ยาเขียว, แก้ไข้, อีสุกอีใส, กินยาเขียว, ประโยชน์ของยาเขียว

ยาเขียว สุดยอดตำรับโบราณ

ยาเขียวคืออะไร ทำไมต้องใช้ชื่อว่ายาเขียว

อาจารย์รุ่งระวีได้อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า “ยาเขียว เป็นยาที่มีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ ออกผื่น หัด อีสุกอีใส อาการส่าไข้ (ผื่นที่จะขึ้นหลังจากมีไข้ลดลงแล้ว สมัยก่อนเรียกว่าไข้ไม่ทราบสาเหตุ ด้วยวิทยาการที่ทันสมัย ปัจจุบันค้นพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส)”

เนื่องจากตำรับยาเขียว มีส่วนประกอบของพืชที่ใช้ส่วนประกอบของใบเป็นหลัก ทำให้ยามีสีค่อนข้างไปทางสีเขียว จึงทำให้เรียกกันว่า “ยาเขียว” นั้นเอง

ในการที่ยาเขียวประกอบไปด้วยใบไม้เป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อประกอบเป็นตำรับแล้วทำให้ยาเขียว จัดเป็นยาเย็น เพราะใบไม้ที่ใช้นั้นมีสรรพคุณเป็นยาเย็น หอมเย็น ถึงแม้บางชนิดมีรสขมก็ตามแต่เป็นรสขมที่เย็นดับความร้อนของร่างกาย

ตำรับยาเขียวที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ โดยที่ผู้เขียนคัดมาจากตำรับที่ปรากฎคำว่า “ยาเขียว” ประกอบไปด้วย 3 ตำรับ คือยาเขียวมหาพรหม ยาเขียวน้อย และยาเขียวประทานพิษ

สำหรับในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นได้บรรจุตำรับยาเขียวที่ชื่อว่า “ยาเขียวหอม” ไว้ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสมุนไพรอันได้แก่

  • ตัวยารสเย็นที่เป็นใบไม้ สรรพคุณแก้ไข้ ได้แก่ ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย
  • ตัวยารสเย็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ส่วนของใบ ได้แก่ รากแฝกหอม มหาสดำ ดอกพิกุล สารภี เกสรบัวหลวง ว่านกีบแรด เนระพูสี
  • ตัวยาแก้ไข้ที่มีรสขม ได้แก่ จันทน์แดง พิษนาศน์
  • ตัวยารสสุขุม ควบคุมร่างกายมิให้เย็นจนเกินไป ได้แก่ จันทน์เทศ เปราะหอม ว่านร่อนทอง

โดยสรุปแล้วแก่นหลักของยาเขียวนั้นจะประกอบไปด้วยกลุ่มตัวยา 3 ชนิดด้วยกัน คือ ยารสเย็น ยารสขม และยารสสุขุม

อีสุกอีใส, ยาเขียว, รักษาอีสุกอีใส, โรคอีสุกอีใส, แก้อีสุกอีใส
ละลายยาเขียวกับน้ำรากผักชีต้ม ใช้กินและทา บรรเทาอาการอีสุกอีใส

ยาเขียวกินได้ ทาได้

การใช้ยาเขียวหอม ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นสามารถใช้ได้ทั้ง 2 แบบ ประกอบไปด้วยการกิน และการทาหรือชโลมบริเวณที่มีผื่น

ขนาดและวิธีใช้

  • ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
  • เด็กอายุ 6-12 กินครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

ยาเขียวกับน้ำกระสายยา

  • กรณีบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ให้ใช้น้ำสุกหรือน้ำลอยดอกมะลิบานทิ้งไว้ 1 คืนเป็นน้ำกระสายยา เพื่อช่วยละลายตัวยาและทำให้ยาออกฤทธิ์แรงขึ้น ด้วยเหตุว่าน้ำดอกมะลิ มีรสหอมเย็น ช่วยเสริมฤทธิ์ของตำรับ
  • กรณีแก้ไข้ออกผื่น หัด อีสุกอีใส ละลายน้ำรากผักชีต้ม เป็นน้ำกระสายยาทั้งกิน และมาชโลมบริเวณผิวหนัง เพื่อช่วยละลายตัวยาและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี เนื่องด้วยน้ำรากผักชี มีรสร้อนสุขุม ช่วยกระทุ้งพิษ และการชโลมจะสามารถช่วยลดความร้อนที่ผิวหนังได้

ข้อควรระวัง

  • ตำรับยาเขียวหอม เนื่องจากตัวตำรับมีส่วนประกอบของดอกไม้ 4 ชนิด อันได้แก่ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง ซึ่งมีละอองเรณูผสมอยู่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีประวัติการแพ้ละอองเกสรดอกไม้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการได้
  • เนื่องจากตัวยาประกอบด้วยใบไม้จำนวนมาก ถ้ากินยาเขียวเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้อาการท้องอืดได้ เพราะจะทำให้ร่างกายมีความเย็นเกินไป  ความเย็นจะไปลดไฟย่อยอาหารของเราให้ทำงานได้น้อยลงยาเขียว

อ่านต่อหน้าที่ 3

ตำรับโบราณอื่นๆที่ต้องรู้

ยาหอม 5 แบรนด์ไทย ตำรับขึ้นหิ้ง ไม่มีติดบ้าน ถือว่าพลาดมาก!

กินยาอุทัย บำรุงเลือด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ

คืนความสาว ความสวย ด้วยลูกแปลกแม่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.