ผู้หญิงทำงาน ผู้หญิง ผู้หญิงที่มีลูกอ่อน ผู้หญิงที่มีลูกวัยอนุบาล ผู้หญิงที่มีลูกวัยทำงาน คุณแม่

อาหารสุขภาพ สำหรับ ผู้หญิงทำงาน แก้โรคเต้านม มดลูก รังไข่ ตอนที่ 1

อาหารสุขภาพ สำหรับ ผู้หญิงทำงาน ตอนที่ 1

นับถือในความสามารถของ ผู้หญิงทำงาน สมัยนี้จริงๆ ค่ะ เพราะพวกเธอไม่เพียงต้องดูแลลูกและสามี แต่ยังต้องช่วยหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกด้วย เมื่อต้องแบกภาระไว้บนบ่ามากมายเช่นนี้การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย เพราะหากสุขภาพไม่แข็งแรง เราคงไม่สามารถดูแลใครได้ แม้แต่ตนเอง

ชีวจิต จึงขอแนะนำอาหารสุขภาพสำหรับคุณผู้หญิงทำงานที่มีความรับผิดชอบในบทบาทต่างๆ เพื่อให้สาวเก่งทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมสำหรับการทำงาน สร้างรายได้ และดูแลทุกข์สุขของทุกคนในครอบครัว

 

ผู้หญิงทำงานมีลูกอ่อน ระวังมดลูกเต้านมป่วย

มีคำกล่าวว่า “เป็นแม่ลูกอ่อน ต้องว่องไว” เห็นด้วยเป็นที่สุดค่ะ เพราะเด็กทารกนั้นต้องการการดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลา และเมื่อต้องกลับไปทำงาน ปัญหาต่างๆ ของคุณแม่ลูกอ่อนจึงเพิ่มขึ้น คุณหมอชัญวลีอธิบายปัญหาสุขภาพของคุณแม่ลูกอ่อนไว้ว่า

“ผู้หญิงทำงานมีลูกอ่อน โดยเฉพาะที่ยังให้กินนมแม่อยู่นั้น ต้องระวังเรื่องความเครียดและความเหน็ดเหนื่อย เราทราบกันดีว่า การให้ลูกกินนมแม่เกิน 6 เดือนนั้นมีประโยชน์หลายทาง คือ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ และช่วยกระชับสายสัมพันธ์แม่ลูก แต่ขณะเดียวกันหากเกิดปัญหาว่า คุณแม่สุขภาพไม่แข็งแรง เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานและเลี้ยงลูก เพราะไม่มีคนช่วย อาจทำให้ไม่มีน้ำนม คุณแม่ทำงานก็ไม่ควรเครียด และไม่ควรมีใครตราหน้าว่าเธอเป็นคนบาป ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้เพราะจะยิ่งสร้างความเครียดให้แก่คุณแม่ทำงาน”

ดังนั้นคุณพ่อหรือคนใกล้ชิด ควรมีส่วนช่วยในการดูแลลูกเพื่อลดความเหน็ดเหนื่อย และความเครียดของคุณแม่ลูกอ่อนลง นอกจากนี้คุณหมอชัญวลียังแนะนำให้ผู้หญิงทำงานที่มีลูกอ่อนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพระบบสืบพันธุ์ของตนเอง

“แม่ลูกอ่อนต้องระวังปัญหาการอักเสบติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่า มีอาการปวดท้อง เป็นไข้ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือไม่ ซึ่งแสดงว่า มดลูกเกิดการอักเสบ เต้านมปวดบวม หัวนมเป็นแผลอักเสบหรือไม่ หากมีต้องรีบไปพบแพทย์ทันที”

นอกจากนี้คุณหมอชัญวลียังอธิบายว่า คุณแม่ลูกอ่อนอาจพบปัญหาไม่มีความต้องการทางเพศ เนื่องจากขณะให้ลูกกินนมแม่ จะทำให้ฮอร์โมนจากรังไข่ไม่ทำงาน จึงอาจเกิดอาการเจ็บและแสบช่องคลอดหรือไม่มีความต้องการทางเพศได้ รวมถึงคุณแม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมเพราะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้แม้ขณะให้นมลูก ซึ่งการตั้งครรภ์ติดกันมีผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์

คุณแม่ลูกอ่อน, ผู้หญิง, ผู้หญิงวัยทำงาน, สุขภาพของคุณแม่ลูกอ่อน
ความเครียดและความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน อาจทำให้คุณแม่ลูกอ่อนมีปัญหาสุขภาพได้

DietTips

คุณแม่ทำงานที่มีลูกอ่อนควรกินอาหารให้ร่างกายได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 500 กิโลแคลอรี เช่น ก่อนตั้งครรภ์ได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี เมื่อเป็นคุณแม่ลูกอ่อนที่ต้องให้นมควรได้รับพลังงาน 2,500 กิโลแคลอรี นอกจากนี้ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรร่วมด้วย

มีเมนูที่ช่วยบำรุงน้ำนมและเพิ่มพลังงานสำหรับคุณแม่ทำงานที่มีลูกอ่อนมาแนะนำ คือ เมนูผัดกะเพราฟักทอง ที่นอกจากเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นน้ำนมอีกด้วยผัดกะเพราฟักทอง

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 อาหารสำหรับคุณแม่ที่มีลูกอยู่อนุบาล >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.