เลือด, กรุ๊ปเลือด, บริจาคเลือด, โรคเลือด

เลือด สายธารต่อชีวิต

เลือด สายธารต่อชีวิต

รู้จักของเหลวสีแดงที่ชื่อ เลือดŽ นายแพทย์วิโรจน์ จงกลวัฒนา หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์-การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า หลายคนอาจเห็นว่าเลือดเป็นเพียงของเหลวที่มีสีแดงข้น แต่ในความเป็นจริงเจ้าเลือดที่ไหลเวียนทั่วร่างกายของเราโดยกำลังสูบฉีดของหัวใจนั้น มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน ได้แก่

เม็ดเลือด

จะมีอยู่ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ของเลือดทั้งหมด ซึ่งมี 3 ชนิด คือ

เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนเพื่อให้เซลล์ต่างๆ ใช้สันดาปอาหารเป็นพลังงาน อายุการทำงานของเม็ดเลือดแดงโดยประมาณ 120 วัน หลังจากนั้นจะถูกทำลายโดยม้าม ตับ และไขกระดูก ก่อนถูกขับออกมากับของเสีย เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ

เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ปกป้องและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสารที่เป็นอันตรายอื่นๆ ซึ่งเปรียบเหมือนทหารป้องกันประเทศ เม็ดเลือดขาวมีอายุการทำงานในกระแสเลือดประมาณ 10 ชั่วโมง

เกล็ดเลือด ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวตรงจุดที่มีการฉีกขาดของเส้นเลือด มีอายุการทำงานประมาณ 5 – 10 วัน

 

เลือด, ตรวจเลือด, บริจาคเลือด, โรคเลือด

น้ำเหลืองหรือพลาสมา (Plasma)

คือส่วนที่เป็นของเหลวที่ทำให้เม็ดเลือดทั้งหลายลอยตัว มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลืองอ่อนใส มีสัดส่วนอยู่ประมาณร้อยละ 55 ของเลือดทั้งหมด มีหน้าที่ควบคุมระดับความดันและปริมาตรของเลือด ป้องกันเลือดออก และเป็นภูมิคุ้มกันโรคติดต่อที่จะเข้าสู่ร่างกาย พลาสมานี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์และส่วนที่เป็นโปรตีนประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโปรตีนที่สำคัญ ได้แก่

– แอลบูมิน สร้างจากตับ มีหน้าที่รักษาความสมดุลของน้ำในหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ

– อิมมูโนโกลบูลิน สร้างจากเม็ดเลือดขาว มีหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคติดต่อต่างๆ

แต่กว่าจะมาเป็นเม็ดเลือดได้นั้น ต้องมีอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด นั่นคือ ไขกระดูก ซึ่งโดยทั่วไปไขกระดูกจะอยู่ตามโพรงของกระดูกทุกชิ้น ได้แก่ กระดูกแขน กระดูกหน้าอก กะโหลกศีรษะ กระดูกเชิงกราน เป็นต้น และมีปริมาณมากที่กระดูกเชิงกรานกับกระดูกหน้าอก

ทั้งนี้ในร่างกายของคนเราจะมีเลือดมากน้อยก็ขึ้นกับน้ำหนักของแต่ละคน ถ้าในเด็กเล็กก็จะน้อยมาก แต่สำหรับผู้ใหญ่โดยมากมักจะมีเลือดประมาณ 4,000 – 5,000 มิลลิลิตร (ซีซี) หรือสามารถคำนวณง่ายๆ คือ น้ำหนักตัวสุทธิ x 70 = ปริมาณเลือดที่มีในร่างกายโดยประมาณ (หน่วยเป็นซีซี) เช่น ถ้าคนที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม จะมีเลือดโดยประมาณ 4 ลิตร หรือ 4,200 ซีซี

ขณะเดียวกันหากเกิดความผิดปกติของเลือดขึ้นก็อาจนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้เช่นกัน ส่วนจะมีโรคอะไรบ้างนั้น เรามาดูกันค่ะ

 

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.