ตรวจมะเร็งเต้านม,มะเร็งเต้านม,เรื่องมะเร็งเต้านม

4 ข้อเท็จจริง “มะเร็งเต้านม” ที่น้อยคนจะรู้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “เรื่องมะเร็งเต้านม” โรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้

“เรื่องมะเร็งเต้านม”  ใครๆก็รู้ว่าโรคนี้น่ากลัวและเป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตอันดับต้นๆในบรรดาโรคมะเร็ง วันนี้เรามีข้อมูลสำคัญจาก “มูลนิธิถันยรักษ์ฯ” มานำเสนอ และอยากให้ทุกท่านได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจกับโรคร้ายนี้ ซึ่งน้อยคนจะทราบ

“มะเร็งเต้านม ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ กว่า 20 ปีที่มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้โรคนี้ร่วมกับผู้หญิงไทย แต่จากสถิติการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงในวันสตรีสากลเมื่อต้นปี มะเร็งเต้านมยังครองแชมป์อันดับหนึ่ง

โรคนี้เกิดจากอะไรและจะรับมืออย่างไร นายแพทย์ธรรมนิตย์  อังศุสิงห์  ประธานศูนย์ถันยรักษ์ และเลขาธิการมูลนิธิฯ อธิบายดังนี้

 

ตัวโรคที่เปลี่ยนไป

คุณหมอธรรมนิตย์ชี้ว่า ความจริงที่น่าสนใจเริ่มต้นในปี2552 จากผลการวิจัยของมูลนิธิซูซาน จี โคเมน ที่ทำงานด้านมะเร็งเต้านมร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้พยากรณ์อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเปลี่ยนกลุ่มจากผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา มาเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศในทวีปแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย โดยมีจำนวนเกินครึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด อีกทั้งคาดการณ์ต่อว่า ใน 10 ปี ถัดมาคือปี2563 ผู้ป่วยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 70

ทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับบ้านเราที่มีหญิงไทยป่วยด้วยโรคนี้มากเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายปี โดยมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 3 – 4 คน โดยพบอยู่ในจังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรม อาทิ ชลบุรี กรุงเทพมหานคร ระยอง พระนครศรีอยุธยา

แม้จะยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัด แต่นัยสำคัญเชิงพื้นที่เหล่านี้บอกเราว่า สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม…แล้วใครบ้างที่เสี่ยง

เราทุกคนมีความเสี่ยง

ทุกวันนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่สรุปชี้ชัดลงไปถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่จากการทำวิจัยและเก็บข้อมูลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จึงพอสรุปได้ว่า กลุ่มเสี่ยงอันดับต้น ๆคือ ผู้หญิงที่คนในครอบครัวสายตรงมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งเต้านม

อีกทั้งอายุที่มากขึ้นก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นด้วย โดยสถิติของศูนย์ถันยรักษ์พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจเจอมะเร็งเต้านมในช่วงอายุ40 – 55 ปี

แต่ที่น่าสนใจคือ จากสถิติชุดเดียวกันพบว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 70กลับไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงกล่าวได้ว่า “เราทุกคนมีความเสี่ยง” แม้แต่เพศชายที่มีความเสี่ยงต่ำก็ยังเสียชีวิตด้วยโรคนี้นับพันคนทั่วโลกเลยทีเดียว

ร้อยละ 85 ไม่ใช่เนื้อร้าย

“มะเร็งเต้านมมีความพิสดารอย่างหนึ่งคือ ไม่เจ็บ ดังนั้น ผู้หญิงบางคนคลำพบก้อนแล้วก็ยังคิดว่าไม่อันตราย รอได้ไม่ต้องรีบรักษา นี่คือความเข้าใจผิดเพราะความไม่รู้”

นอกจากนี้คุณหมอธรรมนิตย์ยังชี้ว่า สาวไทยจำนวนไม่น้อยยังกลัวการรู้ความจริงจนเลี่ยงไม่มาตรวจอย่างละเอียด
ทั้งที่จริงๆก้อนในเต้านมส่วนใหญ่คือถุงน้ำ ไขมัน และเนื้องอกที่ไม่อันตราย มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เป็นมะเร็ง แต่อัตราส่วนที่น้อยไม่ได้รับประกันว่าคุณจะไม่เสี่ยงต่อโรคนี้อีก ทั้งก้อนที่ไม่อันตรายดังกล่าวก็อาจพัฒนาเป็นเนื้อร้ายได้ ทางที่ดีหากคลำพบก้อนจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ตรวจเต้านมสม่ำเสมอ ประหยัด ปลอดภัย ไร้ความเสี่ยง

คุณหมอชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ทุกวันนี้บ้านเราใช้งบประมาณสาธารณสุขส่วนใหญ่ไปกับการเยียวยาโรคต่างๆ รวมถึงมะเร็ง ขณะที่เจียดเงินเพียงไม่ถึงร้อยละ 30 ให้กับนโยบายป้องกันโรคต่างๆ ทั้งที่ระบบป้องกันและตรวจคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้อย่างมหาศาล

ในส่วนของมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาเมื่อป่วยในระยะที่ 2 ขึ้นไป ทำให้อัตราการรอดชีวิตลดลงมาก ทั้งที่มีความจริงที่ต้องตระหนักอยู่ 2 ประการหนึ่ง คือ จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลศิริราชและศูนย์ถันยรักษ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขนาดของก้อนมะเร็ง

ที่ตรวจพบส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 1 ขึ้นไป ซึ่งสามารถคลำเจอได้แต่เนิ่นๆ หากตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง และหากได้รับการรักษาทันทีจะมีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 90

ตรวจมะเร็งเต้านม

สอง คือ ในจำนวนผู้หญิงไทยกว่า 33 ล้านคน ครึ่งหนึ่งอยู่ในวัยที่ควรทำเอกซเรย์เต้านม (Screening Mammogram) อย่างต่อเนื่องปีละครั้ง วิธีการนี้สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น (ระยะ 0) ซึ่งรักษาหายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำสกรีนนิ่งแมมโมแกรมในปัจจุบันมีข้อจำกัดตรงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งอุปกรณ์และบุคลากรยังจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ ขณะที่ผู้หญิงในวัยนี้ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ห่างไกลโอกาสที่จะได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือดังกล่าวจึงเป็นไปได้น้อยมาก คุณหมอยังแนะนำต่อว่า

“การรณรงค์ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นวิธีการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะกับบ้านเราที่สุด ทางศูนย์จึงได้เริ่ม ‘โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม’ โดยได้รับความร่วมมือจากอสม.กว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศเป็นเครือข่ายให้ความรู้ รวบรวมสถิติ และส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

“ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเพิ่มโอกาสการตรวจพบสิ่งผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิผล และประหยัดทั้งงบประมาณของประเทศและเงินในกระเป๋าผู้ป่วย ที่สำคัญคือ การลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด”

…ทั้งหมดเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่าที่ทรงมุ่งหวังให้ผู้หญิงไทยพ้นภัยมะเร็งเต้านม  โดยให้มูลนิธิถันยรักษ์ฯ นำองค์ความรู้และเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ตรวจวินิจฉัยทั้งคนจนคนรวยอย่างเท่าเทียมกัน


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สูตรป้องกันมะเร็งเต้านม ฉบับใช้ได้ตลอดชีวิต

อ้วน ตัวการมะเร็งเต้านมที่ไม่ควรมองข้าม (พร้อมวิธีตรวจเต้านมง่ายๆ)

แก้ไหล่ติด หลังตัดมะเร็งเต้านม

3 เรื่องเล่า : โศกนาฏกรรมหลังมะเร็งเต้านม

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.