ประจำเดือน

ฮอร์โมนไทรอยด์กับความผิดปกติของ ประจำเดือน

ฮอร์โมนไทรอยด์กับความผิดปกติของ ประจำเดือน โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

ว่าด้วยเรื่องของ ฮอร์โมนไทรอยด์ และ ประจำเดือน

Q : ดิฉันมีอาการผิดปกติ คือ มีถุงน้ำขนาดเล็กที่ต่อมไทรอยด์ คุณหมอจึงให้กินยาเพื่อลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ เมื่อกินยาได้สักระยะ สังเกตว่าประจำเดือนมาช้าผิดปกติ ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับยาหรือไม่ ควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้ต่อมไทรอยด์ทำงานและประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ

A : สมัยเป็นเด็กหมออาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สูงอายุในหมู่บ้านหลายคนมักมีอาการคอบวมโตดูน่ากลัวมาก ตอนนั้นยังไม่มีความรู้ด้านการแพทย์จึงคิดไปถึงเรื่องผีสาง เพราะมีนิทานเมืองเหนือเรื่องคนคอบวมโต แต่เป็นคนใจดี ปลูกกระต๊อบอยู่กลางนา พอกลางคืนมีผีมาหา ถามคำถาม แล้วเขาตอบได้ ผีเลยช่วยปลิดก้อนที่คอออกให้และให้ข้าวของเงินทอง มีคนใจร้ายได้ข่าวจึงไปปลูกกระต๊อบรอผีมาหาบ้าง ซึ่งผีก็มาหาจริง ๆ แต่เขาตอบคำถามไม่ได้เพราะมีความคิดที่ชั่วร้าย ผีจึงขว้างก้อนที่คอของคนใจดีใส่ คนใจร้ายเลยกลายเป็นคนคอบวมโตมาตั้งแต่นั้น

แต่เมื่อผู้เขียนได้เรียนแพทย์ จึงรู้ว่าต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่สร้างฮอร์โมนอยู่บริเวณด้านหน้าของกระดูกคอชิ้นที่ 5  (C5 – T1) ซึ่งเป็นช่วงต่อกับลูกกระเดือก ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมขนาดเล็กรูปผีเสื้อ โดยตัวผีเสื้ออยู่ตรงกลาง ปีกสองข้างมีขนาด 0.5 × 1.5 เซนติเมตร

ปกติเราจะคลำเจอต่อมไทรอยด์ได้หากมีอาการโตหรือบวม เวลาคลำแล้วต้องการแยกว่าเป็นก้อนโตในต่อมไทรอยด์หรือเป็นก้อนที่คอชนิดอื่น ๆ ให้ลองกลืนน้ำลาย ก้อนของต่อมไทรอยด์จะสามารถเลื่อนขึ้นลงตามการกลืนน้ำลายได้

หน้าที่ของต่อมไทรอยด์คือ ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจอุณหภูมิร่างกาย ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย น้ำหนัก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือดและอื่น ๆ อีกมากมาย

สำหรับอาการคอบวมโตที่เล่ามาเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ชนิดหนึ่งเรียกว่า คอหอยพอก

อ่านต่อหน้าที่ 2

โรคของต่อมไทรอยด์พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและที่พบบ่อยมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่

  1. โรคต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis) ค้นพบโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อ ฮาชิโมโต เป็นโรคภูมิแพ้ต่อมไทรอยด์ที่ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ อาการที่พบมากที่สุดคือ คนไข้มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ผิวแห้ง ผมบางซีด หน้าบวม ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ขี้หนาวต่อมไทรอยด์ที่คอบางคนอาจโต แต่บางคนก็ไม่โตวิธีรักษาคือ ให้ยาเพิ่มฮอร์โมนไทรอยด์
  1. โรคเกรฟส์ (Graves Disease) เป็นโรคภูมิแพ้ต่อมไทรอยด์ที่ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์สูงอาการของคนไข้ที่พบมากที่สุดคือ เหมือนคนตื่นเต้นหรือวิตกกังวล มือสั่น ใจเต้นเร็ว ตาโปน อ่อนเพลีย ประจำเดือนไม่มา ขี้ร้อน เหงื่อแตกนอนไม่หลับ ท้องเสีย คอโต วิธีรักษาคือ ให้ยาลดฮอร์โมนไทรอยด์
  1. คอหอยพอก (Goiter) เป็นโรคที่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน โรคนี้เคยเป็นปัญหาของสาธารณสุขทั่วโลก แต่อัตราการเป็นโรคลดลงเมื่อมีการรณรงค์ให้ใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหารปัจจุบันพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป บางคนมีอาการของฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ บางคนมีอาการของฮอร์โมนไทรอยด์สูงร่วมด้วย หากก้อนใหญ่มากอาจไปกดหลอดลมทำให้หายใจไม่สะดวก ไอ หอบ เสียงแหบกลืนลำบาก วิธีรักษา นอกจากให้ยาแล้วอาจจะต้องผ่าตัดหากก้อนมีขนาดใหญ่
  1. ก้อนของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Nodules) แบ่งเป็นก้อนหรือถุงน้ำ และมะเร็งต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางคนมีอาการของฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ บางคนมีอาการของฮอร์โมนไทรอยด์สูงรักษาด้วยการให้ยา แต่หากก้อนมีขนาดใหญ่หรือเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์อาจต้องผ่าตัด

ฮอร์โมนไทรอยด์เกี่ยวข้องกับประจำเดือนด้วยเหตุผล 3 ประการดังนี้

  1. โครงสร้างของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Stimulating Hormone – TSH) มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างจากรังไข่ ดังนั้นหากฮอร์โมน TSH ผิดปกติฮอร์โมนจากรังไข่ก็จะผิดปกติไปด้วย ในโรคไทรอยด์เป็นพิษ ประจำเดือนมักจะไม่มา ส่วนในโรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ประจำเดือนมักจะมากะปริบกะปรอยหรือมาไม่หยุด
  1. ฮอร์โมนไทรอยด์มีผลโดยตรงกับฟองไข่ เพราะฟองไข่มีจุดรับสัญญาณฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งไม่ว่าจะมีในปริมาณสูงหรือต่ำ มักจะทำให้มีลูกยาก เนื่องจากไข่ไม่ตก ส่วนในเพศชาย ไม่ว่าจะมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์สูงหรือต่ำ มักทำให้อสุจิไม่แข็งแรงและมีลูกยาก
ประจำเดือน
  1. เมื่อใดที่ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ จะทำให้ฮอร์โมนเพศผิดปกติจากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนเพศ (Sex HormoneBinding Globulin) และจากกระบวนการสร้างและทำลายภายในเซลล์ (Metabolic Pathway) ที่ผิดปกติไปเป็นเหตุให้…

– ผู้ที่มีปัญหามีลูกยากควรตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนไทรอยด์

– ในผู้หญิงที่มีประจำเดือนผิดปกติ เมื่อหาสาเหตุไม่ได้ควรตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ จากงานวิจัยพบว่า คนที่มีประจำเดือนผิดปกติ (DUB) พบว่า 1 ใน 3 เป็นโรคไทรอยด์

– หากเป็นโรคไทรอยด์ควรรักษาให้หายก่อนมีลูก เพราะฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของทารก หากฮอร์โมนผิดปกติอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ เจริญเติบโตช้า หรือเสียชีวิตได้

สำหรับจดหมายที่ถามเข้ามาว่า มีถุงน้ำขนาดเล็กที่ต่อมไทรอยด์ และกำลังรักษาด้วยการกินยา แต่ทำให้ประจำเดือนมาช้า เพราะยาไปลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ ควรทำอย่างไร

ข้อแนะนำ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะ ๆ หากสูงหรือต่ำ แพทย์จะได้ปรับยา เพราะฮอร์โมนไทรอยด์มีผลต่อฮอร์โมนเพศ เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ ฮอร์โมนเพศมักจะกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาปกติ

แต่ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์ปกติดีแล้ว แต่ประจำเดือนยังผิดปกติอยู่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ เพราะหากมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนที่แปรปรวน แพทย์มักจะให้ยาปรับฮอร์โมนเพศเพื่อให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ

จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 345 (16 พฤศจิกายน 2559)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ผมร่วงมาก สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์

รู้จักไทรอยด์ ตัวปัญหาก่อโรควิตกกังวล นอนไม่หลับ

รวม ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ปีใหม่นี้ ต้องผอม+สตรอง!!

น้ำประปา ปลอดภัยจริงไหม

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram : Cheewajitmedia
Facebook : นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.