมรองเท้าหนัง บางครั้งมีทั้งแบบหัวแหลมและเสริมส้นสูง ก่อให้เกิดอาการตึงตั้งแต่ เอ็นร้อยหวาย น่อง เรื่อยไปจนถึงสะโพกและหลังส่วนล่าง ทำให้กระดูกข้อหลังส่วนล่างเสื่อมเร็ว”

รองเท้า, กระดูกพรุน, ดูแลกระดูก, กระดูกและข้อ, ป้องกันโรคกระดูกพรุน
ควรเลือกใส่รองเท้าที่มีพื้นหนาเพียงพอ และไม่แข็งจนเกินไป

แพทย์หญิงสุมาภายังเล่าถึงกรณีศึกษาอื่นๆ และแนะทางแก้ไขไว้ดังนี้

“ถ้าเป็นอาชีพที่ต้องยืนนานๆ เช่น แม่ครัว พนักงานเคาน์เตอร์ ช่างตัดผม แนะนำให้ยืนแบบมี ขั้นบันไดมารองรับสัก 2 ขั้น เพื่อจะได้สลับขามารับน้ำหนัก ลดแรงตึงที่น่องและหลัง ที่สำคัญ ไม่ควร สวมรองเท้าที่มีส้นสูงเกิน 3 นิ้วค่ะ

“สุดท้าย มีวิธีเลือกรองเท้าง่ายๆ ได้แก่ ไปเลือกในช่วงเย็น เพราะเท้าจะขยายตัวเต็มที่ งดใส่รองเท้าหัวแหลมเพราะจะทำให้ข้อนิ้วโป้งเท้าเสื่อม โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องสวมรองเท้าแคชชูส์ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

“ส่วนรองเท้าออกกำลังกายต้องบวกเพิ่มอีกครึ่งไซส์ถึงหนึ่งไซส์ กรณีที่เป็นคนเท้าแบนหรืออุ้งเท้าสูง ต้องหาแผ่นรองเสริม หรือแนะนำให้ตัดรองเท้าสุขภาพใส่จะดีกว่า”

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.