อาหารออร์แกนิก

ประสบการณ์สุขภาพ อาหารออร์แกนิก วิถีชีวิตชีวจิต กำราบป่วย ของสาวนักออกแบบ

อาหารออร์แกนิก วิถีชีวิตชีวจิต

กำราบป่วย ของสาวนักออกแบบ

 

ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานเต็มเปี่ยมพร้อมดีกรีปริญญาโทด้านการออกแบบจากประเทศอิตาลี คุณณัฐวรรณ คำคล้าย ในวัย 28 ปีสามารถเติบโตในสายงานออกแบบระดับโลกได้ไม่ยาก แต่เธอกลับเลือกที่จะอยู่เมืองไทยและทำงานในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ “เพลินข้าวบ้าน” อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

แม้จะไม่มีความรู้ด้านเกษตรกรรมมาก่อน แต่การทำงานของเธอในปัจจุบันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่นับร้อยคน หันมาทำกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ร่วมกับกลุ่ม “เพลินข้าวบ้าน” ของเธอ โดยมีเฟซบุ๊กเป็นตัวเชื่อม…

เหตุใดหญิงสาวนักออกแบบอนาคตไกลจึงละโอกาสการทำงานในระดับสากล มาเป็นชาวนาที่มีความสุขเรียบง่ายและใช้ชีวิตแบบออร์แกนิกขอเชิญติดตามได้เลยค่ะ…

สนุกกับงานออกแบบจนน็อก

งาน

ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตนมักเป็นคนทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเป็นเลิศและทักษะในงาน หากรู้วิธีรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน โดยมีสุขภาพแข็งแรงเป็นต้นทุนย่อมผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ไม่ยาก แต่ในกรณีของคุณณัฐวรรณกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“ในช่วงนั้นเราแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลย วัน ๆ มีแต่ทำงานอย่างเดียว ตอนที่ยังทำงานออกแบบในออฟฟิศยอมรับว่าบ้างานมากค่ะ นั่งทำงานทั้งวันหลายครั้งต้องอยู่ดึก กินข้าวเย็นที่ออฟฟิศ จากนั้นก็หันมาทำงานต่อจนกว่าจะเสร็จ

“พอลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ยิ่งหนักเลย ตื่นมาปุ๊บก็นั่งทำงานปั๊บ เรื่องข้าวปลาอาหารนี่ไม่ได้ใส่ใจเลยค่ะ ขอแค่มีอะไรกินให้อยู่ท้องเป็นพอ ก่อนหน้านั้นมีโรคประจำตัวคือ ภูมิแพ้ แถมช่วงที่ทำงานหนัก ๆ กินข้าวและพักผ่อนไม่เป็นเวลาก็จะเป็นโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วย”

ผลจากการโหมงานหนัก ละเลยเรื่องอาหาร การพักผ่อนแถมยังขาดการออกกำลังกาย ผ่านไปเพียง 3 ปี ร่างกายของหญิงสาวก็ออกอาการประท้วงอย่างรุนแรง…

“จนอายุประมาณ 24 - 25 ปี คราวนี้ป่วยจนน็อกไปเลยค่ะลักษณะอาการคล้าย ๆ เป็นลม อย่างครั้งหนึ่งตอนที่เข้าห้องน้ำเราก็วูบไป พอรู้ตัวอีกทีก็ลงไปนอนกองบนพื้นแล้ว อันตรายมาก ๆ เมื่อวูบไปแบบนี้ถึง 3 ครั้งติดกันจึงรีบไปปรึกษาคุณหมอ

“น่าแปลกใจว่า คุณหมอแต่ละท่านวินิจฉัยโรคไม่ตรงกันเลย ท่านหนึ่งบอกว่าเป็นอาการเกี่ยวกับลิ้นหัวใจรั่ว อีกท่านบอกว่าเป็นอาการเกี่ยวกับสมองและระบบประสาททำให้นึกสะท้อนใจว่า ที่ผ่านมาเราเองก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองเหมือนกัน เลยหันมาหาข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพขนานใหญ่”

อ่านต่อหน้าที่ 2

 

ชีวิตเปลี่ยนเมื่อพบกูรูนักออกแบบสุขภาพ

ท่ามกลางวิธีดูแลสุขภาพหลากหลาย ในที่สุดคุณณัฐวรรณก็มีโอกาสได้ศึกษาแนวทางชีวจิตซึ่งเป็นกระจกสะท้อนให้เธอพบความจริงที่มองข้ามไป…

“ช่วงนั้นได้อ่านหนังสือ ‘กูแน่’ ของ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต เหมือนทำให้เราได้ย้อนกลับมาทำความรู้จักกับระบบการทำงานในร่างกายใหม่ทั้งหมด พออ่านจบก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเราถึงป่วย ขณะที่สนุกเต็มที่กับการทำงาน แต่เราไม่รู้ตัวเลยว่าได้ทำลายสุขภาพตัวเองลงไปทุกวัน

อ.สาทิส

“ปีนั้นอาจารย์สาทิสยังมีชีวิตอยู่ จึงมีโอกาสได้พบกับอาจารย์ในงาน Amarin Health, Cuisine & Beauty Festival ที่ศูนย์สิริกิติ์ จึงปรึกษาเรื่องอาการป่วยของเรา เมื่อเล่าถึงการใช้ชีวิตและอาการวูบที่เกิดขึ้นติด ๆ กัน อาจารย์บอกทันทีว่าถ้าคุณยังใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป ผมรับรองว่าคุณจะเป็นอัลไซเมอร์แน่นอน จากจุดนั้นเองที่ทำให้เรารีบปรับวิถีชีวิตโดยด่วน

“ช่วงแรกเริ่มจากการปลูกผักกินเองก่อนค่ะ พร้อมกับเปลี่ยนมากินข้าวกล้อง เพิ่มผักผลไม้ในแต่ละมื้อ ลดน้ำตาลปรับเวลาให้นอนก่อนเที่ยงคืนเป็นประจำ และใช้การทำสวนแทนการออกกำลังกาย” นักออกแบบชีวิตวิถีออร์แกนิก

เมื่อคุณณัฐวรรณหันมาฟื้นฟูสุขภาพโดยพิถีพิถันเรื่องอาหารมากขึ้น จึงเกิดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่อยากจะอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองและทำนาอินทรีย์ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากไปเข้าอบรมเรื่องการปลูกข้าวจากมูลนิธิข้าวขวัญของ อาจารย์เดชาศิริภัทร พอกลับมาก็เริ่มทดลองปลูกข้าวในกระถางทันที

ขณะที่เธอทดลองปลูกข้าวเองที่บ้าน ได้ค้นข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวของไทยไปพร้อม ๆ กัน และพบข้อมูลว่า ในอดีตชาวนาไทยสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้เหมาะสมต่อการปลูกในแต่ละพื้นที่ร่วมหมื่นสายพันธุ์ แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันองค์-ความรู้เรื่องนี้สูญหายไปเกือบหมด

สิ่งนี้กระตุ้นให้สัญชาตญาณและความคิดสร้างสรรค์สไตล์นักออกแบบของเธอทำงาน โดยลงมือเขียนโครงการ “เพลินข้าวบ้าน” ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้ความรู้เรื่องการทำนาอินทรีย์จัดจำหน่าย และทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวนากับผู้บริโภค จนชนะการประกวดได้รางวัลจาก ChangeFusion และรับทุนมาส่วนหนึ่ง ต่อมาได้พบกับผู้ประสานงานในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับกลุ่มชาวนาที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ และผลักดันจนเกิดกลุ่ม “เพลินข้าวบ้าน” ได้ในที่สุด

ข้าวกล่อง

ถึงแม้หญิงสาวคนนี้จะไม่ได้ทำงานออกแบบตกแต่งอีกแล้วแต่กลุ่ม ของเธอนับว่าเป็นผลงานออกแบบสุดสร้างสรรค์อีกชิ้นหนึ่ง ที่มีส่วนกระตุ้นให้สังคมไทยมองเห็นคุณค่าในการทำนาอินทรีย์ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนคนไทยอีกหลาย ๆ คนให้เกิดจิตสำนึกในการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนได้อีกครั้ง

สนใจร่วมกิจกรรมทำนาข้าวอินทรีย์กับกลุ่มเพลินข้าวบ้าน ติดต่อได้ที่ กิจการเพื่อสังคม เพลินข้าวบ้านเลขที่ 56/35 หมู่ 6 ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทรศัพท์ 08-9502-5353

อีเมล: ploenkhaobaan@gmail.com

เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/ploenkhaobaan

เว็บไซต์: http://www.ploenkhaobaan.com

จากคอลัมน์ Save Our Life, Save Our Earth นิตยสารชีวจิต ฉบับ 372 (16 มกราคม 2553)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ประสบการณ์สุขภาพ น้ำอาร์ซี ชีวจิต สู้อาการแพ้เคมีบำบัด เยียวยามะเร็ง

ประสบการณ์สุขภาพ ไม่มีชีวจิต ไม่มีชีวิตสุขภาพ หายขาดจาก ไตวาย

ประสบการณ์สุขภาพ หักดิบชีวิต ใช้ชีวจิตสู้ มะเร็งลำไส้ หายขาด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.