ดับร้อน, โรค, หน้าร้อน

ดับร้อน ดับโรค ด้วยเทคนิคง่ายๆ

ดับร้อน ด้วย 14 เทคนิคที่จะช่วยให้แข็งแรงสู้แดด

ดับร้อน อย่างไรดี ยิ่งเข้าสู่เดือนเมษายน หลายคนยิ่งไม่อยากออกจากบ้าน เพราะอากาศร้อนอบอ้าว หากต้องสู้แดดรอรถนานๆ มีหวังว่า อาการป่วยจากความร้อนหรือที่เรียกว่า Heat Related Diseases จะถามได้ง่ายๆ แต่เรามีวิธีช่วยคุณแข็งแรงสู้แดดแรงได้สบายๆ

ยิ่งร้อน ยิ่งป่วย

อาการป่วยจากความร้อน เบื้องต้นผู้ป่วยอาจเป็น ตะคริวคือ มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณขา น่อง หรือบริเวณท้องร่วมด้วย ในรายที่เป็นมากขึ้นอาจเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่าภาวะ อ่อนเพลียจากความร้อนคือ มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายจะเป็นลม ตาลาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากรักษาไม่ทันท่วงที ในที่สุดจะทําให้ผู้ป่วยมีอาการลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) โดยสัญญาณเตือนสําคัญของโรคฮีทสโตรกคือ แม้อากาศจะร้อน แต่เหงื่อไม่ออก (แตกต่างจากอาการเพลียแดดซึ่งจะมีเหงื่อออก) หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็ง ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ไม่ค่อยรู้สึกตัว อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็ว แต่แผ่วเบาการทํางานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทําให้เสียชีวิตได้

14 วิธี ดับร้อน

อากาศร้อนส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่น้อย ดังนั้น มาดูเทคนิคเพื่อซัมเมอร์นี้กัน

1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

2.กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกมื้อ และควรเลือกกินอาหารที่ปรุงสุกสดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)กระทรวงสาธารณสุข ยังแนะนําให้กินอาหารที่อุดมไปด้วยเกลือแร่ แคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียมเพิ่มเติม เช่น กล้วยหอม โยเกิร์ต ผักโขม ปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น

3.สวมเสื้อผ้าเนื้อบางที่ระบายอากาศได้ดี รวมถึงสวมหมวก แว่นตากันแดด หรือกางร่มกันรังสียูวี

4.พกพัดหรือพัดลมมือถือขนาดเล็กเพื่อระบายความร้อน

ดับร้อน, โรค, หน้าร้อน

5.ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป แต่ไม่ควรทามากจนเกินไป เพราะเนื้อครีมจะทําให้ร่างกายหลั่งเหงื่อและระบายความร้อนได้น้อยลง

6.ฉีดสเปรย์ละอองน้ำบนใบหน้าหรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นระยะๆ เพื่อระบายความร้อน

7.ดื่มน้ำสะอาดมากกว่าวันละ 2 ลิตร โดยให้จิบต่อเนื่อง แต่เมื่อเหงื่อออกมากและรู้สึกอ่อนเพลีย อาจต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เสริมด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ โดยวิธีการตรวจสอบตัวเองว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่สามารถสังเกตได้จากสีของน้ำปัสสาวะ หากปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจนกว่าจะหยุดกระหายน้ำและสีของปัสสาวะใสขึ้น

8.เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มบางชนิดระหว่างเดินทาง ได้แก่ ชา กาแฟ เนื่องจากจะทําให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายจึงสูญเสียน้ำได้ง่าย

9.ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะจะทําให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ รองลงมาคือ อาการปวดท้องน้อย ไม่สบายท้องและอาจรุนแรงถึงขั้น กรวยไตอักเสบติดเชื้อได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวก ผู้สูงอายุสามารถสวมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ได้ แต่ควรเปลี่ยนระหว่างวันเพื่อป้องกันความอับชื้น เชื้อรา หรือผื่นคันต่างๆ

10.ผู้ที่มีผดผื่นคันหรือเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ควรใช้ผ้าชุบน้กหรือนําน้ำแข็งมาประคบตามตัว เพื่อช่วยลดความร้อนที่ผิวหนัง

11.หลีกเลี่ยงการกินยาบางชนิดก่อนออกแดด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นยาที่ไม่ควรกินในขณะที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อน เพราะจะยิ่งทําให้ร่างกายอ่อนเพลียมากขึ้น รวมทั้งยาขับปัสสาวะ ยาลดการเต้นของหัวใจ ยาทางจิตเวช หากกินยาเหล่านี้ จะทําให้ร่างกายระบายความร้อนทางเหงื่อและปัสสาวะได้ไม่ดี จึงควรงดเว้นไปก่อน หรือเดินทางมาในช่วงเช้าหรือค่ำแทน

12.เมื่อเกิดอาการตะคริวที่น่องสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ โดยค่อยๆ ใช้มือดันปลายเท้าข้างที่เป็นตะคริวเข้าหาลําตัว เพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกร็งยืดออก จนกระทั่งหายปวดแล้วจึงค่อยปล่อยมือ หากยังมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่องให้ทําซ้ำ จนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเหลืออยู่อีก

13.ใช้สเปรย์ระงับกลิ่นเท้า (หรือสเปรย์ระงับกลิ่นกายก็ได้) ฉีดพ่นบริเวณฝ่าเท้าก่อนเดินทางออกจากบ้าน เพื่อยับยั้งเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของปัญหาเท้าเหม็น

14.หากรู้สึกปวดศีรษะ หน้ามืด เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ให้รีบออกไปยัง บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทหรือที่ร่ม แต่หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์ตามจุดบริการทางการแพทย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง


บทความอื่นที่น่าสนใจ

เตือนภัย! ท้องร่วง โรคที่มากับหน้าร้อน (พร้อมวิธีรับมือ)

เทคนิคดื่มน้ำ ดับร้อน

กาบหอยแก้ร้อน (ใน) สมุนไพรไทยทำง่าย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.