ไหล่ติด

ระวัง ! ไหล่ติด โรคยอดฮิตจากออฟฟิตติดแอร์ + วิธีแก้

ระวัง ! ไหล่ติด โรคยอดฮิตจากออฟฟิตติดแอร์

ไหล่ติด อาการที่เกิดจากสาเหตุของความเย็น ส่งผลต่อสุขภาพได้

แพทย์จีน นภษร แสงศิวะฤทธิ์ อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เล่าว่า มีผู้ป่วยชายอายุ 58 ปีรายหนึ่ง มาพบหมอด้วยอาการปวดไหล่ข้างขวา เคลื่อนไหวติดขัด ไม่สามารถยกมือเกาหัวได้มาเป็นเวลาครึ่งปีแล้ว

ผู้ป่วยท่านนี้มีพฤติกรรมเสี่ยงคือ ไม่สวมเสื้อเวลานอนเพราะกลัวร้อน มักตั้งอุณหภูมิแอร์ที่ 23 องศาเซลเซียส และปรับทิศทางลมให้เป่าโดนตัวโดยตรง หรือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้าสถานที่นั้นไม่มีแอร์ก็จะเปิดพัดลมจ่อตัวเอง

คุณหมอวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีอาการไหล่ติด “Periarthritis Humeroscapularis (PAHS) ; Frozen Shoulder” เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยอายุ 50 ปี

แพทย์แผนจีนมองว่า ไหล่ติดมีสาเหตุจาก ไหล่ถูกลมเย็นมากระทบจนเกิดความชื้นสะสม ทำให้เลือดและเส้นลมปราณบริเวณไหล่ติดขัด หรือการเคลื่อนไหวข้อไหล่มากเกินไป เช่น ยกของหนักทำให้ลมปราณและเลือดพร่อง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้เพียงพอ เกิดเป็นพังผืดยึดเกาะ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

หมอรักษาคนไข้รายนี้ด้วยการครอบแก้ว ฝังเข็มซึ่งหลังจากครอบแก้วแล้ว ผิวหนังบริเวณคอ บ่า ไหล่ เปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ มีจุดจ้ำเลือดบริเวณที่ปวดมากเป็นพิเศษ

ไหล่ติด

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาคือ คนไข้ต้องดูแลตัวเอง โดยหมอแนะนำให้เขาปฏิบัติดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการปะทะความเย็น

เช่น ตากพัดลมตากแอร์เย็น ๆ เพราะนอกจากความเย็นทำให้มีอาการไหล่ติดแล้ว ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นปวดเอว ปวดหลัง ปวดหัวเข่า ดังนั้นจึงควรอยู่ในอุณหภูมิปกติ

2.บริหารกล้ามเนื้อไหล่

โดยการฝึกท่า “ไต่กำแพง” คือ ค่อยๆ ไต่นิ้วมือไปบนกำแพงให้สูง

ที่สุดเท่าที่ทำได้ หรือฝึกท่า “จับมือประสานหลัง”โดยยกแขนข้างหนึ่งขึ้น พับข้อศอกลง วางมือบนแผ่นหลัง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งอ้อมไปด้านหลัง แล้วพยายามเกี่ยวนิ้วของมือทั้งสองเข้าด้วยกัน ค้างไว้ 5 - 10 นาที ทำวันละหลายรอบยิ่งดี

3.ถ้ามีอาการปวดให้ประคบร้อนเพื่อคลายกล้ามเนื้อจะช่วยลดความปวดได้

จะเห็นได้ว่า ลม ความเย็น ความชื้นสามารถก่อโรคต่างๆ ได้มากมาย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยง การอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศดังกล่าว เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล ก็สามารถป้องกันอาการปวดทั่วร่างกายได้ค่ะ

 

จาก คอลัมน์หมอจีนประจำบ้าน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 415 (16 มกราคม 2559)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ฟังเสียงจากข้อส่อ โรคกระดูกเสื่อม

6 steps บริหารหลังไหล่

แก้ไหล่ติด หลังตัดมะเร็งเต้านม

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.