อย่าให้ปัญหาข้อเข่าเสื่อมทำลายคุณภาพชีวิต

คุณทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้พบว่ากลุ่มวัยทำงานก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเหมือนกับผู้สูงอายุ จะด้วยเพราะพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปทำให้มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยสูงขึ้น การออกกำลังกายแบบหักโหมเกินไป การใช้งานข้อเข่ามากและไม่เหมาะสม เช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นานๆ หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูงของสาวๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้เป็นโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ข้อเข่า ฯลฯ ทั้งนี้เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า โดยจะเริ่มเป็นกันมากในวัย 40 ปีขึ้นไปเพราะมีความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงน้อยกว่า

สัญญาณเตือนที่คุณสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองก็คือ มีอาการฝืด ตึง หรือปวด บริเวณข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว ขึ้นลงบันไดไม่สะดวกและอาจมีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับเข่า สาเหตุของอาการข้อเข่าเสื่อมเกิดจากกระดูกอ่อนระหว่างข้อเข่าซึ่งมีโครงสร้างเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า CollagenType II มีหน้าที่รองรับน้ำหนัก ลดแรงกระแทก รวมถึงให้ความแข็งแรงแก่ข้อต่อในขณะที่มีการเคลื่อนไหว มีสภาพบางลงและสึกกร่อนลงจนปลายกระดูกเริ่มเข้าใกล้และเสียดสีกัน โดยในระยะแรกจะเจ็บแบบเป็นๆ หายๆ หากยังใช้ข้อมากขึ้นหรือไม่ดูแลข้อให้เหมาะสมก็จะมีอาการรุนแรงและทุกข์ทรมานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ปัญหาข้อเข่าเสื่อมนับเป็นโรคเรื้อรังยากที่จะรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องงอเง่ามากๆ เพื่อชะลอการเสื่อมของข้อ ควบคู่กับการใช้ยาทั้งชนิดทาภายนอก ฉีดเข้าข้อและรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดและลดอาการข้อบวม เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (diclofenac) เซเลคอกซิบ(celecoxib) ซึ่งต้องรับประทานหลังอาหารทันที เพราะยามีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหารและอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ สำหรับการฉีดยาสเตียรอยด์ หรือการฉีดน้ำไขข้อเทียม จะมีประโยชน์ในโรคข้อเสื่อมบางชนิดและในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น นอกจากนี้ในรายที่มีอาการรุนแรงจะรักษาโดยการผ่าตัดจัดแนวกระดูกขาซึ่งจะใช้ในกรณีขาโก่งผิดรูปเล็กน้อย และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและยังมีระยะพักฟื้นนานหลายเดือน หรือแม้แต่การรับประทานสารสกัดกลูโคซามีนและคอนดรอยติน เพื่อลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเรื้อรังได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม

ปัจจุบันจึงมีการนำผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่ช่วยดูแลปัญหาข้อเสื่อมอย่าง “คอลลาเจนไทพ์ทู” ซึ่งเป็นคอลลาเจนชนิดเดียวกับที่พบในเซลกระดูกอ่อนบริเวณข้อมาช่วยเสริมสร้างสุขภาพข้อเข่าของเรา โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า การรับประทานคอลลาเจนไทพ์ทู (UC-II) ขนาด 40 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของส่วนประกอบที่อยู่ในข้อโดยกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์เซลล์ใหม่เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มระดับของ Hyaluronic acid ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำหล่อเลี้ยงในข้อ และยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยสลายน้ำหล่อเลี้ยงข้อ จึงช่วยลดอาการปวดข้อและข้อยืดได้ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น รวมทั้งยังได้ผลดีในผู้ที่ออกกำลังกายโดยเพิ่มประสิทธิภาพในการยืดองศาของเข่าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าคอลลาเจนไทพ์ทู (UC-II) มีความปลอดภัยสูงและไม่พบผลข้างเคียง และยังมีประสิทธิภาพลดอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดีกว่าสารสกัดสูตรผสมของกลูโคซามีนและสารคอนดรอยติน

แม้ปัญหาเรื่องเข่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็ส่งผลกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งการเดิน วิ่ง เล่นกีฬา ท่องเที่ยว และการทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมาย ดังนั้นการเสริมคอลลาเจนไทน์ทู จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมที่จะช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ รวมถึงช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

Reference:

  • Crowley DC, et al. Safety and efficacy of undenatured type II collagen in the treatment of osteoarthritis of the knee: a clinical trial. Int J Med Sci. 2009 Oct 9; 6(6): 312-21.
  • Lugo JP, Saiyed ZM, Lane NE. Efficacy and tolerability of an undenatured type II collagen supplement in modulating knee osteoarthritis symptoms: a multicenter randomized, double-blind, placebo-controlled study. Nutr J. 2016 Jan 29; 15:14.
  • Lugo JP, et al. Undenatured type II collagen (UC-II®) for joint support: a randomized, double-blind, placebo-controlled study in healthy volunteers. J Int Soc Sports Nutr. 2013 Oct 24; 10(1): 48.
  • Schauss A.G. & et al. Effect of the Novel Low Molecular Weight Hydrolyzed Chicken Sternal Cartilage Extract, BioCell Collagen, on Improving Osteoarthritis-Related Symptoms: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Trial. J. Agric. Food Chem. 2012, 60, 4096-4101.

 

*************************************

ข้อมูลโดย:  อ.กัญชลี ทิมาภรณ์ (C.D.T.) สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.