หัวใจวาย, โรคหัวใจ, ป้องกันโรคหัวใจ, อาการหัวใจวาย, หัวใจวายเฉียบพลัน

เทคนิครับมือ 3 สัญญาณอันตรายก่อน หัวใจวาย

ปัจจัยที่นำไปสู่การตายแบบกะทันหัน    

1. โรคที่เป็นงอมได้ที่จนต่อมไขมันบนหลอดเลือดแตกออก

แหม ข้อนี้ไม่ต้องเอาหลักฐานวิทยาศาสตร์มาอ้างก็ได้ คนธรรมดาใครๆ ที่ไหนก็รู้กันทั่วว่าคนเป็นโรคมานานจนงอมได้ที่ก็ต้องตายง่าย ถูกไหมครับ

คำตอบก็คือ… อาจจะไม่ถูกนะ เพราะการชันสูตรหลอดเลือดหัวใจของผู้ที่เกิดหัวใจวายเสียชีวิตกะทันหันเกินครึ่งพบว่า โรคยังไม่ทันงอมได้ที่เลยไม่มีต่อมไขมันแตกเติกอะไรเลย บางคนที่อายุระดับสามสิบปลายๆ สี่สิบต้นๆ เพิ่งจะเริ่มเป็นโรค แต่ก็มาหัวใจวายตายเสียแล้ว โดยที่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นโรค ดังนั้นจึงต้องมีปัจจัยอื่นที่มาร่วม “ซ้ำเหงา” ให้เกิดเรื่องทั้งๆ ที่หลอดเลือดเพิ่งเริ่มเป็นโรคเท่านั้นเองปัจจัยซ้ำเหงาที่ว่าคือ…

2.ความเครียดเฉียบพลันที่เจ้าตัวไม่รู้วิธีรับมือ

งานวิจัยทางระบาดวิทยาพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตกะทันหันจำนวนหนึ่งมีความเครียดเฉียบพลันเป็นตัวเหนี่ยวนำ วิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าความเครียดทำให้หลอดเลือดหดตัว ถ้าเครียดมากก็หดมาก ถ้าเครียดมากที่สุดก็หดแบบไม่ยอมคลายถ้าเป็นการหดที่หลอดเลือดหัวใจเรียกว่า Coronary Spasm

ความเครียดเฉียบพลัน, ปรี๊ดแตก, หัวใจวาย, หัวใจวายเฉียบพลัน, โรคหัวใจ
ความเครียดเฉียบพลัน เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการหัวใจวาย

ความเครียดระดับนี้พูดภาษาบ้านๆ ก็คือ เป็นความเครียดระดับ “ปรี๊ดแตก” คือปากสั่นคอสั่น พูดจะไม่เป็นคำแล้วถ้าไม่รู้วิธีรับมือก็จะม่องเท่งได้ง่ายๆ

ดังนั้นทุกท่านต้องมีวิทยายุทธ์ในการรับมือกับความเครียดเฉียบพลันคือต้องฝึกสติ รู้ตัวว่าอารมณ์เรากำลังเดือดปุดๆ หรือยัง ถ้าเห็นว่าเริ่มจะปุดๆ แล้ว ให้รีบพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นทันที อย่างน้อยก็ให้หายใจเข้าลึกๆ แล้วค่อยๆ ระบายลมหายใจออก พร้อมกับบอกกล้ามเนื้อทั่วตัวให้ผ่อนคลาย บอกใจให้ปล่อยวางเสียเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้…ตายไม่รู้ด้วยนะ

3.การที่ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นพรวดพราด

เช่น หลังอาหารมื้อหนักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ซึ่งมีไขมันจากสัตว์สูงงานวิจัยพบว่า หลังมื้ออาหารประเภทนี้ไขมันในเลือดจะสูงขึ้น แม้จะสูงแป๊บเดียวก็จริง คือสูงอยู่ประมาณชั่วโมงกว่า แล้วลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่ฤทธิ์ของไขมันในเลือดสูงจะมีผลอยู่นานถึง 4 – 6 ชั่วโมง

กินไขมันมาก, หัวใจวาย, โรคหัวใจ, หัวใจวายเฉียบพลัน, ป้องกันโรคหัวใจ
กินอาหารที่มีไขมันมาก เสี่ยงต่ออาการหัวใจวายเฉีบพลัน

ฤทธิ์ที่ว่านั้นคือ เลือดจะหนืดขึ้นไหลช้าลง เมื่อเอาอัลตราซาวนด์สอดเข้าไปถ่ายรูปหลอดเลือดดู ก็พบว่าหลอดเลือดหดตัวแน่นไม่ยอมคลายเพราะไขมันทำลายกลไกการผลิตก๊าซไนตริกออกไซด์ (NO) ที่คอยทำให้หลอดเลือดขยายตัว จังหวะที่หลอดเลือดหดตัวฟุบควบกับเลือดหนืด นื้ดหนืด เนี่ยแหละ ลิ่มเลือดก็ก่อตัวขึ้นและอุดตันหลอดเลือดที่ตีบอยู่แล้ว…จึงเป็นเรื่อง

ดังนั้นการจะป้องกันการตายกะทันหันจากสาเหตุนี้ก็มีวิธีเดียวคือ อย่ากินไขมันมาก

แหม หมอสันต์เนี่ย ขู่กันเสียขนลุกแล้ว…

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทุกท่านรับข่าวสารกลับบ้านสองประเด็นเท่านั้น คือให้หัดดับความเครียดเฉียบพลันก่อนที่ปรี๊ดจะแตกและ…อย่ากินไขมันมาก

 

จาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 416 (1 กุมภาพันธ์ 2559)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

มะเขือยาว ช่วยหุ่นฟิต ฟื้นฟูหัวใจ

4 อาหารบำรุงหัวใจ ให้แข็งแรง

4 อาการ เสี่ยงโรคหัวใจ ภัยใกล้ตัวคนทำงาน

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.