ไต, วิธีดูแลสุขภาพไต, โรคไต, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, ยึดอายุไต

วิธีดูแลสุขภาพไต อย่างถูกต้อง ป้องกันโรค

รู้ให้ไว 7 สัญญาณเตือนโรคไต

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเตือน 7 อาการส่อโรคไตเรื้อรัง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันต่อไป

1. ปัสสาวะแสบขัด

เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนใหญ่พบในเพศหญิง หากพบในเพศชายอาจเกิดจากโรคนิ่วในไต

2. ปัสสาวะลำบาก

ต้องอาศัยแรงเบ่ง หรือปัสสาวะสะดุดกลางคัน แสดงถึงการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ๆ หรือเกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง จนนำไปสู่โรคไตเรื้อรังในที่สุด

3. ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ

ขณะนอนหลับในเวลากลางคืนนาน 6 – 8 ชั่วโมง ไตจะดูดน้ำกลับมากขึ้น ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะลดลง ไม่จำเป็นต้องตื่นกลางดึกเพื่อปัสสาวะ ยกเว้นในรายที่ดื่มน้ำก่อนเข้านอน อาจตื่นกลางดึกเพื่อปัสสาวะ 1 – 2 ครั้งสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง จึงไม่สามารถดูดน้ำกลับคืนสู่ร่างกายได้ ตามปกติส่งผลให้ต้องตื่นกลางดึกบ่อยครั้งเพื่อขับน้ำออกทางปัสสาวะ

ปัสสาวะ, ไต, โรคไต, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, วิธีดูแลสุขภาพไต
อาการปัสสาวะผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคไต

 

4. ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือขุ่นผิดปกติ

ปัสสาวะปกติมีสีเหลืองใส หรืออาจเข้มขึ้นเมื่อดื่มน้ำน้อย แต่หากมีสีแดงคล้ายเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ แสดงว่าอาจมีเลือดปนมากับปัสสาวะ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะโรคนิ่วในไต โรคไตอักเสบ หรือมีเนื้องอกในระบบทางเดินปัสสาวะ

5. อาการบวมบริเวณใบหน้าและเท้า

สังเกตได้ง่ายเวลาตื่นนอน อาจมีอาการบวมบริเวณรอบตาและใบหน้า ตกบ่ายอาจมีอาการเท้าบวม สังเกตได้ชัดจากรองเท้าที่สวมใส่จะคับขึ้นเมื่อใช้นิ้วมือกดที่เท้าหรือหน้าแข้งจะมีรอยบุ๋ม สาเหตุเกิดจากไตไม่สามารถขับเกลือและน้ำออกจากร่างกายได้ตามปกติทำให้มีการคั่งค้างของน้ำในร่างกาย

6. อาการปวดหลัง ปวดเอว

หากเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุอาจมีสาเหตุมาจากโรคนิ่วในไต หรือเกิดจากการอุดตันของท่อไตหรือถุงน้ำในไต อาการที่ปรากฏคือ ปวดบริเวณบั้นเอวหรือชายโครงด้านหลัง และมักมีอาการปวดร้าวไปถึงท้องน้อยขาอ่อน หรืออวัยวะเพศ มักพบร่วมกับมีปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อหรือสีขาวขุ่น หากปวดหลังหรือปวดเอวโดยไม่มีอาการปวดร้าวไปที่อวัยวะส่วนอื่น อาจเป็นอาการของไตอักเสบ

ความดันโลหิตสูง, ความดัน, ไต, วิธีดูแลสุขภาพไต, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
หากมีอาการความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง

 

7. โรคความดันโลหิตสูง

หากมีความดันโลหิตมากกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอทและไม่ได้รับการรักษา หรือความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน และไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้อาจเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังและโรคหลอดเลือดแดงไตตีบ

เริ่มดูแลสุขภาพไตตั้งแต่วันนี้ ด้วยการกินให้ถูกหลักปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ไตก็อ่อนวัยและมีอายุยืนได้ค่ะ


บทความน่าสนใจอื่นๆ

อาหารโรคไต กินอย่างไรไตไม่ป่วย

แพทย์แผนจีน กับอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไต

6 วิธีกิน ถนอมไต เพราะ โรคไต ไม่ใช่มีแค่ “ลดเค็ม”

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.