กล้ามเนื้อกระตุก

7 วิธีป้องกัน กล้ามเนื้อกระตุก ขณะหลับ

วิธีป้องกัน กล้ามเนื้อกระตุก ขณะนอนหลับ

เคยมีอาการขากระตุกเวลานอนจนสะดุ้งตื่นกลางดึกไหมคะ ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า อาการ กล้ามเนื้อกระตุก ขณะหลับเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ พบในผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีความเครียด ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด ผู้ที่ขาดแคลเซียมคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนักกระทั่งหลับไปโดยไม่รู้ตัว  

เมื่อเราหลับลงอย่างรวดเร็ว จะไม่มีการส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น เดิน วิ่ง นั่ง นอน สมองจึงเกิดความสับสน ส่งผลให้มีความรู้สึกคล้ายการตกลงมาจากที่สูง หลังจากนั้นจึงตอบสนองด้วยการสั่งให้กล้ามเนื้อเกร็ง และกระตุกอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเอาชีวิตรอดตามสัญชาตญาณ

คนทั่วไปจะไม่มีอาการ กล้ามเนื้อกระตุก หรือถ้ามี จะไม่เกินคืนละ 5 ครั้ง และกระตุกไม่แรง แต่ถ้ามีการกระตุกมากกว่า 5 ครั้ง และเป็นการกระตุกที่รุนแรง อาจเกิดจากโรคทางระบบประสาทและสมองได้

ส่วนทาง การแพทย์แผนจีน อธิบายว่า อาการกล้ามเนื้อกระตุก เกิดจากลม ซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยวะตับทำงานผิดปกติพลังงานตับและไตอ่อนแอ เลือดและลมปราณน้อยจึงส่งพลังไปเลี้ยงปลายแขนและขาได้ไม่ดี จึงมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก

กล้ามเนื้อกระตุก วิธีป้องกันและเยียวยาเบื้องต้น

แพทย์แผนจีนมีวิธีป้องกันและรักษา อาการกล้ามเนื้อกระตุก ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท

2. ไม่ควรกินอาหารมื้อเย็นให้อิ่มจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อดึก

3. หากมีอาการอ่อนเพลียระหว่างวันแนะนำให้งีบหลับสัก 5 นาที จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น

4. ไม่ควรทำงานในช่วงหัวค่ำหรือก่อนนอน ควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดี และหมั่นผ่อนคลายจิตใจก่อนเข้านอน

5. ปรับสภาพห้องนอนให้เหมาะสมสำหรับการนอนหลับ เช่น ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ทำให้ห้องเงียบที่สุด ไม่มีแสงไฟรบกวน

6. หากแขนและขาเมื่อยล้า แนะนำให้แช่น้ำอุ่นวันละ 10 - 15 นาที

7. กินพุทราจีนเพื่อบำรุงเลือด กินงาดำเพื่อบำรุงไต

พุทราจีน, งาดำ, ป้องกันอาการกล้ามเนื้อกระตุก, กล้ามเนื้อกระตุก, รักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก
กินพุทราจีน และงาดำ ช่วยป้องกันอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้

การดูแลร่างกายและจิตใจย่อมทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรง รู้สึกกระปรี้กระเปร่าสามารถปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

จาก คอลัมน์หมอจีนประจำบ้าน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 445 (16 เมษายน 2560)

วิตามินช่วยนอน หลับสนิทตลอดคืน

ใครที่นอนแล้วสะดุ้ง กล้ามเนื้อกระตุก ตอนนอนบ่อย ๆ ลองกินวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดก็ดีค่ะ เพื่อที่จะช่วยให้เรานอนหลับสนิท หลับลึก เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพียงพอที่จะรักษาสมดุลของสุขภาพโดยรวมของเราได้ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

  1. แคลเซียมและแมกนีเซียม

การขาดแคลเซียมและแมกนีเซียมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตื่นกลางดึกและไม่สามารถกลับไปนอนให้หลับสนิทได้ เพราะแคลเซียมและแมกนีเซียมช่วยในการทำงานของระบบประสาท ควบคุมการหดและคลายของกล้ามเนื้อ หากขาดแร่ธาตุทั้งสองชนิดอาจทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ เกิดตะคริว นอนไม่หลับ หรือหลับยาก

หาได้จาก

พบแคลเซียมในปลาเล็กปลาน้อย ปลาป่น กุ้งแห้ง งาดำ รำข้าว ถั่ว ใบยอ มะเขือพวง และผักใบเขียว ส่วนแมกนีเซียมพบมากในแก้วมังกร สตรอว์เบอร์รี่ แตงโม ถั่ว งา ธัญพืช และ ผักใบเขียว

  1. วิตามินบี6

มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนกรดแอมิโนทริปโตแฟน (Tryptophan) ให้กลายเป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่ช่วยควบคุมอารมณ์และการนอนหลับให้เป็นปกติ

รายงานจาก American Psychosomatic Society ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า หากได้รับวิตามินบี6จากอาหารไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน เกิดความ วิตกกังวล ส่งผลให้นอนไม่หลับได้

หาได้จาก

พบวิตามินบี6 ในกะหล่ำปลี รำข้าว ยีสต์ ถั่ว และข้าวโพด

  1. วิตามินบี12

วารสาร Sleep ให้ข้อมูลว่า พบผู้ป่วยรายหนึ่ง อายุ 55 ปี ทรมานจากโรคนอนไม่หลับตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยมีอาการนอนหลับยาก ตื่นบ่อยในช่วงกลางดึก และไม่สามารถข่มตาหลับได้ เมื่อนอนไม่เต็มอิ่ม หลังตื่นนอนจึงไม่สดชื่น ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน เกิดอาการงีบหลับระหว่างวัน จนส่งผลกระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

หลังเสริมวิตามินบี12 วันละ 1.5 มิลลิกรัม ร่วมกับการรักษาตามการแพทย์แผนปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ตื่นกลางดึกและงีบหลับระหว่างวันลดลง

หาได้จาก

พบวิตามินบี12 ในเนื้อสัตว์ เช่น ปลาชนิด ต่างๆและอาหารทะเล

  1. วิตามินอี

การศึกษาหนึ่งในหญิงอายุ 78 ปี พบว่า หลังเสริมวิตามินอีวันละ 300 ไอยู นาน 2 เดือน อาการจะทุเลาลง สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น สำหรับการรักษากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข อาจกินวิตามินเสริมวันละ 800 – 1,200 ไอยู ทั้งนี้ควรปรึกษา แพทย์ก่อนเสริมวิตามินทุกครั้ง

หาได้จาก

พบวิตามินอีในรำละเอียด ธัญพืช ข้าวโพด ถั่วแดง ถั่วเหลือง ผักกาดหอม เมล็ดทานตะวัน งา น้ำมันงา และ ถั่วลิสง


บทความอื่นที่น่าสนใจ

รู้ยัง? ไดเอ็ท เกินพอดี อาจทำสมองป่วยได้

สายกิน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้ เทคนิคแก้ท้องอืดไว้ดูแลตัวเองหลังพุงระเบิด

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.