ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, โรคNCDs, เครื่องดื่มแอลกอฮอร์, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, สุรา

5 เคล็ดลับต้าน โรคNCDs แสนง่าย ทำตามได้ทุกคน

ต้าน โรคNCDs แสนง่าย ทำตามได้ทุกคน

โรคNCDs (Non-Communicable Diseases) หมายถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนอื่นได้ ซึ่งอาการจะดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยมักเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายอันเนื่องมาจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม

 

Checklist : 5 พฤติกรรมเสี่ยงโรค

หากทำข้อใดข้อหนึ่งก็เสี่ยงแล้ว ลองเช็กดู

1. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่

3. กินอาหารหวาน มัน เค็ม

4. ไม่ค่อยออกกำลังกาย

5. เครียดบ่อย ๆ

 

ใช้ชีวิตอย่างไรให้ไกล NCDs   

5 พฤติกรรมข้างต้นเป็นวิถีชีวิตที่ดึงดูดโรคกลุ่มนี้เข้ามา บางอย่างอาจเป็นสาเหตุของโรคมากกว่า 1 โรคเสียด้วยซ้ำ ดังต่อไปนี้

 

1. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มทำให้เซลล์ตับอ่อนระคายเคืองจึงเกิดการอักเสบและผลิตอินซูลินได้น้อยลง เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้ยังทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น และเมื่อไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแตกหรืออุดตันได้ง่าย และมีความดันโลหิตสูง ทั้งยังมีการศึกษาพบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นการสร้างเซลล์มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร หากดื่มเป็นประจำจะทำให้ตับทำงานหนัก เมื่อเซลล์ตับถูกทำลายก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับได้

แก้อย่างไร ตั้งเป้าเอาชนะตัวเองโดยการละเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ใครที่มีพฤติกรรมติดเหล้าไม่รู้จะเลิกอย่างไร ลองโทร. 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ช่วยได้แน่นอน

 

สูบบุหรี่, โรคNCDs, โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง, บุหรี่ 
สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ เสี่ยงทำให้เกิดโรคเบาหวาน และมะเร็งปอด

2. สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นการลดประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน สารพิษในบุหรี่ทำให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกัน รวมทั้งนิโคตินในบุหรี่ที่สะสมในร่างกายจะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว แรงขึ้น หลอดเลือดสมองและหัวใจแคบลง อาจทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตันได้ง่ายขึ้น

สารพิษในบุหรี่จะทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดทีละน้อย ทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อยง่าย และเกิดโรคปอดติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีทาร์ สารพิษตัวร้ายที่เมื่อสูบเข้าไป จะรวมตัวกันเป็นสารที่มีความเหนียวติดอยู่กับเนื้อปอดและมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

แก้อย่างไร ผู้ที่ไม่สูบควรหลีกเลี่ยง อยู่ให้ห่างจากสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ ส่วนผู้ที่สูบควรเลิก แต่หากคิดอะไรไม่ออก โทร. 1600 สายด่วนเลิกบุหรี่ได้เลย

 

3. กินอาหารหวาน มัน เค็ม

หากกินอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลมาก ๆ ร่างกายจะไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลไปใช้ได้หมด จึงเก็บสะสมเป็นไขมันและเสี่ยงต่อโรคเบาหวานส่วนอาหารที่มันมาก ๆ จะทำให้มีปริมาณไขมันในเลือดสูง และเมื่อไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือดจึงทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ เปราะ จึงแตกหรืออุดตันได้ง่ายส่วนอาหารรสเค็มจัดหรือมีโซเดียมสูงจะทำให้ร่างกายดึงน้ำไว้ในกระแสเลือดมากขึ้น และเมื่อปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้

แก้อย่างไร ลดปริมาณการใช้เครื่องปรุงรสอาหารชนิดต่าง ๆ ฝึกนิสัยชิมก่อนปรุงทุกครั้ง เพิ่มผักสดผลไม้สดในทุกมื้อ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันซ้ำ ๆ

 

กินเค็ม, โรคNCDs, ความดันโลหิตสูง, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, โรคไต   
กินอาหารเค็ม หรือมีโซเดียมสูง เสี่ยงความดันโลหิตสูง

4. ไม่ค่อยออกกำลังกาย

ผู้ที่ออกกำลังกายน้อยจะทำให้เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้น้อยตามไปด้วย เมื่อใช้พลังงานน้อยจึงดึงน้ำตาลไปเผาผลาญได้ไม่หมด เมื่อน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดมากจะส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานได้ และหากไม่ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหัวใจจะไม่ได้รับการฝึกให้แข็งแรง ผนังหลอดเลือดจึงอ่อนแอเพิ่มความเสี่ยงที่จะแตกและอุดตันได้ง่ายด้วย ที่สำคัญ เมื่อใช้พลังงานน้อยกว่าที่กินเข้าไปจะเกิดการสะสมไขมัน ทำให้อ้วนด้วยนะ

แก้อย่างไร ออกกำลังกายอย่างต่ำวันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เริ่มจากเดิน วิ่งหรือกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ หรืออาจเป็นกิจกรรมกลุ่มที่จะช่วยให้เราสนุกกับการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น เช่น เล่นฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส

5. เครียดบ่อยๆ 

ความเครียดเพิ่มความดันโลหิต ทำให้ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ การเต้นของหัวใจผิดปกติลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ที่สำคัญคือความเครียดจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ไปกระตุ้น Receptor ที่อยู่ในเซลล์ไขมัน โดยเฉพาะในช่องท้องให้มีการเก็บสะสมไขมันมากขึ้น และจากการศึกษาพบว่า ความเครียดส่งผลต่อการขยายขนาดและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งอีกด้วย

แก้อย่างไร หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อความเครียด คิดบวก มองโลกในแง่ดี และพักผ่อนให้เพียงพอ

ปฏิบัติตามที่ สสส.แนะนำ นอกจากชีวิตจะห่างไกลโรค NCDs แล้ว คุณจะมีสุขภาวะที่เป็นเลิศอย่างแน่นอน เชื่อสิ

จาก คอลัมน์ Special Report นิตยสารชีวจิตฉบับ 431 (16 กันยายน 2559)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

กินคลายเครียด Relaxing Foods

8 เทคนิคหยุด เครียด หยุดทำร้ายสมอง

7 อาหารคลายเครียด ช่วยอารมณ์ดีตลอดวัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.