กินเค็ม

เทคนิค กินเค็ม ทำอย่างไรไตไม่พัง

เทคนิค กินเค็ม ทำอย่างไรไตไม่พัง

กินเค็ม ปัญหาร้ายทำลายสุขภาพ สมาคมโรคหัวใจ ประเทศสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจจากทั่วโลก เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า เกลือเป็นวายร้ายทำลายหัวใจ ข้อมูลจาก 50 ประเทศ ทำให้ทีมวิจัยทราบว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายและเส้นเลือดหัวใจตีบ 15 เปอร์เซ็นต์มีสาเหตุจากการกินเกลือมากเกินไป

โดยประเทศที่ประชากรกินเกลือมาก และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 1 และ 2 คือ ประเทศยูเครนและรัสเซียตามลำดับ ส่วนประเทศที่กินเกลือน้อยและมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจต่ำ คือ ประเทศกาตาร์และเคนยา ทั้งนี้พบว่า ประเทศ ในแถบตะวันตกกินเกลือปริมาณมาก เฉลี่ยวันละ 10 – 12 กรัม โดยส่วนใหญ่เป็นเกลือที่แฝงมากับอาหารแปรรูปและเครื่องปรุงรส

สมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่า การกินอาหารรสเค็มเป็นประจำมีผลให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ทั้งเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังทำลายไตอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ผลการวิจัยจาก The British Journal of Cancer ศึกษาในชายและหญิงชาวญี่ปุ่นวัยกลางคน จำนวน 40,000 คน โดยติดตามพฤติกรรมการกินรสเค็มนาน 11 ปี พบว่า ผู้ที่กินเกลือเฉลี่ยวันละ 12 – 15 กรัม มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ฉลาดกินเค็ม ร่างกายแข็งแรง

กินเค็ม

เครื่องปรุงรสหลากชนิดล้วนมีโซเดียมหรือที่หลายคน เรียกว่าเกลือเป็นส่วนประกอบ ในความเป็นจริง โซเดียมเป็นส่วนประกอบของเกลือและเราพิจารณาความเค็มที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากปริมาณโซเดียมในอาหาร ไม่ใช่ปริมาณเกลือ

เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ข้อกำหนดปริมาณสารอาหารที่ แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป คือควรกินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม ฉะนั้น ทางที่ดีคือ พยายามลดการกินโซเดียมลง โดย สร้างนิสัยชิมก่อนปรุง ไม่กระหน่ำเติมเครื่องปรุงรสตามความเคยชิน ค่อยๆลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหารลงทีละน้อย ช่วงแรกอาจรู้สึกว่าอาหารมีรสอ่อน ไม่คุ้นลิ้น แต่ไม่นานลิ้น ของเราจะปรับตัวเข้ากับอาหารที่มีรสจืดลงและสัมผัสถึงรสอร่อย จากอาหารอย่างแท้จริง ทั้งเน้นกินอาหารปรุงสุก สดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด

อาหารชีวจิต อร่อยรสธรรมชาติ

กิน

ข้อเขียนของ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ในหนังสืออาหารชีวจิต ตำรับดร.สาทิส– ฉินโฉม อินทรกำแหง สำนักพิมพ์อมรินทร์ CUISINE ทำให้เข้าใจว่า อาหารชีวจิตไม่ต้องการรสจัด เพราะความอร่อยไม่ได้มาจากการใส่เครื่องปรุง แต่มาจากความสดใหม่ของวัตถุดิบ มาจากรสชาติที่แท้จริงของอาหาร รวมถึงความรักและความปรารถนาดีของผู้ปรุง

อาจารย์สาทิสแนะให้ลองเคี้ยวข้าวเปล่า เคี้ยวช้าๆ จดจ่อกับรสชาติ ครู่เดียวก็จะรู้สึกถึงความหวาน ทั้งแนะวิธีกินผักสดให้อร่อย โดยกินผักที่ปลูกเอง ยิ่งผักสดมาก ยิ่งมีรสชาติดี ทั้งกรอบทั้งหวาน หรือหากจะทำผักสุก ให้กรอบ เช่น บรอกโคลี ก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยลวกบรอกโคลีในน้ำเดือดแล้วแช่ในน้ำเย็น จากนั้นนำไปผัด บรอกโคลีจะกรอบ แถมมีสีเขียวสดใสน่ากิน

นอกจากนี้พืชผักหลายชนิดยังมีกลิ่นรสเฉพาะตัว ที่ช่วยเพิ่มความอร่อยให้อาหารได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้ง กระเทียมเจียว หอมเล็กเจียว ต้นหอม รากผักชี ขิง หากใครพิถีพิถันกับการทำอาหารสักหน่อย รับรองว่า ใส่เครื่องปรุงรสเพียงเล็กน้อยก็สามารถเนรมิตอาหารอร่อย ได้ง่ายๆ

รู้วิธีกินและใช้เครื่องปรุงรสอย่างชาญฉลาด เท่านี้ก็ช่วยให้เราไม่ทำร้ายไตโดยไม่ได้ตั้งใจแล้วค่ะ

(สนับสนุนข้อมูล : คอลัมน์ชีวจิต+ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 366)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

เค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวาน กินไม่พอดีมีโทษ

รู้ทัน โรคความดันโลหิตสูง

“เกลือหิมาลายัน” มหัศจรรย์เกลือสีชมพู มีดีมากกว่าความเค็ม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.