ระบบขับถ่ายไม่ดี, ระบบขับถ่าย, ระบบขับถ่ายผิดปกติ, ทวารหนักผิดปกติ, ดูแลทวารหนัก

สัญญาณเตือน ระบบขับถ่าย ไม่เวิร์ค ก่อโรคชัวร์

สัญญาณเตือน ระบบขับถ่าย ไม่เวิร์ค ก่อโรคชัวร์

เมื่อพูดถึง ระบบขับถ่าย นอกเหนือจาก โรคริดสีดวงทวารหนัก ที่ใครหลายคนเคยเป็นและรับรู้ถึงความทรมานเป็นอย่างดีแล้ว คุณทราบไหมครับว่า ยังมีโรคอีกมากมายที่เกิดขึ้นได้บริเวณทวารหนัก ที่เราเรียกกันว่า กลุ่มอาการทวารหนักผิดปกติ ซึ่งหากปล่อยปละละเลย ไม่รีบรักษา อาจมีผลเสียต่อร่างกายตามมาได้

ทวารหนักผิดปกติ เพราะอะไร

ทวารหนัก เป็นอวัยวะส่วนสุดท้ายของลำไส้ ภายในประกอบด้วยกล้ามเนื้อหูรูดสองชนิด คือ กล้ามเนื้อหูรูดภายใน (Internal Sphincter) ซึ่งถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของจิตใจและกล้ามเนื้อหูรูดภายนอก (External Sphincter) ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับของจิตใจ และมีหน้าที่สำคัญคือควบคุมการเปิด – ปิดของทวารหนักในขณะที่ร่างกายขับถ่ายของเสีย

แม้ทวารหนักจะถือว่าเป็นอวัยวะสำคัญของระบบขับถ่ายที่ทำงานหนัก แต่เชื่อไหมครับว่า อวัยวะส่วนนี้ถูกพูดถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ

นายแพทย์เจริญ เดโชธนวัฒน์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปโรงพยาบาลหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวถึงอาการทวารหนักทำงานผิดปกติไว้ว่า เกิดจากการที่ร่างกายของเราได้รับเชื้อโรคบางชนิดเข้าไปในระบบขับถ่าย ได้รับอุบัติเหตุจนระบบขับถ่ายกระทบกระเทือน มีพยาธิในลำไส้ใหญ่ หรือเกิดจากการรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ทวารหนักไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

เราสามารถจำแนกความผิดปกติของทวารหนักได้ตามอาการดังนี้ครับ

 

1. แผลปริที่ขอบทวารหนัก (anal fissures)

สาเหตุและอาการ

เกิดจากอาการท้องผูกเรื้อรังจนทำให้มีอุจจาระที่แข็งมากไปเบียดเยื่อบุขอบทวารหนักจนเกิดเป็นแผลอักเสบ ในการขับถ่ายแต่ละครั้ง เมื่อกล้ามเนื้อหูรูดหดตัวเพื่อขับอุจจาระออกมาจะยิ่งดึงให้รอยปรินั้นแยกออกมากขึ้น และทำให้เจ็บมากเวลาก่อนและหลังการถ่ายอุจจาระ ในรายที่เป็นมากอาจมีเลือดออกมาด้วย

 

2. ฝีคัณฑสูตร (anorectal abscesses)

สาเหตุและอาการ

ร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเข้าไป ทำให้เกิดฝีเม็ดใหญ่ข้างในเป็นหนองขึ้นที่บริเวณขอบทวารหนัก หรือฝีรอบขอบทวารหนัก ทำให้รู้สึกเจ็บเวลานั่งและขับถ่าย

 

3. แผลชอนทะลุ (anorectal fistulas)

สาเหตุและอาการ

เกิดจากอาการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาถึงทวารหนัก ทำให้ช่องเปิด – ปิดระหว่างลำไส้ใหญ่ส่วนปลายกับผิวหนังรอบๆ ผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณทวารหนักเป็นอย่างมากเวลาขับถ่าย

 

4. คันทวารหนักเรื้อรัง(pruritus ani)

สาเหตุและอาการ

เกิดจากมีพยาธิเข็มหมุด หรือพยาธิเส้นด้าย อาศัยอยู่ในบริเวณทวารหนักหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าหรือจุดซ่อนเร้นรุนแรงเกินไป การสวมเสื้อผ้าเนื้อหยาบ การรักษาความสะอาดที่บริเวณทวารหนักไม่ดีพอ ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันเรื้อรังบริเวณขอบทวารหนัก หากเกาก็จะยิ่งทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นอักเสบและระคายเคืองมากขึ้น

การรักษา

ในกรณีของผู้ที่เพิ่งมีอาการทวารหนักผิดปกติยังไม่ต้องกังวลใจไปนะครับ เพราะในระยะแรกนี้คุณไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ เพียงแค่ใส่ใจในการดูแลความสะอาดบริเวณที่เป็นมากขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงที่จะทำให้โรคกำเริบหนัก เช่นการนั่งนานๆ การกลั้นอุจจาระและปัสสาวะเป็นเวลานานๆ เพียงเท่านี้อาการของคุณจะดีขึ้นตามลำดับครับ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทวารหนักผิดปกติในระยะอันตราย หากไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการปัจจุบันแพทย์จะมีวิธีในการรักษาทางเดียว คือการผ่าตัด โดยจะรักษาลักษณะของอาการที่แสดงออก เช่น หากพบว่าเป็นฝีคัณฑสูตรที่ทวารหนักขนาดใหญ่มาก แพทย์จะใช้วิธีกรีดที่บริเวณแผลเพื่อระบายหนองออก และให้ยาปฏิชีวนะที่โพรงหนองเพื่อลดอาการเจ็บ

หรือในกรณีที่เป็นแผลชอนทะลุ หรือแผลปริที่ขอบทวารหนักก็เช่นเดียวกัน แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเปิดแผลออกเพื่อรักษาแผล ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยการกินยาได้แล้ว

ดูแลทวารหนักอย่างไรให้ไกลโรค

สำหรับผู้ที่มีอาการทวารหนักผิดปกติอยู่เรามีข้อแนะนำสำหรับคุณดังนี้ครับ

ดื่มน้ำ, ระบบขับถ่าย, ระบบขับถ่ายผิดปกติ, ทวารหนักผิดปกติ, ดูแลทวารหนัก
ดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะยิ่งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ โดยเฉพาะคนที่มีแผลปริที่ขอบทวารหนัก ฝีคัณฑสูตรแผลชอนทะลุ เพราะยิ่งเบ่งจะยิ่งทำให้คุณเจ็บปวดมากขึ้น
  • กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพราะอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยจะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้อุจจาระนิ่ม ส่งผลให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  • ออกกำลังกายและดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะยิ่งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผิวพรรณสดใส และทำให้แผลบริเวณที่เป็นแห้งเร็วขึ้นอีกด้วย
  • รักษาความสะอาด ก่อนและหลังถ่ายอุจจาระและปัสสาวะควรล้างมือด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคเพิ่มขึ้น และไม่ควรเกา เพราะยิ่งจะทำให้บาดแผลบริเวณนั้นเกิดการอักเสบและระคายเคือง
  • ในรายที่มีอาการคันบริเวณทวารหนัก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จำพวกทำความสะอาดในร่มผ้า เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ หรือผงซักฟอกที่มีสารเคมีรุนแรงและมีกลิ่นฉุน เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองได้

 

คอลัมน์โรคภัยใกล้ตัว นิตยสารชีวจิต ฉบับ 202


บทความน่าสนใจอื่นๆ

บริหารลำไส้ กระตุ้นระบบขับถ่าย

สมุนไพรเพิ่มกากใย ถ่ายคล่อง ป้องกันมะเร็งลำไส้

ท่าโยคะแก้ท้องผูก

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.