เริมที่ปาก, โรคเริม, เริม, ป้องกันเริม, รักษาเริม

3 การรักษา 7 วิธีป้องกัน เริมที่ปาก

 

การรักษาแผลเริมที่ปาก

มีวิธีดังนี้

  1. ไม่ต้องรักษา นอกจากรักษาความสะอาด แผลเริมนั้นชอบความชื้น การทำแผลให้แห้ง เช่น เช็ดด้วยแอลกอฮอล์จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น การหายของแผลขึ้นอยู่กับขนาดยิ่งแผลขนาดใหญ่ยิ่งหายช้า กรณีนี้ควรไปพบแพทย์
  2. ทายา เช่น ครีมต้านไวรัส อะไซโคลเวียร์ หรือเพ็นซิโคลเวียร์ (Acyclovir, Penciclovir) โดโคซานอล (Docosanol) ครีมไขมันอิ่มตัวและแอลกอฮอล์ ครีมฆ่าเชื้อ (Benzakonium chloride) ฯลฯ ยาทาไม่สามารถป้องกันการกลับไปพักที่ตัวประสาทและปมประสาทของไวรัส แต่ทำให้แผลแห้งและหายเร็ว
  3. ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ แฟมซิโคลเวียร์ และวาลาซิโคลเวียร์ (Famcyclovir, Valaciclovir) มีทั้งชนิดกินและฉีด มักให้เมื่ออาการรุนแรง เช่น เป็นครั้งแรกหรือกระจายไปอวัยวะอื่น กรณีกลับเป็นซ้ำอาจให้ชนิดกินเป็นครั้ง ๆ ในระยะสั้น ๆ แต่หากกลับเป็นซ้ำบ่อยมาก หรือเป็นรุนแรงควรให้ยาต้านไวรัสชนิดกินต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
ความเครียด, ติดเชื้อเริม, เริมที่ปาก, เริม, โรคเริม, ป้องกันเริม, รักษาเริม
ความเครียด ร่างกายไม่แข็งแรง ทำให้ติดเชื้อเริมได้ง่าย

การป้องกันเริมที่ปาก

ก็เหมือนการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ดังนี้

  1. ไม่มีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน เพราะมีโอกาสติดเริมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ มากขึ้น
  2. ทำร่างกายให้แข็งแรง ไม่เครียด หากภูมิต้านทานร่างกายดี โอกาสติดเริมจะลดลง
  3. หากมีแผลเริมหรือเคยมีเชื้อเริม ต้องระวังการสัมผัสเพราะอาจแพร่เชื้อไปติดผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเด็ก
  4. ควรใช้ถุงยางอนามัยหากจะทำรักด้วยปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อเริม
  5. ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีโดยเฉพาะในผู้หญิงเพราะเชื้อเริมและเชื้อเอชพีวีเป็นเพื่อนกัน การติดเชื้อเริมที่ปากมีโอกาสติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ เพิ่มการติดเชื้อเอชพีวีและการเกิดมะเร็งปากมดลูก
  6. งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายช่วยลดการติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศได้
  7. พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา เพราะแผลเริมที่ปากอาจแยกยาก ระหว่างโรคปากนกกระจอก แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) แผลแพ้ยา แผลซิฟิลิส แผลติดเชื้อไวรัสเอ็นเทอโร (Enterovirus) หรือแอบสไตน์บาร์ (Epstein-Barr Virus) ฯลฯ หากอาการรุนแรง แผลเริมมีขนาดใหญ่ เจ็บมาก มีไข้ กินอะไรไม่ได้ เพลีย หรือลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน

ในคนทั่วไปที่ภูมิต้านทานปกติ เริมที่ปากอาจกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ แต่เกิดได้น้อยและต้องมีบาดแผลบริเวณผิวหนังที่จะรับเชื้อเริมเข้าไป บริเวณดังกล่าวได้แก่ นิ้วมือ ใบหน้า คอ แขน ดวงตา ผิวหนัง ส่วนบริเวณที่พบได้น้อยแต่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ ตับและสมองที่อักเสบจากเชื้อเริม อาจเกิดในทารก หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ ผู้กินยากดภูมิต้านทาน หรือเป็นโรคมะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลเริมที่ปากซ้ำ ๆ ได้แก่ แสงแดด ความเครียด ช่วงมีประจำเดือนมีแผลที่ปากหรือในปาก เช่น การถอนฟันและการทำฟัน ถูกความร้อน เช่น ควันบุหรี่ ภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น เป็นโรคเอดส์ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นเริมที่ปากมักมีแผลขนาดใหญ่ หายช้า และอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น ระบบหายใจหลอดลม ปอด ระบบทางเดินอาหาร หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบประสาทสมอง และระบบผิวหนัง

 

จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ  นิตยสารชีวจิตฉบับ 411


บทความน่าสนใจอื่นๆ

บ.ก.ขอตอบ : 8 สารอาหารป้องกัน แผลร้อนใน

7 อาหารใกล้ตัว ช่วย เหงือกและฟัน แข็งแรง

8 สาเหตุ ปากแห้งแตก แก้ด้วย 4 วิธีธรรมชาติ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.